กรมแพทย์แผนไทยฯ ประกาศผลิต 16 ตำรับยากัญชาไทยเสร็จ ก.ค.นี้ ใช้รักษาคนไข้ไม่คิดเงิน!!

กรมแพทย์แผนไทยฯ ร่วม ‘มก.สกลนคร-มทร.อีสาน’ ปลูกกัญชาสายพันธุ์ ‘หางกระรอก’  1.4 พันไร่ จับมือ รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ศูนย์กลางแหล่งผลิต ลั่นต้องใช้สายพันธุ์ไทยเท่านั้น  พร้อมผลิตเสร็จก.ค. ไม่คิดเงิน! ชี้ทั้งหมดทำตามกฎเกณฑ์ตามกฎหมายทั้งหมด

กัญชาไทย-เมื่อวันที่  7 มีนาคม ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการอภิปราย “กัญชา : โอกาส & ความท้าทายของประเทศไทย” ว่า  ปัจจุบันการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มีที่เห็นชัดคือ มีแนวทางแพทย์ตะวันตก  และแนวทางแพทย์พื้นบ้าน หรือแพทย์ทางเลือก ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพดีที่สุด เพราะที่ผ่านมาไทยสูญเสียความสามารถในการดูแลสุขภาพให้กับอุตสาหกรรมยามาตลอด ซึ่งไทยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมหาศาล  มีข้อมูลว่าคนเราต้องสูญเสียเงินที่หามาได้ตลอดชีวิตหมดไปกับค่ารักษาพยาบาลในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของชีวิตที่ต้องทำการรักษาโรคของตนเอง ขณะที่ค่าใช้จ่ายฉุกเฉินก็สูงมหาศาลหมดไปถึงครึ่งหนึ่งที่หามาได้ตลอดชีวิตเช่นกัน

“แนวทางที่ 2 จึงน่าจะเป็นแนวทางที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ และปรับตัวเอาวิธีนี้มาใช้ประโยชน์ แต่ไทยยังต้องเผชิญหน้ากับทัศนคติ แนวคิดที่มองกัญชาเป็นยาเสพติดร้ายแรง ซึ่งเราต้องฝ่าด่านตรงนี้ให้ได้  อย่างไรก็ตาม ในเรื่องภูมิปัญญาจากบรรพชนนั้น มีตำรับยาที่มีส่วนประกอบของกัญชาในการรักษาโรคอยู่มากกว่า 90 ตำรับ อย่างล่าสุดก็มีอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสายตระกูล สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้มีการประสานจะมอบตำราของตระกูลเรื่องการแพทย์แผนไทยให้ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงาน เรียกว่า กัญชาทางการแพทย์ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นสามารถใช้ได้เลย” นพ.ขวัญชัย กล่าว

นพ.ขวัญชัย กล่าวอีกว่า สำหรับ 90 ตำรับยา ขณะนี้เราได้มีการแบ่งเป็นกลุ่มๆ และจัดกลุ่มอันดับแรกที่ใช้ได้และมีประสิทธิภาพการรักษาโรคอยู่ 16 ตำรับ ซึ่งก็จะมีการเสนอให้กับคณะกรรมการยาเสพติดพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบ โดยตำรับเหล่านี้จะมีทั้งการรักษากระษัย การดูแลเรื่องความเสื่อมของร่างกาย รวมไปถึงการปรับสมดุลร่างกาย และการดูแลเรื่องภาวะท้องมานจากมะเร็ง ท้องบวม อัมพฤกษ์อัมพาต เป็นต้น โดยในส่วนของกรมฯ ขณะนี้ได้เตรียมพร้อมรองรับหากคณะกรรมการยาเสพติดมีมติเห็นชอบ และผ่านการพิจารณาทางกฎหมายต่างๆ แล้ว โดยทางกรมได้ประสานความร่วมมือกับพื้นที่ในการเตรียมปลูก เตรียมผลิตแล้ว

“ขณะนี้เราได้ประสานความร่วมมือไปกับพื้นที่จ.สกลนคร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ในตำรับตำราโบราณระบุว่า มีสายพันธุ์กัญชาคุณภาพ ที่เรียกว่า หางกระรอก จึงได้ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติสกลนคร  และทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)อีสาน ในการปลูกกัญชารวมพื้นที่ทั้ง 2 แห่งประมาณ 1,400 ไร่ โดยจะทำความร่วมมือแบบแบ่งโควตาการปลูก เบื้องต้นอาจจะ 50 ต่อ 50 โดยการปลูกจะเป็นแบบออร์แกนิก ปลอดสารพิษ สารโลหะหนักตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กำหนด รวมทั้งตัวกฎหมายกำหนดทั้งหมด จากนั้นเมื่อได้ผลผลิตแล้วก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เพื่อเป็นแหล่งผลิต โดยทางกรมจะเป็นผู้ประสานงานผู้จำหน่ายออกไป คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มปลูกได้เดือนเมษายน เป็นต้นไป และจะได้ผลผลิตเพื่อผลิตเป็นตำรับยาทั้ง 16 ตำรับเบื้องต้นได้เดือนกรกฎาคมนี้” นพ.ขวัญชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การจำหน่ายสูตรตำรับยา 16 ตำรับนั้นจะมีค่าใช้จ่ายอย่างไร นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า เบื้องต้นไม่มี เพราะจะทำในรูปแบบของโครงการวิจัย ซึ่งจะมีการติดตามผู้ใช้ยาตำรับเหล่านี้ จึงเป็นโครงการวิจัยที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะที่ในอนาคตเมื่อไม่ใช่โครงการวิจัย ก็จะมีค่าใช้จ่ายในราคาต้นทุน แต่ยังไม่สามารถบอกราคาได้ ซึ่งไม่แพงแน่นอน  นอกจากนี้ ทางกรมจะประสานความร่วมมือกับพื้นที่อื่นๆ ด้วย อย่าง จ.เพชรบุรี ก็จะมีกัญชาสายพันธุ์ไทย ที่เรียกว่า แก่งกระจาน โดยจะประสานกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ต่อไป

เมื่อถามว่ากำลังผลิตสูตรตำรับยา 16 ตำรับจะต้องใช้ปริมาณเท่าไหร่ นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า เบื้องต้นคิดไว้ว่า แต่ละตำรับจะใช้รักษาคนไข้ประมาณ 1,000 ราย จึงคิดว่ารวมๆ น่าจะอยู่ที่ 2,000 กิโลกรัม หรือประมาณ 2 ตันต่อปี แต่นี่คือตัวเลขประมาณเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า กรณีโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จะเป็นแหล่งผลิตและแหล่งจ่ายยาหรือไม่ นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า หากผลิตได้ ก็จะเป็นเช่นนั้น แต่จะมีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เป็นผู้จำหน่ายยาไปยังแพทย์แผนไทยที่ผ่านการอบรมอีกที โดยเราจะประสานข้อมูลว่า ต้องจ่ายไปยังใคร และใช้ในปริมาณเท่าไหร่ และให้ผู้ป่วยกี่ราย ซึ่งจะต้องมีการติดตามอาการ เพื่อพิจารณาประสิทธิผลประสิทธิภาพหลังการรักษาด้วย เรียกว่าเป็นโครงการวิจัยตามกฎหมายทั้งหมด ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้ผ่านมาตรฐาน WHO GMP  มีความพร้อมในการผลิตและผ่านมาตรฐานแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เพราะอะไรต้องใช้สายพันธุ์ไทยเท่านั้น นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ ขอยืนยันใช้สายพันธุ์ไทย เพราะตำรับยาต่างๆ มาจากภูมิปัญญาแพทย์สมัยโบราณ ซึ่งก็ใช้แต่สายพันธุ์ไทยแท้มานาน ซึ่งได้ผลดี