โรคเปลี่ยนแปลง จากคนเปลี่ยนไป

เรื่องโดย : นายแพทย์กิตติ โตเต็มโชคชัยการ

ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ คนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยในเมืองใหญ่ มีการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไปจากคนสมัยก่อน พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ทำให้ลักษณะของความเจ็บป่วยของคนไทยเปลี่ยนตามไปด้วย โรคที่เปลี่ยนแปลงไปหลายโรคเป็นปัญหาเรื้อรังทางสุขภาพ เป็นภัยเงียบที่สามารถคร่าชีวิตของคนไทยจำนวนมาก เป็นโรคร้ายที่เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากรไทยที่เพิ่มขึ้น และตามระยะเวลาที่ดำเนินไป ถึงแม้ว่าโรคเหล่านี้จะเป็นที่รู้จักดี หลายโรครักษาได้ แต่ก็ไม่ควรประมาท ปล่อยให้กลายเป็นปัญหาลุกลาม เพราะการป้องกันไม่ให้โรคเกิดขึ้น น่าจะดีกว่าการตามรักษาในภายหลัง เรียกได้ว่า “โรคเปลี่ยนแปลง จากคนเปลี่ยนไป ถ้าคนแก้ไข ก็ไม่เกิดโรค” แต่ก่อนที่จะแก้ไข เราต้องรู้ก่อนว่าโรคที่เปลี่ยนแปลงไปมีอะไรบ้าง

  1. โรคมะเร็ง จากสถิติจำนวนคนไทยที่เป็นโรคมะเร็ง เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 70,000 คน ต่อปี และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ โรคมะเร็งครองแชมป์เป็นโรคที่มีคนเป็นมากที่สุดอันดับ 1 ติดต่อกันมา 5 ปีแล้ว มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณปีละ 50,000 คน โดยอันดับ 1 คือ มะเร็งตับ รองลงมาคือ มะเร็งลำไส้ใหญ่และปอด ซึ่งโรคเหล่านี้ล้วนเพิ่มขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวันของคนยุคปัจจุบันที่มีความเครียดเพิ่มขึ้น มีเวลาพักผ่อนน้อย ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ ทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ใช้สารเคมีหรือยาอื่นมากเกินไป
  2. โรคหลอดเลือดหัวใจ ด้วยลักษณะการทานอาหารที่มีไขมันสูง มีการออกกำลังกายน้อย สูบบุหรี่ คร่ำเคร่งอยู่กับงานตลอดทั้งวัน หรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือเป็นโรคเบาหวาน ทำให้ไขมันไปเกาะสะสมตามผนังของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง หรือบางครั้งเกิดการอักเสบ มีเม็ดเลือดขาวมากระจุกในเส้นเลือด ทำให้อุดตันทางเดินเลือด เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนตายจากการขาดเลือด ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติหรือหยุดเต้นเฉียบพลัน ทำให้เสียชีวิต

ถ้าไม่อยากเป็นโรคนี้ ก็ควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารไขมันต่ำ ผักและผลไม้ และมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

  1. โรคความดันโลหิตสูง คนปกติจะมีความดันโลหิตอยู่ที่ 90-119/60-79 มิลลิเมตรปรอท ถ้ามีความดันโลหิตมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ามีความดันโลหิตสูง ถ้ามีอาการมึนศีรษะ วิงเวียนศีรษะ เจ็บหน้าอก ใจสั่น เหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์เพราะอาการเหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับโรคความดันโลหิตสูง ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรจำกัดอาหารเค็ม รวมถึงอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ไขมัน ควรพยายามลดความเครียดลง พยายามนอนหลับให้สนิท นอนหลับเป็นระยะเวลานานพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง เลิกสูบบุหรี่และดื่มสุรา หาโอกาสออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
  2. โรคทางระบบประสาทและจิตเวช การใช้ชีวิตในปัจจุบันที่ต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอด การทำงานภายใต้ความกดดัน ทำให้มีความเครียดเกิดขึ้นค่อนข้างมาก มากจนทำให้มีผู้ที่มีปัญหาทางระบบประสาทและระบบจิตเวช มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ยังรวมถึงผู้ที่มีพฤติกรรมหรือความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปจากการทานยา เช่น ยานอนหลับ ยาระงับประสาท ยาลดความอ้วน

โดยทั่วไปคนที่เป็นโรคประเภทนี้จะมีพฤติกรรมที่เหมือนคนปกติ ทำให้แยกไม่ออกว่าใครเป็นบ้าง แต่อาจทำอะไรที่ร้ายแรงขึ้นเมื่อเกิดการกดดัน หรือมีความเครียดมากๆ ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับคนปกติได้ แต่อาจจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยคนในบ้าน พยายามลดความเครียดโดยการพูดคุย ปรับทุกข์กับคนใกล้ชิด ถ้ารู้สึกกดดันให้เอาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้นโดยทันที

  1. โรคระบบกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น กิจกรรมในชีวิตประจำวันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ การก้มดูโทรศัพท์มือถือ การเล่นกีฬา จะทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า ไหล่ หลัง อาการปวดจะรุนแรงในเมื่อถูกกระตุ้นหรือใช้งานกล้ามเนื้อ ประกอบกับมีการพักผ่อน นอนหลับไม่เพียงพอ นอนดึก นอนหลับไม่สนิทต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายวันหรือเป็นสัปดาห์ ถ้ามีอาการหนักขึ้นจะมีโรคซึมเศร้า วิตกกังวล อ่อนเพลียร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจมีอาการบวมตามข้อมือ ข้อเท้า ปวดศีรษะมากตอนเช้า ปัสสาวะบ่อย ปวดท้องเรื้อรัง ท้องร่วงท้องเสียบ่อย

การแก้ไขสามารถทำได้โดยพยายามลดการจ้องจอคอมพิวเตอร์ลง มีเวลาพักมากขึ้น ลดการเล่นโทรศัพท์มือถือ   ลดความเครียดจากการทำงานลง นอนหลับให้ตรงเวลา ไม่นอนดึก ออกกำลังกายเพื่อบริหารจุดที่ปวด เช่น เล่นโยคะ เป็นต้น

  1. โรคภูมิแพ้ ในปัจจุบันมีคนเป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นมาก และสูงมากขึ้นทุกปี คุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ที่มีมลพิษเพิ่มมากขึ้น การใช้ชีวิตที่ขาดการพักผ่อน การออกกำลังกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันเกิดการเปลี่ยนแปลงไวต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้เกิดอาการคัดจมูก มีน้ำมูก หลอดลมตีบ มีผื่นขึ้นคันตามร่างกาย ปวดท้อง ขับถ่ายผิดปกติ

แนวทางในการดูแลตัวเองทำได้โดยการนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ทานอาหารที่สดใหม่ สะอาด ที่นอน  หมอน ผ้าห่มต้องซักให้สะอาดอยู่ตลอด หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น อาหารทะเล นมวัว ขนมปังบางชนิด เป็นต้น

  1. โรคอ้วน จากการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า คนที่มีน้ำหนักเกินมีมากกว่าร้อยละ 50 ของประชากรโลก สำหรับคนไทย เป็นโรคอ้วนง่าย เพราะด้วยการบริโภคอาหารที่ง่ายขึ้น การทำงานหรือใช้ชีวิตแบบคนสมัยใหม่ที่ต้องทำงานตลอดเวลา ไม่มีเวลาให้การออกกำลังกาย โรคอ้วนยังเป็นสาเหตุเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอัมพาต โรคหยุดหายใจเฉียบพลันขณะนอน (sleep apnea) เป็นต้น

เมื่อมีน้ำหนักที่เกินกว่ามาตรฐานค่อนข้างมาก ลำตัวเริ่มหนา รอบเอวเพิ่มขึ้นมาก ควรเริ่มลดน้ำหนักอย่างจริงจัง  ก่อนที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนที่อันตราย ควรลดน้ำหนักให้ได้ร้อยละ 10 ภายใน 6 เดือน ไม่ควรหักโหม การลดน้ำหนักขนาดนี้ถือว่าเหมาะสม ที่สำคัญคือการดูแลอาหารที่ทานให้เป็นอาหารไขมันต่ำ เพิ่มผักและผลไม้ ลดการใช้ชีวิตแบบคนสมัยใหม่ ลดความเครียด ใช้ชีวิตแบบ slow life และเพิ่มการออกกำลังกายให้มากขึ้น

ภัยเงียบที่แฝงมากับการใช้ชีวิตประจำวันที่ผิดแผกไปจากที่ควรจะเป็น อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ใครก็สามารถเป็นได้ทุกเมื่อ ถ้าดูแลตัวเองไม่ดี ไม่ใส่ใจสุขภาพ อาหารการกิน การนอนหลับ การออกกำลังกาย  ถ้าใส่ใจกับสิ่งเหล่านี้ ก็สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้ และที่สำคัญ ควรมีการตรวจร่างกายประจำปี และหมั่นพบแพทย์เมื่อมีข้อบ่งชี้เสมอ