Work ไร้ Balance : ฮาวทู ที่ทำได้แค่บรรเทาสภาพบอบช้ำทางจิตใจจาก การทำงาน 

Work ไร้ Balance : ฮาวทู ที่ทำได้แค่บรรเทาสภาพบอบช้ำทางจิตใจจาก การทำงาน 

ลองนึกภาพตาม หากเป็นตัวเราเองที่ต้องอยู่ในสถานการณ์การทำงานโดยไม่ได้หยุดพัก ไม่ได้มีวันหยุด เอาแต่คิดถึงเนื้องานสร้างยอดเอนเกจเมนต์เพื่อตอบโจทย์นายจ้าง สร้างคอนเทนต์ให้มีไวรัล นั่งทำงานติดต่อกันนานหลายสิบชั่วโมง หรืออาจจะตื่นเช้าทุกวันก้มหน้าก้มตาหาเงินนอนดึกร่างกายไม่ได้พัก แต่ก็เผลอแอบงีบหลับช่วงหนึ่งเพื่อจะมาทำงานต่อ กลับพบว่าไม่ได้มีชีวิตอยู่แล้ว เราจะทำอะไรเป็นอันดับแรก

คงปฏิเสธความจริงอันโหดร้ายนี้ไม่ได้ ว่าโรคระบาดทำให้ทุกคนเริ่มใช้ห้องนอนเป็นที่ทำงาน ใช้ห้องทำงานเป็นที่นอน ถูกไหลรวมเข้าหากันอย่างแยกลำบาก และไหนจะเรื่องของค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายยิบย่อยรายทาง 

สิ่งที่สะท้อนอย่างแจ่มชัดคือ โครงสร้างทางสังคมที่ไม่อาจแก้ขาด กับเศรษฐกิจในประเทศอย่างลุ่มๆ ดอนๆ และไหนจะระดับโลกที่คาดการณ์ไว้ว่าปี 2566 นี้คือยุคเศรษฐกิจถดถอย จำให้กลุ่มทำงานที่เป็นมนุษย์เงินเดือน ลูกจ้างรายวันต้องตรากตรำคลำหาหนทางสร้างรายได้ของตัวเองมากขึ้น

ถึงแม้จะมีฮาวทูมากมายเกี่ยวกับ Work-life Balance ว่าต้องทำงานอย่างไรให้มีเวลาพัก เช่น พักเหนื่อยจากการทำงานด้วยการไปคาเฟ่ หากิจกรรมเบาสมองที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน วันหยุดพักผ่อนห้ามพูดถึงงาน มันก็เป็นเพียงการบรรเทาสภาพบอบช้ำทางจิตใจเท่านั้น

หากย้อนกลับไปที่ตัวกฎหมาย กระทรวงแรงงานได้กำหนดไว้ว่า การทำงานไม่ควรเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และควรมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน หรือเป็นไปตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันไว้ 

แต่ในสังคมไทยหลายสิ่งไม่เป็นตามกฎหมาย คนทำงานยังถูกกดขี่จากนายจ้าง ทำงานเกินความรับผิดชอบ หรือทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติม แบกรับความกดดันจากคำพูดที่ไม่เหมาะสม เป็นการสั่งสมความบอบช้ำทางใจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คนทำงานเริ่มเกิด “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” หรือ Burnout Syndrome โดยมีลักษณะเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดพลัง ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง สูญเสียประสิทธิภาพการทำงาน และมองในแง่ลบต่องานที่กำลังทำอยู่

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคนทำงาน ในภาวะสังคมการทำงานเป็นพิษ ดังนั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะส่งผลต่อสภาพจิตใจและร่างกายของเราได้เช่นกัน

สิ่งสำคัญในการหลีกเลี่ยงการเข้าสู่สถานการณ์การทำงานที่มากเกินไป เพื่อปรับ Work และ Life ไม่ให้ไร้ Balance มีอยู่หลายวิธี แต่เห็นที่สำคัญต่อคนในสังคมยุคนี้ คือ

1. ใส่ใจตัวเองให้มากขึ้น เพื่อแบ่งเวลาในการดูแลสุขภาพกายและใจ

2. แบ่งเวลาชีวิตระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว โดยการไม่นำงานกลับมาทำที่บ้าน ให้เวลาตรงหน้ากับสิ่งที่ควรทำ พักผ่อนจิตใจและร่างกาย

3. ต่อรองเมื่อมีคนขอความช่วยเหลือ และกล้าปฏิเสธบางเรื่องจากหัวหน้างาน ที่เนื้องานทุกอย่างอยู่นอกเหนือการทำงาน แต่หากจำเป็นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรมีข้อแลกเปลี่ยนด้านการพัก หรือหยุด มาทดแทนเวลาที่เสียไป

สุดท้าย ทั้งหมดเป็นเพียงพื้นที่บรรเทาสภาพจิตใจที่บอบช้ำจากการถูกกดขี่ของการทำงาน โดยวิธีที่ดีที่สุดของการหลุดพ้นของวงจรนี้คือ ระบบโครงสร้างของสังคม และวัฒนธรรมการทำงานที่ให้เกียรติมนุษย์สามัญอย่างเท่าเทียม

ที่มา

ประชาชาติธุรกิจ

กระทรวงแรงงาน

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

โรงพยาบาลกรุงเทพ