วิกฤตฝุ่นพิษ! แพทย์แนะ เลี่ยง 3 กิจกรรมเสี่ยงรับฝุ่น PM 2.5 

วิกฤตฝุ่นพิษ! แพทย์แนะ เลี่ยง 3 กิจกรรมเสี่ยงรับฝุ่น PM 2.5 
วิกฤตฝุ่นพิษ! แพทย์แนะ เลี่ยง 3 กิจกรรมเสี่ยงรับฝุ่น PM 2.5 

วิกฤตฝุ่นพิษ! แพทย์แนะ เลี่ยง 3 กิจกรรมเสี่ยงรับฝุ่น PM 2.5 

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. จากกรณี ฝุ่นลองขนาดเล็ก PM 2.5 พุ่งสูงเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน 

นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ชะลอวัย กล่าวว่า อาหาร, น้ำและอากาศ เป็นสามสิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้ ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้ไล่ความสำคัญกันมาตามเกณฑ์ที่ถือว่าจะทนการขาดจากมากไปน้อยที่สุด มนุษย์เราเดือดร้อนเรื่องอากาศได้มาก แต่เนื่องด้วยมันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นชัดจึงทำให้ไม่ถูกจัดลำดับการแก้ไขในอันดับต้นๆ จนมันส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้วจริงๆ จึงกลายเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นมา อย่างช่วงหน้าหนาวที่ว่าอากาศขมุกขมัวด้วยฝุ่นนี้ก็มีคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจมาหามาก หากแต่สิ่งที่ชัดเจนกว่าคืออาการที่ดูหนักขึ้นกว่าเมื่อก่อน เป็นต้นว่า ไอโขลกๆ ออกมามีเลือดปนมากับเสมหะ หรือคนไข้สายรักออกกำลังกายไปวิ่งแล้วกลับมาไอเพราะระคายคอคล้ายมีอะไรติดอยู่

ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่าปัญหาเรื่องฝุ่นธุลีขนาดจิ๋วที่เรียก PM2.5 กันหนาหูนี้ไม่ได้มีผลกระทบแค่เฉพาะกับเรื่องไอ-จาม หากแต่ทำให้คุณภาพชีวิตเสียไปได้มาก เช่น อยากพาลูกออกไปเที่ยวเล่นวันเด็ก แต่กลับต้องใส่หน้ากากเป็นแฟชั่นไอ้โม่ง หรือคุณตาคุณยาย อากงอาอ่ามีโรคหัวใจ-หลอดเลือด, ความดัน, หอบหืด, โรคทางเดินหายใจต่างๆ ก็อาจมีอาการกำเริบขึ้นมา ไปหาลูกหลานกินข้าวกันวันตรุษจีนไม่ได้ ได้แต่นอนตาปริบๆหลบภัยฝุ่นอยู่ลำพัง นอกจากนี้แล้วยังมีคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ควรให้ละอองอณูจิ๋วเหล่านี้เข้าไปทำร้ายเจ้าตัวน้อยในท้องผ่านระบบไหลเวียนโลหิต

“ซึ่งจะเห็นว่าตัวอย่างที่ยกมานั้นคือหายนะที่มีผลต่อทุกชีวิตในทุกช่วงวัย ซ้ำยังกระทบทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ถ้าเราหายใจเอาอากาศในขณะที่มีละอองธุลีขนาดจิ๋วนี้เจริญฟุ้งกระจายอยู่มากมายเข้าไปอาจส่งผลให้เกิดการระคายเคือง, แสบจมูก, คัดแน่นจมูก, อาการภูมิแพ้กำเริบ, ไอ, จาม, มีเสมหะ ไปจนถึงทำให้เกิดปัญหาหลอดเลือดเสี่ยงอัมพาตและมะเร็งปอดได้”

นพ.กฤษดา กล่าว ดังนั้น หากเป็นไปได้จึงขอแนะให้เลี่ยงกิจกรรมต่อไปนี้ที่ทำเสี่ยงในช่วงปรากฏการณ์ธุลีเจริญฝุ่นละอองล้นเกินในอากาศเช่นในขณะนี้ โดย 1. ออกกำลังกลางแจ้งในที่ที่มีค่าธุลี PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ด้วยเคยตรวจพบคนไข้ที่มีอาการไอหนักมากขึ้นหลังจากไปวิ่งออกกำลัง outdoor ในที่ที่มีฝุ่นละอองสูง 2. เปิดหน้าต่างและประตูรับอากาศในช่วงฝุ่นมีค่าสูงเกิน ถ้าจำเป็นในช่วงนี้อาจต้องปิดประตูหน้าต่างและเปิดเครื่องปรับอากาศให้ภาวะธุลีเจริญล้นเกินบรรเทาลงไปก่อน ถ้าท่านอยู่ในแดนสนธยาสารพัดฝุ่น หรือบ้านใดมีเด็กและคนไม่สบายก็ขอให้เลี่ยงการเปิดรับอากาศปนเปื้อนฝุ่นจากภายนอก 3. สูบบุหรี่และทำกิจกรรมก่อควัน จำเป็นต้องหยุดไว้ เพราะในช่วงอากาศปิดมีฝุ่นละอองมาล้อมรอบชีวิตเช่นนี้ การสูดเอาควันบุหรี่หรือสร้างควันมือสองมือสามเพิ่มขึ้นมาอีกเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เพราะว่ามันจะไปเพิ่มภาระให้ปอดและระบบทางเดินหายใจของเราต้องรับบทหนักไม่ได้พัก แถมยังอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหอบกำเริบและมะเร็งปอดด้วย

“มีเทคนิคง่ายๆ ในแง่ชะลอวัย ฝากไว้ช่วงที่อากาศหายใจยังไม่ปรานี คือต้องมีการตรวจเช็กสุขภาพให้ทราบละเอียดถึงสเตตัสร่างกายในขณะนี้ เพราะจะช่วยให้ทราบความเสี่ยงของตัวเรา อีกทั้งยังช่วยให้เอาใจใส่ตัวเองได้ถูกจุด เพราะเรื่องพีเอ็ม 2.5 นั้นเป็นเรื่องที่มองไม่เห็น แต่ถ้าดูแลเป็นก็จะลดความเสี่ยงจากธุลีทำพิษได้มาก” นพ.กฤษดา กล่าว

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ.2563