กระท่อม เรื่องต้องรู้ ข้อดีมี ข้อเสียมาก ใช้แล้วมีฤทธิ์และผลข้างเคียงอย่างไร

กระท่อม เรื่องต้องรู้  ข้อดีมี ข้อเสียมาก ใช้แล้วมีฤทธิ์และผลข้างเคียงอย่างไร

หนังสือ บันทึกของแผ่นดิน ๑๒ โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับ กระท่อม ยาขยันพื้นบ้าน ไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุตอนหนึ่งว่า ช่วงเวลา 108 ปี (พ.ศ. 2440-2548) นับแต่ชาวต่างชาติมาพบการใช้กระท่อมของคนไทยและมาเลเซีย มีนักวิทยาศาสตร์นำไปศึกษาจนเกิดผลงานวิจัยถึงกว่า 60 ชิ้น ปัจจุบัน มีการศึกษาที่พบว่าสามารถจะนำสารสกัดจากกระท่อมไปพัฒนาเป็นยาแก้ปวดชนิดใหม่ในอนาคต ส่วนใหญ่เป็นผลงานการวิจัยของนักวิจัยอังกฤษและญี่ปุ่น ที่เห็นคุณค่าของกระท่อมในฐานะที่เป็นยา

สำหรับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการใช้กระท่อมนั้น กระท่อม มีข้อเสีย คือ ทำให้ท้องผูก แต่แก้โดยกินร่วมกับใบชุมเห็ด หากกินกระท่อมมากไป จะทำให้เมา มึนหัว วิงเวียน ซึม หลับ ดื่มน้ำสักพักหรือกินอะไรเปรี้ยวๆ ก็จะหาย ถ้าเคี้ยวแล้วกลืนลงไปเป็นประจำ จะทำให้มีกากใบของกระท่อมอยู่ในลำไส้ที่เรียกว่า ถุงท่อม และทำให้มีผิวเกรียมเพราะทนแดดมาก ไม่กลัวแดด แต่กลัวฝน เห็นฝนตั้งเค้าจะรู้สึกปวดเมื่อยขึ้นมาทันที

เล่ากันว่า บางคนพายเรืออยู่ พอฝนตกก็โดดลงน้ำจมน้ำตายก็มี ผู้ที่ติดกระท่อมไปนานมักจะน้ำหนักลด เบื่ออาหาร อาจทำให้นอนไม่หลับ แต่ถ้าคนไม่เคยกินใบกระท่อม เมื่อเคี้ยวเข้าไปสัก 1-3 ใบ จะมีอาการมึนศีรษะ คอแห้ง คลื่นเหียน บางทีเมาจนต้องนอน

ส่วนฤทธิ์และผลข้างเคียงของกระท่อม สามารถแบ่งออกได้ตามขนาดของการได้รับ ดังนี้

1. เมื่อได้รับในขนาดต่ำ (1-5 กรัม) ผลที่เกิดขึ้น คือ ฤทธิ์กระตุ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน 10 นาที และอยู่นาน 60-90 นาที มีลักษณะคล้ายกับฤทธิ์ของแอมเฟตามีน (ซึ่งเป็นส่วนประกอบของยาบ้า) แต่น้อยกว่า มีอาการคือ มีความกระปรี้กระเปร่าและความตื่นตัวเพิ่มขึ้น ความอยากอาหารลดลง การเข้าสังคมเพิ่มขึ้น ความต้องการทางเพศสูงขึ้น

2. เมื่อได้รับในขนาดปานกลางถึงสูง (5-15 กรัม) ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะคล้ายกับการได้รับยาในกลุ่ม opioid และอยู่ได้นานหลายชั่วโมง คือ ความรู้สึกเคลิ้มสุขในระดับสูง แต่มีฤทธิ์รุนแรงน้อยกว่ายาในกลุ่ม opioid ตัวอื่นๆ มีอาการต่างๆ ได้แก่ ความเจ็บปวดลดลง ง่วงนอน สงบระงับ และเหมือนอยู่ในความฝัน

3. เมื่อได้รับกระท่อมสูงกว่า 15 กรัม ผลที่เกิดขึ้นจะคล้ายคลึงกับการได้รับยากลุ่ม opioid ในขนาดสูง ซึ่งได้แก่ การกดประสาทอย่างมาก และบางครั้งก็หมดสติ

“ผลข้างเคียงของกระท่อมขึ้นอยู่กับขนาดที่ได้รับ มีความรุนแรง ตั้งแต่รู้สึกไม่สบายจนถึงเป็นอันตราย ได้แก่ การหดตัวของรูม่านตา หน้าแดง อาการสั่น หรือสูญเสียการประสานงาน ท้องผูก เหงื่อออก เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน คัน ผลข้างเคียงที่ร้ายแรง คือ อาการชัก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเมื่อใช้กระท่อมในขนาดสูงหรือตั้งแต่ 15 กรัมขึ้นไป ส่วนผลข้างเคียงจากการใช้กระท่อมในระยะยาว ได้แก่ การสร้างเม็ดสีที่ผิวหนังมากผิดปกติ หรือผิวหนังมีสีเข้มขึ้น ภาวะเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง และมีอาการของโรคจิต” ข้อมูลจากหนังสือ บันทึกของแผ่นดิน ๑๒ โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ระบุ