อภัยภูเบศร แนะ กระชาย หนึ่งในสมุนไพรสุดฮอต ใช้อย่างไรในสถานการณ์โควิด?

อภัยภูเบศร แนะ กระชาย หนึ่งในสมุนไพรสุดฮอต ใช้อย่างไรในสถานการณ์โควิด?

กระชาย เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน ขับลม บรรเทาอาการจุกเสียดแน่นท้อง ช่วยย่อย และเป็นยาบำรุงกำลัง ภูมิปัญญาพื้นบ้านมีการบันทึกใช้แก้อาการจมูกไม่ได้กลิ่น จนนำมาสู่การวิจัยเพื่อใช้ศึกษาฤทธิ์และการใช้ประโยชน์ในสถานการณ์ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเพจ สมุนไพรอภัยภูเบศร ได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการใช้ไว้ว่า

​กระชายเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน ไม่เหมาะหากมีอาการไข้สูง แต่จากประสบการณ์ในช่วงปิดแคมป์คนงานมีรายงานถึง การใช้กระชายแคปซูลเสริมการรักษาผู้ป่วยเสี่ยงสูง ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อ เมื่อมีจมูกไม่ได้กลิ่น คัดจมูก หายใจไม่ออก โดยใช้แคปซูลกระชาย 500 มิลลิกรัม กินครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน พบว่าอาการหายเป็นปกติ

​ดังนั้น ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างรอเตียง ที่มีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น คัดจมูก หายใจไม่ออก อาจเตรียมตำรับกระชายด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ดังนี้

1. กระชายสด เหง้าหรือราก ครั้งละ 25 กรัม วันละ 3 มื้อ หลังอาหาร
2. กระชายแห้ง บดผง ทั้งเหง้าและราก ใช้ครั้งละ 1.6 กรัม วันละ 3 เวลา หลังอาหาร
3. น้ำกระชาย ใช้กระชายครั้งละ 1 ขีด หรือ 45 กรัม ล้างสะอาด ปั่นละเอียดผสมน้ำสะอาด 300 มล. น้ำมะนาว 20 มล. น้ำผึ้ง 20 มล. แบ่งดื่มวันละ 3 เวลา (ไม่ต้องแยกกาก)
หมายเหตุ สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อไวรัส คือ แพนดูราทิน (Panduratin) และพินอสทรอบิน (Pinostrobin) ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้ไม่ละลายน้ำ ดังนั้น การจะได้รับสารสำคัญที่ดีควรกินกระชายทั้งน้ำและเนื้อจะได้รับสารสำคัญที่ครบถ้วนที่สุด
สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอาการติดเชื้อ และต้องการใช้กระชาย แนะนำรับประทานในรูปแบบอาหาร เสริมภูมิคุ้มกัน
ข้อควรระวัง
– ไม่ควรรับประทานกระชายต่อเนื่องหรือใช้ขนาดสูงต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นยารสร้อน อาจทำให้เกิดอาการร้อนใน หรือความร้อนในร่างกายเพิ่มขึ้นได้ และอาจทำให้ใจสั่น หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานในขนาดสูง
– กระชายมีโพแทสเซียมสูง ควรระวังการใช้ในขนาดสูงในผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ หรือผู้ที่ต้องควบคุมโพแทสเซียม
– ควรระวังการใช้ในผู้ที่มีความผิดปกติของตับและไต ผู้กินยาละลายลิ่มเลือด ยาวาร์ฟาริน
………………………………………………………………………………………………….
18-22 สิงหาคมนี้ ติดตาม Healthcare 2021 “วัคซีนประเทศ” บนแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดียเครือมติชน ทั้งเฟซบุ๊กมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และยูทูบมติชน ทีวี
อ่านสกู้ปเต็มๆที่นี่:
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2564