ไข่มดแดง แหล่งโปรตีนสำคัญ ตั้งแต่สมัยโบราณ กินสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงท้องร่วงได้

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ไข่มดแดงให้โปรตีนสูง แต่ไขมันต่ำ ไม่ควรกินสุกๆ ดิบๆ  แนะควรปรุงสุกทุกเมนู หากเป็นประเภทยำไม่ควรค้างคืน เสี่ยงท้องร่วงได้

เว็บไซต์ กรมอนามัย เผย นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากที่มีการนำเสนอข่าวชาวบ้านในบางพื้นที่ ซึ่งว่างเว้นจากการทำไร่ ทำนา ได้ออกหาไข่มดแดงมาประกอบอาหาร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ในช่วงราคาสินค้าต่างๆ พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และถ้าหาได้จำนวนมากก็จะนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้เสริมนั้น ซึ่งจากข้อมูลของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย พบว่าไข่มดแดงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของคนชนบทมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยในจำนวนไข่มดแดงปริมาณ 100 กรัม มีไขมัน 2.6 กรัม โปรตีน 8.2 กรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.16 กรัม และวิตามินบีสอง 4.68 มิลลิกรัม

เมื่อนำมาเทียบกับไข่ไก่จัดว่าไข่มดแดงมีไขมันน้อยกว่า เนื่องจากไข่ไก่ มีไขมันสูงถึง 9.65 กรัม โปรตีน 12.77 กรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.17 มิลลิกรัม และวิตามินบีสอง 0.37 มิลลิกรัม นอกจากนี้ ตัวมดแดงมีกรดน้ำส้มให้รสเปรี้ยว ใช้แทนมะนาวหรือน้ำส้มสายชูได้อีกด้วย

“ทั้งนี้ การนำไข่มดแดงมาปรุงอาหารควรล้างให้สะอาดเสียก่อน โดยล้างอย่างน้อย 3 ครั้ง ล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง หรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านสัก 2 นาที หรือแช่น้ำเกลือ น้ำส้มสายชู เบกกิ้งโซดาหรือผงฟูแล้วค่อยล้างด้วยน้ำสะอาด และนำมาปรุงให้สุกทุกครั้ง ไม่ควรกินแบบสุกๆ ดิบๆ เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้ โดยเมนูที่นิยมนำไข่มดแดงมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงผักหวานไข่มดแดง แกงเห็ดไข่มดแดง ต้มยำปลาช่อนไข่มดแดง แกงขี้เหล็กไข่มดแดง ห่อหมกไข่มดแดง ไข่เจียวไข่มดแดง หรือยำไข่มดแดง เป็นต้น โดยเฉพาะอาหารประเภทยำนั้น ไม่ควรเก็บไว้ค้างมื้อโดยเด็ดขาด เพราะบูดเสียได้ง่าย ทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการปวดท้องและโรคอุจจาระร่วงตามมา” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว