พยาธิ ภัยที่มากับอาหาร รู้ไหมว่ามีกี่ชนิด พร้อมชี้อาการและวิธีเลี่ยงพยาธิ

พยาธิ ภัยที่มากับอาหาร รู้ไหมว่ามีกี่ชนิด พร้อมชี้อาการและวิธีเลี่ยงพยาธิ

หลายครั้งที่เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับพยาธิที่ปนเปื้อนในอาหาร แล้วรู้หรือไม่ว่า พยาธิที่เราพบ มีกี่ชนิด? และมีวิธีการหลีกเลี่ยงพยาธิเหล่านั้นอย่างไร

เว็บไซต์ อย. เผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการพบเจอพยาธิในอาหารไว้ดังนี้

ชนิดของพยาธิ ที่มักพบในอาหารประเภทต่างๆ

พยาธิใบไม้ตับ พบในอาหารที่ทำจากปลาน้ำจืดที่ไม่สุก เช่น ปลาร้าดิบ ส้มปลา เป็นต้น
พยาธิตัวตืด พบในเนื้อหมู วัว ที่ปรุงไม่สุก สามารถมองเห็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด ซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดสาคู  หรือผักสดที่ล้างไม่สะอาดและมีไข่พยาธิปนเปื้อน
พยาธิไส้เดือนและ

พยาธิแส้ม้า

พบในผักผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด อาหารไม่สะอาดปนเปื้อนไข่พยาธิ มีแมลงวันตอม หรือหยิบของที่ตกบนพื้นดินเข้าปาก
พยาธิตัวจี๊ด พบในเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก เช่น ปลา ไก่ กบ เป็นต้น
พยาธิอะนิซาคิส พบในอาหารประเภทปลาทะเลที่ไม่สุก ปลาดิบ

 

หลีกเลี่ยงพยาธิเหล่านี้ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร ?

– เลือกซื้ออาหารที่สดใหม่สะอาด หากเป็นเนื้อสัตว์ต้องสังเกตุดูว่ามีตัวอ่อนพยาธิซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดสาคูปนเปื้อนหรือไม่ และไม่หยิบของที่ตกบนพื้นแล้วเข้าปาก

– หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ หรือทำให้สุกด้วยความร้อนที่ไม่เพียงพอ และการบีบมะนาวไม่มีผลในการฆ่าตัวอ่อนพยาธิ เพียงแค่ทำให้เนื้อสัตว์เปลี่ยนสีเท่านั้น

– ผักสดหากจะรับประทานดิบ ๆ ควรจะล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง

– ล้างมือให้สะอาดก่อนทำอาหารและรับประทานอาหาร

ยาถ่ายพยาธิ จำเป็นต้องใช้เป็นประจำทุกปีหรือไม่

ไม่จำเป็นต้องใช้ยาถ่ายพยาธิประจำปี หากไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิ เช่น อยู่ในพื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงสูงต่อการได้รับพยาธิ (เช่น รับประทานเนื้อสัตว์ที่สุกๆ ดิบๆ เป็นประจำ)

แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ ที่สงสัยว่าได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกาย เช่น ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีรอยบวมแดงบนผิวหนังที่เคลื่อนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ หรืออาการคันก้นเนื่องจากพยาธิบางชนิดจะออกมาวางไข่รอบ ๆ ทวารหนักตอนกลางคืน เป็นต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยยาถ่ายพยาธิที่เหมาะสมกับชนิดของพยาธิที่ได้รับ