“ห้องน้ำสาธารณะ” แหล่งรวมเชื้อโรค เข้าอย่างไรให้ปลอดภัย?

Woman holding hand near toilet bowl - health problem concept

“ห้องน้ำสาธารณะ” แหล่งรวมเชื้อโรค เข้าอย่างไรให้ปลอดภัย?

ห้องน้ำสาธารณะ – หนึ่งในสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อใช้ชีวิตประจำวันอยู่นอกบ้าน คือ “ห้องน้ำสาธารณะ” หลายๆ คนคงทราบดีว่า ห้องน้ำสาธารณะบางที่ สภาพไม่ค่อยน่าใช้ เป็นแหล่งสะสมแบคทีเรียอย่างดี ที่สามารถก่อโรคให้กับเราได้

เพจ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ได้แชร์บทความสุขภาพเกี่ยวกับ การใช้ห้องน้ำสาธารณะอย่างไร ให้ปลอดเชื้อโรค โดยมีข้อปฏิบัติ 7 ข้อ ดังนี้

1. เลือกห้องน้ำที่ไม่ค่อยมีคนใช้ เป็นห้องน้ำที่ไม่ได้อยู่ในแหล่งพลุกพล่าน เช่น ห้องน้ำในออฟฟิศชั้นที่มีพนักงานน้อยๆ เป็นต้น

2. อย่าสัมผัสโดยตรง ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำสาธารณะ ควรสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ในห้องน้ำน้อยที่สุด เช่น เมื่อเปิดประตูเข้าไป อาจจะใช้ทิชชูวางบนลูกบิดแล้วหมุนเข้าไป เป็นต้น

3. ทำความสะอาดก่อนนั่ง ก่อนนั่งควรทำความสะอาดฝาชักโครก ด้วยกระดาษทิชชูแบบเปียกชนิดฆ่าเชื้อ หรือพกกระดาษรองนั่งไปปูบนฝาชักโครกก่อนขับถ่าย และระวังอย่าให้แผ่นรองเปียกน้ำเด็ดขาด เพราะเชื้อโรคอาจจะแทรกซึมมากับน้ำได้

Restroom and Showers Door Sign. Male and Female Included Disabled Restrooms Information Sign.

4. ใช้เวลาน้อยที่สุด ไม่ต้องถึงขั้นจับเวลา แต่ควรใช้เวลาในการทำกิจธุระในห้องน้ำให้สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ชักโครก ควรเลือกดูห้องที่สะอาดที่สุด และหลังขับถ่ายเสร็จ ควรปิดฝาชักโครกก่อนกด เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจายในอากาศ

5. ไม่เหยียบโถส้วม หลายคนใช้บริการห้องน้ำสาธารณะผิดวิธี โดยใส่รองเท้าขึ้นไปนั่งบนฝารองนั่ง เพราะคิดว่าจะทำให้ไม่สัมผัสกับเชื้อโรค แต่จริงๆ แล้ว ระหว่างที่ขับถ่ายอาจจะมีการกระเด็นของน้ำในโถ ซึ่งเป็นที่รวมเชื้อโรคเปื้อนได้มากกว่าการนั่งธรรมดา

6. ไม่ตักน้ำที่เปิดไว้ การใช้น้ำล้างทำความสะอาด ไม่แนะนำให้ตักในส่วนที่มีอยู่ในถังเดิมใช้ แต่ควรรองจากก๊อกโดยตรง เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่สะสมอยู่ในถังน้ำ เพราะบางคนเอามือจุ่มล้างในถัง หากเป็นสายฉีดก็ควรฉีดน้ำให้ไหลทิ้งประมาณ 1 นาที เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ปะปนบริเวณรอบๆ สายฉีดได้

7. ล้างมือทุกครั้งหลังเสร็จธุระ เมื่อเข้าห้องน้ำเสร็จเรียบร้อย เพื่อไม่ให้เชื้อโรคติดมากับมือของเรา ควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดและสบู่  เริ่มต้นล้างมือโดยฟอกฝ่ามือด้านหน้า ด้านหลัง ง่ามนิ้วมือด้านหน้า ด้านหลัง ฟอกนิ้วมือและข้อนิ้วมือด้านหลัง รวมทั้งฟอกหัวแม่มือ ขัดสิ่งสกปรกบริเวณซอกเล็บ และข้อมือ ล้างสบู่ออกด้วยน้ำสะอาด เช็ดมือให้แห้งด้วยกระดาษเช็ดมือ หากไม่มีสบู่ ก็ใช้น้ำสะอาดล้างซ้ำหลายๆ ครั้ง

ข้อมูลจาก :  หน่วยงานควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ ฝ่ายพัฒนาคุณภาพ 

เผยแพร่ครั้งแรก วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2562