องค์การอนามัยโลกเผยผลศึกษา คนอาเซียนมีเชื้ออีโคไลดื้อยา

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล ศาสตราจารย์สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวในเวทีประชุมนานาชาติเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีโอฮุน) ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในงานประชุมนานาชาติเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2560 ว่า องค์การอนามัยโลกได้ทำการศึกษาเรื่องการป้องกันและควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพของประชากรทั่วโลก พบว่าประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีภาวะปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียอีโคไลดื้อยาในร่างกายสูงที่สุดในโลกถึงร้อยละ 70 ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีในลำไส้ของมนุษย์ ทำให้ท้องเสียแต่ไม่รุนแรง เพราะปกติร่างกายคนเราจะมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว แต่การพบเชื้อดื้อยาตรงนี้สะท้อนถึงการปนเปื้อนในดิน น้ำและอากาศ และกำลังส่งผลกระทบกับผลิตผลเกษตร การเกษตร และปศุสัตว์ และก่อให้เกิดปัญหาภาวะสุขภาพของทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะการเข้าถึงยาปฏิชีวนะง่ายและใช้ไม่สมเหตุผล

นพ.วิษณุกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบว่าในทวีปยุโรปมีการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียอีโคไล และซาโมเนลลา ทำให้มีคนเสียชีวิตและมีคนติดเชื้อหลายพันราย และยังหาข้อสรุปต้นตอของเชื้อดังกล่าวไม่ได้ ยาปฏิชีวนะตัวสำคัญ อย่างไซโปรฟลอก ซาซิน ก็เริ่มใช้ไม่ได้ผล ทำให้วงการแพทย์วิตกกังวล

 

ที่มา มติชนออนไลน์