6 สิ่งที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับโรคเกาต์

เรื่องโดย : นายแพทย์กิตติ โตเต็มโชคชัยการ

มีผู้เป็นโรคเกาต์จำนวนมาก ยังใช้ชีวิตแบบปกติ หรือเรียกว่าไม่ดูแลตัวเอง และสุดท้ายโรคนี้ก็ไม่หาย แถมยังกำเริบหนักขึ้น นายแพทย์กิตติ โตเต็มโชคชัยการ มี 6 สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคเกาต์มาบอก รู้ไว้….จะได้เท่าทันโรค

ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคเกาต์มากขึ้น เนื่องจากลักษณะการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งคนไทยยังมีอายุยืนขึ้น จำนวนผู้สูงอายุจึงเพิ่มขึ้น ซึ่งโรคเกาต์เป็นโรคที่เกิดกับผู้ค่อนข้างมีอายุ 

ปัจจุบัน โรคเกาต์เป็นโรคที่สนใจในวงการแพทย์ เป็นโรคที่ยังมีการศึกษาวิจัยอย่างลึกซึ้ง ทั้งในแง่ของการเกิดโรค การดำเนินโรค การวินิจฉัยโรค รวมไปถึงการค้นคว้ายาใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้รักษาโรคเกาต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดังนั้น จึงอาจมีสิ่งที่คุณยังไม่รู้เกี่ยวกับโรคเกาต์อยู่ไม่น้อย ดังนี้

1. การดื่มน้ำผลไม้หรือรับประทานผลไม้มาก อาจทำให้เป็นโรคเกาต์หรือโรคเกาต์กำเริบขึ้นได้ 

เนื่องจากน้ำตาลจากผลไม้คือน้ำตาลฟรักโทส (fructose) เป็นสารต้นกำเนิดอย่างหนึ่งในกระบวนการสร้างกรดยูริก (uric acid) ที่เป็นสารที่เกิดขึ้นในร่างกาย หรือได้รับมาจากภายนอก ซึ่งถ้ามีกรดยูริกในร่างกายมากๆ เป็นระยะเวลานาน จะทำให้มีการสะสมตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะในข้อ ทำให้เกิดโรคเกาต์ได้

2. ผู้ที่เป็นโรคเกาต์จะมีภาวะไตทำงานน้อยลงหรือไตเสื่อมร่วมด้วย 

เนื่องจากกรดยูริกในร่างกายจะถูกขับออกจากร่างกายทางไตเป็นส่วนใหญ่ ในขณะเดียวกัน กรดยูริกที่มีปริมาณสูงในเลือดจะไปจับที่เนื้อไตทำให้ไตทำงานได้น้อยลง ผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดสูงเป็นเวลานาน ไตจะทำงานน้อยลง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไข จะนำไปสู่ภาวะไตเสื่อม หรือไตวายได้ 

มีการศึกษาในชายไทยสูงอายุที่มีภาวะไตวายจนต้องได้รับการรักษาด้วยการฟอกไต พบว่า มากกว่าร้อยละ 60 มีสาเหตุมาจากการเป็นโรคเกาต์ ในขณะที่ถ้าเป็นผู้หญิงส่วนมากจะเกิดจากโรคเบาหวาน 

ดังนั้น เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกาต์ ส่วนมากผู้ป่วยจะถูกพบว่ามีภาวะไตเสื่อม หรือไตทำงานน้อยลงร่วมด้วย ซึ่งต้องได้รับการรักษาไปพร้อมๆ กัน ก่อนที่จะมีไตวายจนต้องได้รับการรักษาด้วยการฟอกไต

3. โรคเกาต์มักจะมาพร้อมกับภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจหรือโรคอัมพาต

มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า กรดยูริกในเลือดที่สูงจะเพิ่มความดันโลหิตได้สูงกว่าการเพิ่มเกลือในเลือด จึงไม่แปลกใจที่ผู้ป่วยเป็นโรคเกาต์มักมีความดันโลหิตสูงด้วย และอย่างที่ทราบกันดี ผู้เป็นโรคเกาต์มักจะเป็นผู้รับประทานอาหารมากหรืออาหารแพงๆ ที่มีไขมันสูง ทำให้ภาวะไขมันในเลือดสูงด้วย การมีภาวะความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง นำไปสู่โรคหัวใจและโรคอัมพาตได้ในที่สุด

4. การมีกรดยูริกในเลือดสูง ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคเกาต์

ผู้ชายที่มีอายุมากขึ้น จะเริ่มมีระดับกรดยูริกในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเกินระดับปกติคือ 6-7 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิตร   การมีระดับกรดยูริกในเลือดสูง โดยไม่มีอาการปวดข้อ ถือว่ายังไม่เป็นโรคเกาต์ เป็นแต่มีภาวะกรดยูริกในเลือดสูง  (hyperuricemia) ซึ่งถ้าปล่อยไว้โดยไม่แก้ไข ลดระดับกรดยูริกลงมาเป็นปกติ เป็นเวลานานหลายปี ในที่สุดจะเกิดข้ออักเสบจากการมีกรดยูริกไปสะสมในข้อ เมื่อนั้นจะเรียกว่าเป็นโรคเกาต์

5. ผู้ป่วยโรคเกาต์ ส่วนมากจะเป็นผู้ชาย

ผู้ป่วยโรคเกาต์ส่วนมากจะเป็นผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 45-50 ปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีภาวะกรดยูริกสูงในเลือดมาประมาณ 10 ปี โดยจะทราบหรือไม่ทราบมาก่อนเลยก็ได้ ส่วนในผู้หญิงมีโอกาสน้อยมากที่จะเป็นโรคเกาต์ เพราะผู้หญิงในระหว่างที่ยังมีประจำเดือน ระดับกรดยูริกในเลือดจะต่ำ เนื่องจากผลของฮอร์โมนเพศหญิง ระดับกรดยูริกในผู้หญิงจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นหลังหมดประจำเดือนไปและจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนใกล้เคียงกับผู้ชายเมื่อมีอายุเกือบ 60 ปี    ดังนั้น ถ้าผู้หญิงจะเป็นโรคเกาต์ได้ อาจต้องมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

6. การรักษาโรคเกาต์ ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง

ผู้ป่วยโรคเกาต์หลายรายที่พอมีอาการปวดข้อ ปวดมาก ปวดจนเดินไม่ได้ ก็ไปรับการรักษา ทานยารักษาโรคเกาต์ชนิดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นยาคอลไซซิน (Colchicine) ยาแก้ปวด วันสองวันก็หาย แล้วไม่ได้ไปรับการรักษาต่อเนื่อง หยุดรับประทานยา จนเกิดมีอาการข้ออักเสบใหม่ก็ไปรับการรักษาใหม่ เป็นๆ หายๆ อยู่อย่างนี้ เป็นเวลาหลายปี จนหลังๆ ทานยาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน บางทีก็ไม่ค่อยหายปวด เนื่องจากกลายเป็นโรคเกาต์เรื้อรัง

ที่ถูกต้องแล้วหลังจากที่รักษาอาการข้ออักเสบจากโรคเกาต์เฉียบพลันแล้ว ต้องไปรับการติดตามการรักษา ไปรับการตรวจเลือดดูระดับกรดยูริกในเลือด ดูการทำงานของไต แล้วถ้ามีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเกินระดับปกติก็จำเป็นต้องได้รับยาลดกรดยูริก รวมไปถึงยาที่จะทำให้ไตทำงานดีขึ้น มารับประทานต่อเนื่องทุกวัน จนไปรับการติดตามการรักษาอีกครั้ง ไปรับการตรวจดูระดับกรดยูริกและการทำงานของไตว่ากลับมาเป็นปกติหรือยัง ถ้าดีขึ้นมากแพทย์อาจปรับขนาดยาให้เหมาะสม

ทั้งนี้เพื่อรักษาระดับกรดยูริกในเลือดให้น้อยกว่า 6 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิตร เพื่อทำให้โอกาสที่จะมีโรคเกาต์กำเริบอีกน้อยมาก เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเกาต์ เช่น ไตเสื่อม ไตวาย ความดันโลหิตสูง  โรคหัวใจ โรคอัมพาต ไม่ให้เกิดขึ้น ส่วนจะต้องรับประทานยาไปนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงอาหารและพฤติกรรมการรับประทานอาหาร สามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานน้ำได้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงความเครียดทางร่างกายและจิตใจได้ดีเพียงใด โดยมีเป้าหมายที่จะควบคุมให้ระดับกรดยูริกในเลือดให้ต่ำกว่า 6 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิตร ด้วยการรับประทานยาหรือไม่ต้องรับประทานยาก็ได้