“มูลนิธิกาญจนบารมี” สืบสานพระราชปณิธาน ดูแลผู้ป่วยยากไร้ คัดกรองมะเร็งเต้านมถิ่นทุรกันดาร

“มูลนิธิกาญจนบารมี” สืบสานพระราชปณิธาน ดูแลผู้ป่วยยากไร้ คัดกรองมะเร็งเต้านมถิ่นทุรกันดาร

มะเร็งเต้านม ถูกจัดเป็นหนึ่งในมะเร็งร้ายที่คร่าชีวิตผู้หญิงเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก ให้ข้อมูลว่า ในปี 2561 พบผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลกสูงกว่า 2,088,849 ล้านคน เสียชีวิตถึง 626,679 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า มีหญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ เฉลี่ยปีละ 20,000 คน หรือประมาณ 55 คนต่อวัน และเสียชีวิตกว่า 6,000 คน หรือกว่า 17 คนต่อวัน

สถานการณ์โรคมะเร็ง จึงกลายเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ด้วยเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว มูลนิธิกาญจนบารมี จึงจัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ขึ้นในโอกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปีพุทธศักราช 2555 เพื่อส่งเสริมการป้องกันมะเร็งเต้านมในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส รวมทั้งช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยากไร้ให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง

ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี

ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี เล่าว่า มูลนิธิกาญจนบารมี กำเนิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ภายหลังจากที่พระองค์ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่สถานพยาบาลที่ทำการรักษาไม่เพียงพอ ทำให้ต้องรอรับการรักษาเป็นระยะเวลานาน ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานกับผู้ป่วย พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างศูนย์วินิจฉัยบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็งขึ้น ที่ ต.บึงสนั่น อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ภายใต้โครงการกาญจนบารมี และได้ขอพระราชทานชื่อว่า “ศูนย์มหาวชิราลงกรณธัญบุรี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ” ซึ่งต่อมาได้มีการยกสถานะขึ้นเป็นโรงพยาบาลจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี” มาจวบจนปัจจุบัน พระองค์ยังพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นเงินทุนในการจัดตั้งมูลนิธิกาญจนบารมี เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์วินิจฉัยบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ควบคู่กับการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งอีกด้วย

“ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น มูลนิธิกาญจนบารมี และกระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกันจัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) เคลื่อนที่ เดินทางไปให้บริการวันละ 1 อำเภอ ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมให้กับสตรีกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลจากสถานพยาบาล และมีฐานะยากจน ให้ได้รับโอกาสในการตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น”

รถเคลื่อนที่ที่ใช้ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง จะประกอบด้วย รถ 4 คัน คือ รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ (Mobile Advertising Unit) รถสาธิตและตรวจมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ (Mobile Check Up Unit) รถนิทรรศการและให้ความรู้โรคมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ (Mobile Learning Exhibition Unit) และรถตรวจเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่แบบประสิทธิภาพสูง (Mammogram) สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เมื่อวินิจฉัยพบเร็ว ก็มีโอกาสรักษาหายเป็นปกติ และลดอัตราการเสียชีวิตได้กว่าร้อยละ 80

“ทุกครั้งก่อนลงพื้นที่ เราจะร่วมมือกับทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ให้คัดกรองกลุ่มเสี่ยง เช่น มีก้อนที่เต้านม มีเลือดหรือน้ำเหลืองออกทางหัวนม เคยเป็นมะเร็งเต้านมอีกข้างหนึ่ง หรือมีญาติสายตรง เช่น แม่ พี่สาว น้องสาว เป็นมะเร็งเต้านม เป็นต้น เมื่อชุดเคลื่อนที่เดินทางไปถึงสตรีกลุ่มเสี่ยงก็จะได้รับการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม และสอนวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ก่อนเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากพบความผิดปกติก็จะได้รับการเอกซเรย์เต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม แล้วส่งต่อไปรับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิขั้นพื้นฐาน”

การตรวจเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่แบบ Mammogram

ดร.นพ.สมยศ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันเข้าสู่รอบปีที่ 6 ของการออกหน่วย เรามีการคัดกรองมะเร็งเคลื่อนที่ รวมทั้งสิ้น 794 ครั้ง ในพื้นที่ 654 อำเภอ (ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2562) มีการตรวจคัดกรองมะเร็งให้กับผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงไปแล้วกว่า 277,900 คน และเอกซเรย์เต้านมด้วยเครื่อง Mammogram 16,557 ราย ส่งคนไข้ที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมไปตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดเพิ่มเติม 1,834 ราย ซึ่งปลายเดือนกรกฎาคมนี้ทางมูลนิธิเตรียมเปิดตัวโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต่อยอดเพิ่มรถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่อีก 2 คัน คาดจะรองรับการตรวจคัดกรองผู้ป่วยด้วยเครื่องแมมโมแกรมเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 120 คน จากปัจจุบันที่สามารถคัดกรองได้เพียงวันละ 30-40 คน เพื่อให้บริการประชาชนได้ครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างแท้จริง

นพ.ปรีดา วรหาร
นพ.ปรีดา วรหาร

หนึ่งในพื้นที่ที่มะเร็งเต้านมถูกยกให้เป็น 1 ใน 3 สาเหตุแรกของการเสียชีวิต อย่างจังหวัดเลย จากสถิติที่ผ่านมา พบสตรีที่ป่วยด้วยมะเร็งเต้านมปีละไม่ต่ำกว่า 100 ราย และ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยเหล่านี้มักมาโรงพยาบาลในช่วงที่ป่วยระยะสุดท้าย คือ ระยะที่ 3-4 ทำให้การรักษาเป็นไปได้ยาก และมีโอกาสเสียชีวิตสูง “นพ.ปรีดา วรหาร” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย เล่าว่า ก่อนที่ทางมูลนิธิจะเข้ามาทำโครงการดังกล่าว ผู้ป่วยที่ต้องการตรวจด้วยเครื่อง Mammogram จะต้องเดินทางไปตรวจที่จังหวัดขอนแก่นหรืออุดรธานี ซึ่งใช้เวลาเดินทางนานกว่า 3 ชั่วโมง ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและเสียเวลา ประกอบกับประชาชนกว่าครึ่งของจังหวัดเลย มักอาศัยอยู่ตามพื้นที่ราบสูง ซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดาร เดินทางเข้าถึงยาก โครงการนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้สามารถคัดกรองผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะแรกได้ และนำสู่กระบวนการรักษาได้ทัน

“ไม่ว่าจะลำบากแค่ไหน พวกเราก็ไม่เคยย่อท้อ เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนองพระราชปณิธานพระองค์ท่าน โครงการนี้เป็นโครงการที่ทรงคุณค่า สามารถช่วยเหลือคนไข้ในถิ่นทุรกันดาร ให้มีโอกาสเข้ารับการตรวจคัดกรองและรักษามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกได้ ทุกคนต่างซาบซึ้งที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยและคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้” ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี กล่าวทิ้งท้าย