วิ่งอย่างไรไม่ข้อเสื่อม

การออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เป็นการออกกำลังกายที่นิยมมากในปัจจุบัน มีผู้คนไปออกกำลังกายด้วยการวิ่งตามสวนสาธารณะหรือตามสถานที่ออกกำลังกายจำนวนมากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองที่มีสวนสาธารณะหรือสถานที่ที่เหมาะสม เช่น กรุงวอชิงตัน ดีซี ในสหรัฐอเมริกา การวิ่งออกกำลังกายเป็นประจำ
นอกจากจะได้ความแข็งแรงของระบบหัวใจ หลอดเลือด และปอดแล้ว ยังช่วยเผาผลาญไขมันส่วนเกิน ลดความดันโลหิต รักษาระดับน้ำตาลในเลือด
นอกจากนี้ยังช่วยให้ระบบประสาททำงานได้ดี ควบคุมกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น ข้อต่อต่างๆ มีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น ไม่อ่อนล้าง่าย อย่างไรก็ดี การออกกำลังกายด้วยการวิ่งต้องทำอย่างถูกวิธี การออกกำลังกายที่ผิดวิธี อาจส่งผลเสียต่อส่วนต่างๆ ของร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้โดยไม่รู้ตัว การทำความเข้าใจถึงประโยชน์และโทษของการวิ่งออกกำลังกายว่าจะส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิ่งอย่างไรไม่ข้อเสื่อม
การวิ่งเพื่อออกกำลังกายต้องใช้อวัยวะและระบบต่างๆ ของร่างกายหลายระบบทำงานประสานกัน เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวและรองรับน้ำหนักตัว โดยเฉพาะกล้ามเนื้อและข้อต่อส่วนขา ตั้งแต่กระดูกสันหลัง สะโพก ข้อเข่า ข้อเท้าและข้อต่อในเท้าจำนวนมาก ที่ต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักหรือแรงกระแทกหลายเท่าของภาวะปกติ
ในการเดินแต่ละก้าวขาหรือข้อต่อจะมีแรงที่ถูกส่งผ่านสูงถึงกว่า 3 เท่าของน้ำหนักตัว การวิ่งหรือกระโดดแต่ละครั้งจะมีแรงกระทำกับกระดูกและข้อได้ถึง 10 เท่าของน้ำหนักตัว ถือเป็นแรงผ่านที่สูงมากสำหรับข้อที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับขนาดของร่างกาย แม้ในภาวะปกติระบบภายในร่างกายจะมีการซ่อมแซมและเสริมสร้างตัวเองได้เมื่อมีการใช้งานจนเกิดความสึกหรอ เช่น กระดูกอ่อนผิวข้อ เส้นเอ็นรอบๆ ข้อเข่า หมอนรองกระดูก จนถึงปุ่มกระดูกที่เป็นจุดเกาะของเส้นเอ็นต่างๆ ซึ่งหลังจากการออกกำลังกายอย่างหนัก ร่างกายจำเป็นต้องมีช่วงเวลาพักฟื้น เช่น การออกกำลังด้วยการวิ่งอย่างหนัก ควรสลับด้วยการวิ่งเบาๆ  หรือการออกกำลังแบบยืดหยุ่น สลับกันเป็นช่วงๆ ใน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้เพราะความล้าจากการออกกำลังกายจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย ข้อและเส้นเอ็นเมื่อถูกใช้งานจนเกินขีดจำกัด อาจเกิดการบาดเจ็บ เช่น เส้นเอ็นบางส่วนฉีกขาดภายในทำให้เกิดอาการเจ็บ เกิดการอักเสบ ซึ่งถึงแม้มีการซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อใหม่ แต่ก็อาจไม่ยืดหยุ่นได้ดีเท่าเดิม และง่ายต่อการบาดเจ็บซ้ำ
ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บแต่แรกหรือบาดเจ็บซ้ำ จึงมีความสำคัญอย่างมากในการออกกำลังกาย
มีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการวิ่ง คือ ความเข้าใจที่ว่า การวิ่งทำให้ข้อเข่าเสื่อม เมื่ออายุมากขึ้น  จริงๆ แล้วการวิ่งที่ถูกวิธีอย่างต่อเนื่องจะช่วยป้องกันการเสื่อมเร็วของข้อ ต่อการหยุดวิ่งหรือขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสมต่างหากที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ข้อเสื่อม เพราะการวิ่งแต่ละก้าวมีแรงกดที่กระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายฟองน้ำที่คอยรองรับแรงกระแทกในข้อ การกดและปล่อยอย่างเป็นจังหวะจากการวิ่งจะช่วยเพิ่มการหมุนเวียนน้ำหล่อเลี้ยงข้อ เป็นการเพิ่มการเติมสารอาหารให้เซลล์กระดูกอ่อนในผิวข้อ ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่มีเลือดมาเลี้ยง ต้องได้สารอาหารและออกซิเจนจากน้ำหล่อเลี้ยงข้อเท่านั้น การเคลื่อนไหวข้อที่มีแรงกดที่กระดูกอ่อนอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอจะเป็นการให้สารอาหารแก่กระดูกอ่อน กระตุ้นการสร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เป็นการช่วยลดความเสี่ยงต่อข้อเสื่อม
ในการออกกำลังกายส่วนที่สำคัญคือกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งทำหน้าที่สร้างการเคลื่อนไหวและความมั่นคงให้ขาและข้อต่อต่างๆ การบริหารกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นแบบยืดหยุ่นโดยการยืดข้อให้สุดการเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ แล้วค้างไว้ประมาณ 10-15 วินาที ทำซ้ำประมาณ 5-10 ครั้ง โดยเน้นที่กล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า และกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง เป็นการบริหารที่ช่วยชะลอความเสื่อมของข้อได้
การออกกำลังกายด้วยการวิ่งต้องมีการอบอุ่นร่างกายที่เพียงพอ โดยเริ่มจากการเดินเร็วหรือวิ่งเหยาะๆ เป็นเวลา  5-10 นาทีก่อนจะวิ่งเต็มที่ เพื่อให้กล้ามเนื้อและระบบไหลเวียนโลหิตและระบบการหายใจมีการปรับตัวก่อนการออกกำลังกาย
นอกจากนี้ การเลือกรองเท้าวิ่งที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นกันแรงกระแทก มีการกระชับพอดีกับลักษณะของเท้า มีการเสริมหนุนบริเวณใต้โค้งเท้า สำหรับผู้ที่มีภาวะเท้าแบนหรือไม่มีอุ้งเท้าที่โค้งสูงเพียงพอ มิฉะนั้น เมื่อวิ่งนานๆ อาจทำให้มีแรงปฏิกิริยาจากพื้นต่อข้อเท้าและข้อเข่าอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดข้อเข่าหรือข้อเท้าเรื้อรังได้ ลักษณะพื้นที่วิ่งควรเป็นพื้นที่ที่เสมอกัน พื้นไม่เอียงหรือมีการหักเอียงอย่างเฉียบพลัน พื้นที่ใช้วิ่งที่ดีที่สุดคือ พื้นยางสังเคราะห์ เพราะมีความนุ่มและเก็บพลังงานเพื่อเปลี่ยนเป็นแรงส่งตัวได้ดี มิฉะนั้น ก็เป็นพื้นที่เป็นดิน หากจะวิ่งบนพื้นคอนกรีต ควรเลือกรองเท้าที่รับแรงกระแทกได้ดี เพราะเท้าจะต้องรับแรงกระแทกมากกว่า
ลักษณะการวิ่งก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ควรวิ่งก้าวเท้ายาวหรือยกเข่าสูงเกินไป เพราะข้อเข่าต้องงอมากเกินความจำเป็น ทำให้ปวดข้อเข่าง่ายขึ้น แขนควรงอเล็กน้อยและแกว่งข้างลำตัว ไม่ควรแกว่งเลยแนวกลางลำตัว ในกรณีที่มีอาการปวดหลังหรือน้ำหนักตัวมาก ควรแกว่งแขนค่อนมาทางด้านหลังเพื่อไม่ให้ลำตัวเอนไปข้างหน้ามากเกินไป การลงน้ำหนักควรลงน้ำหนักที่ส้นเท้า เพราะการวิ่งโดยลงน้ำหนักที่ปลายเท้านานๆ จะทำให้ปวดกล้ามเนื้อน่อง และปวดเข่าด้านหน้าได้  ยกเว้นกรณีที่ต้องการเร่งความเร็ว ไม่ควรรีบลงเนิน หากจะวิ่งลงเนินควรพยายามตั้งลำตัวให้ตรง เพราะแรงโน้มถ่วงอาจทำให้เสียหลัก นอกจากนี้ ควรก้าวเท้าให้ยาวและเร็วขึ้นกว่าตอนวิ่งบนพื้นที่ราบเสมอกัน
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นข้อเสื่อมอยู่แล้วควรออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือเดินเร็วแทนการวิ่ง หมั่นออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาโดยการเหยียดเข่าตรงและเกร็งค้างไว้ 5 วินาที ต่อครั้ง ประมาณ 10-30 ครั้ง ต่อวัน ถ้าไปฟิตเนสควรเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าและหลัง ประมาณสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
การวิ่งออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี มีความสุขโดยไม่เสี่ยงต่อการทำร้ายข้อเข่าให้เสื่อมได้