ด้วยรักและเรียนรู้ ‘ไมเคิล-เกษมศักดิ์ ศิริรักษ์’ บล็อกเกอร์อาหาร ผู้ก่อตั้ง “StarvingTime”

ทุกครั้งที่ได้กินอาหาร อยากให้รู้สึกว่าได้กินอาหารที่ดี และที่สำคัญคือถูกสุขลักษณะ” นี่คือเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้บัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผันมาเป็นบล็อกเกอร์ด้านอาหารเต็มตัว

จากความรักที่มีต่อ ”อาหาร”Ž และ “การกิน”Ž

ทำให้ ไมเคิล หรือ เกษมศักดิ์ ศิริรักษ์ หนุ่มวัย 23 ปี ตระเวนกินหาของอร่อย

แรกเริ่มเป็นร้านที่อยู่ในแนวรถไฟฟ้า แต่เมื่อสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ ครอบครัวจึงอนุญาตให้ขับรถ… นั่นทำให้เขาเริ่มมองหาร้านเด็ด โดยมีคู่มือเป็นหนังสือหลากหลายเล่ม

อาจเรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต-หลายครั้งหลายครา ไมเคิลบอกว่าต้องพบกับความผิดหวัง เมื่ออาหารที่ได้ ไม่เหมือนกับภาพที่เห็นจากในหนังสือ

“เวลาเห็นโฆษณาแทรกระหว่างรายการต่างๆ ในโทรทัศน์ เรารู้ว่านั่นคือโฆษณา ที่ไก่กรอบเกินจริง น้ำซุปเยอะเกินจริง กุ้งตัวใหญ่เกินจริง นั่นเป็นสิ่งที่เรารู้ ถ้าเราไปร้านอาหารเองก็รู้อยู่แล้วว่าอาหารที่เราได้จะไม่เท่ากับที่เห็นในโฆษณา

”แต่บางครั้งเราเสียเงินในการเสพบางสื่อเพื่ออยากได้คุณภาพของสื่อ แต่กลายเป็นว่าคุณภาพของสื่อแทบไม่ต่างกัน จึงอยากทำอะไรสักอย่าง เป็นที่บอกเล่าเหมือนไดอารี่ ให้คนที่อยากมาดูได้เห็น อย่างน้อยเราก็เล่าความจริงทุกอย่างว่าร้านนี้เป็นอย่างไร จะไม่บอกว่าอร่อยหรือไม่อร่อย เพราะรสนิยมเรื่องรสชาติเราต่างกัน แต่จะบอกว่าวัตถุดิบดี บริการดี อะไรที่เราจับต้องได้แน่นอนŽ”

นั่นเป็นที่มาของ StarvingTime แอคเคาต์ในอินสตาแกรมที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว

“เรื่องอาหารเป็นเรื่องใกล้ตัว อยู่ในเกือบทุกมิติของชีวิต มองว่า 30-50% ของเวลาชีวิตเราเป็นการนึกถึงอาหาร เราเลยคิดเรื่องกินมันคือเรื่องใหญ่จริงๆ กลายเป็นสโลแกนของ Starvingtime เรื่องกินเรื่องใหญ่Ž”

วันนี้ จากวันแรกที่มีพนักงานเพียงคนเดียว (คือไมเคิล) วันนี้สตาร์ฟวิงไทม์มีพนักงานเกือบ 30 ชีวิต มีคนกดฟอลโลว์ในอินสตาแกรมมากกว่า 1.1 ล้านฟอลโลว์ และมียอดกดไลค์ในเฟซบุ๊กอีกเกือบ 1.4 ล้านไลค์ ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปี ทำให้รู้จักร้านอร่อยมากกว่า 1 พันร้าน ตั้งแต่ร้านรถเข็นไปจนถึงร้านหรู อิมพอร์ตวัตถุดิบจากต่างประเทศ

ไมเคิล เป็นลูกชายคนเดียวของคุณพ่อพิทยา และคุณแม่วัลลภา ศิริรักษ์

เขาเกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2536 เข้าเรียนอนุบาลที่โรงเรียนอนุบาลจุไรรัตน์ ก่อนศึกษาระดับประถมและมัธยมที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน

“พอเข้ามัธยมก็เหมือนวัยรุ่นผู้ชายคือไม่ได้เป็นเด็กเรียบร้อย ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย คุณแม่ยังสมัครมหาวิทยาลัยเปิดไว้ให้ เพราะคิดว่าน่าจะสอบไม่ติด แต่ด้วยความเป็นคนที่พอจะทำอะไรก็ตั้งใจทำจริงๆ อ่านหนังสือเอ็นทรานซ์ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนสอบ ตอนนั้นคุณแม่ค่อนข้างห่วง ซึ่งตอนนั้นก็ติดที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ถ้าไม่ได้จุฬาฯ คงได้เรียนบางมด แต่โชคดีที่ได้ เขาเปิดรับ 800 กว่า ก็ได้ที่ 700 กว่าŽ”

หลังจากเรียนจบภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาก็ทุ่มเทให้กับสตาร์ฟวิงไทม์เต็มตัว

กระทั่งช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสร่วมงานกับเครือมติชนเพื่อจัดมหกรรมอาหารในชื่อ มหกรรมอาหารจานเด็ด Food Fest 2016 ขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22-25 กันยายนที่ผ่านมา ที่เอ็มซีซีฮอลล์ เดอะมอลล์ บางกะปิ เป็นอีเวนต์ที่รวบรวมความหลากหลายและครบครันของอาหารนานาชนิดไว้ในงานเดียว

ไมเคิลบอกว่า จากความสำเร็จครั้งนี้ จะเกิดมหกรรมอาหารจานเด็ด ครั้งที่ 2 แน่นอน

ขอให้คนที่ชื่นชอบอาหารอร่อย มีคุณภาพ ”ล้างท้อง”Ž รอได้เลย

%e0%b8%ad%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a32

“…ความสุขของการทำงานนี้คือได้เล่าให้คนอื่นฟัง ว่าอาหารต่างๆ เป็นอย่างไร ทำให้คนที่ตามไปกินรู้สึกว่าได้กินเหมือนกัน สองคือ เราได้ช่วยเหลือร้านค้าหลายๆ ร้าน…”

– พูดถึงงานมหกรรมอาหารจานเด็ดครั้งแรกที่เพิ่งผ่านไป

ทุกคนค่อนข้างแฮปปี้ ถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นก้าวแรกสำหรับมหกรรมอาหารครั้งใหญ่ของเรา มีความพอใจค่อนข้างสูงกับงานครั้งนี้ คิดว่าในอนาคต มีทั้งบทเรียน การเรียนรู้ต่างๆ คำชมต่างๆ เราจะพัฒนาขึ้นไปอีก เพื่อให้มหกรรมอาหารทุกครั้งมีความสนุก ความแตกต่าง ทำให้คนอยากมาตลอด

หลักการง่ายๆ คือ “ของอร่อย มีคุณภาพ ราคาจับต้องได้”Ž

ง่ายที่สุดคือ ”Starvingtime เรื่องกินเรื่องใหญ่Ž” เป็นเหมือนบล็อกเกอร์ รีวิวอาหารเดือนหนึ่งเกือบ 300 ร้าน เราทำมาปีนี้ปีที่ 4 จึงมีร้านในมือหลายพันร้าน เกณฑ์แรกของการเลือกร้านคือ ทุกคนในทีมคิดว่า อร่อย-ดีŽ เราก็พยายามจะเชิญพวกนั้นมาก่อน เชื่อว่าสำหรับแต่ละคน รสนิยมเรื่องอาหารค่อนข้างจะคล้ายกัน ถ้าเรามองว่าอาหารอร่อย คนอีกประมาณ 70% ต้องมองว่าดีเหมือนกัน เช่น ทุกคนชอบกุ้งสดๆ วัตถุดิบดีๆ เหมือนกัน

– ก่อนหน้านี้ สตาร์ฟวิงไทม์จัดฟู้ดแฟร์มาบ้างแล้ว

เราทำสตาร์ฟวิงไทม์มาทั้งหมด 4 ปี เราไม่ค่อยมีความเชื่ออาหารที่เป็นท้องถิ่นเท่าไหร่ เพราะไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเรานัก แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราจับมือกับเครือมติชน ทำให้เห็นว่าอาหารท้องถิ่นหรืออาหารโซเชียลไม่ได้ห่างกันเลย เด็กก็บริโภคไก่ย่าง ส้มตำ ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้รังเกียจในการถ่ายรูป โพสต์เฟซบุ๊ก หรือแชร์โซเชียลมีเดียต่างๆ หรือแม้กระทั่งชอบทานอาหารที่มีชีสเยิ้มๆ ไส้กรอกต่างๆ นานา

โลกสมัยใหม่มันกลายเป็นว่า ทุกเพศทุกวัยสามารถทำผสมกันได้หมดเลย จึงรู้สึกแปลกใจมาก เพราะเราจัดอีเวนต์อาหารมาก่อนหน้านี้ 2 ปี เราไม่เคยสนใจเรื่องอาหารท้องถิ่นเลย แต่พอมาได้ทำกับมติชน ถือว่าค่อนข้างประทับใจ

– งานที่ออกมา ตรงกับภาพที่วาดไว้หรือเปล่า

ดีกว่า ยังคิดเลยว่าบูธสตาร์ฟวิงไทม์มีคนมาถ่ายรูปวันหนึ่ง 50 คนเราก็ดีใจแล้ว แต่กลายเป็นว่ามีคนเข้ามาทั้งวัน ชั่วโมงหนึ่งหลายสิบคน คำคมต่างๆ ที่เราทำไว้ หลายๆ คนก็ชอบ ถ่ายภาพแล้วติดแฮชแท็ก มาเยอะมาก

รู้สึกดีใจที่คนเยอะ คิดว่าน่าจะทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่มาร่วมงานกับเราค่อนข้างดีใจ มีกำลังใจในการขาย บางคนเคยขายไม่กี่ครั้ง แต่ของอร่อยจริงๆ เราก็ชวนมา บางคนกำลังจะเลิกขายอยู่แล้วเพราะมองว่าเป็นช่วงขาลงของเศรษฐกิจ พอได้มางานนี้เขาก็รู้สึกว่าของเรายังมีดีนะ ยังมีคนสนใจของเราตั้งเยอะ

ดีใจที่สุดคือ สามารถทำให้คนอย่างน้อย 1 แสนคนได้มีโอกาสลองอาหารใหม่ๆ เพราะบางร้านไม่มีขายทั่วไปจริงๆ บางร้านต้องไปขอร้องให้มาออก หรือบางร้านอร่อยมาก ไม่เคยออกอีเวนต์มาก่อน ทำให้คนที่มาร่วมงานได้กินอาหารที่แปลกใหม่

รู้สึกว่าความตั้งใจต่างๆ ที่เราตั้งใจไว้ตอนแรกมันสัมฤทธิผลได้ดี ดีใจที่คนมาร่วมงาน ได้รู้สึกถึงความตั้งใจของเราจริงๆ

– ช่วงแรกของการเป็นบล็อกเกอร์ มีเหตุการณ์ที่ทำให้เศร้ามาก

ช่วงแรกๆ เริ่มมีดารามาฟอลโลว์ มีคนฟอลโลว์เยอะขึ้น ทำไปได้สักพักมีคนตามหลักหมื่น เริ่มมีร้านค้าติดต่อให้เราไปรีวิว ตอนนั้นเรายังไม่รู้เลยว่าบล็อกเกอร์คืออะไร

ทำไปเรื่อยๆ เริ่มมีคนติดต่อให้ไปกิน ร้านแรกๆ ที่ไปเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น ไปกัน 4 คน แต่ร้านจัดอาหารมาให้อลังการมาก เหมือนกิน 10 คน ทุกอย่างดีมาก-อร่อยมาก เราชมทุกอย่าง กลับมาบอกเพื่อนว่าต้องไปร้านนี้นะ มันอร่อยจริงๆ ไม่ถึง 2 สัปดาห์ต่อมา มีคนโทรมาด่าผมเต็มเลย ต่างบอกว่ารูปที่เราโพสต์ไม่เหมือนที่เขาได้ ช่วงนั้นรู้สึกว่าตกต่ำมาก ใครจ้าง ใครเชิญก็ไม่ไป-นั่นเป็นปีแรก

แต่หลังๆ คนเริ่มติดต่อเข้ามาเยอะ ก็คิดว่าจะจัดการกับปัญหาอย่างไรดี แค่เราไม่อยากเล่าให้คนอื่นฟังในสิ่งที่มันไม่ใช่ความจริง จึงบอกกับร้านที่ติดต่อเข้ามาว่า หากวันไหนมีโอกาสจะไปกินเอง แล้วเดี๋ยวจะลงให้

– คีย์เวิร์ดของการรีวิวอาหารของสตาร์ฟวิงไทม์ ที่ไม่เหมือนใคร

ถ้าเห็นโลโก้จะเป็นตัว ST เราพยายามจะบอกว่ามันเป็นปาก ทุกวันนี้เราก็ยังเป็นอย่างนั้น คือพยายามให้เป็นปากต่อปาก อยากให้สตาร์ฟวิงไทม์เป็นเพื่อนคู่กินของคนคนหนึ่ง เพื่อนที่มีรสนิยมธรรมดา แต่จะเล่าทุกอย่างให้คุณฟังว่า เรื่องราวของร้านนี้มันเป็นอย่างไร อร่อยมากในความคิดของเราก็พูดออกมาตรงๆ กุ้งตัวใหญ่ กุ้งตัวเล็ก เพราะไม่มีใครรู้ว่าเราไปร้านไหน เราลองมาหลายวิธีจนกระทั่งเป็นบริษัทสตาร์ฟวิงไทม์ทุกวันนี้

ความสุขของการทำงานนี้คือได้เล่าให้คนอื่นฟัง ว่าอาหารต่างๆ เป็นอย่างไร ทำให้คนที่ตามไปกินรู้สึกว่าได้กินเหมือนกัน สองคือ เราได้ช่วยเหลือร้านค้าหลายๆ ร้าน

– การได้ช่วยเหลือ คือกำไรของงานนี้

ครั้งหนึ่งไปเที่ยวต่างจังหวัด เขาก็ขายของเขาไป แล้วเราก็ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอแล้วเขียนรีวิว แล้วพอมาลงมันกลายเป็นกระแสขึ้นมา คลิปนั้นถูกแชร์ แล้วร้านเขามียอดขายถล่มทลาย เขาสืบจนรู้ว่าสตาร์ฟวิ่งไทม์ทำ เขาก็ไลน์มาขอบคุณ จากที่ขายไม่ค่อยได้ วันนี้กลายเป็นร้านประจำจังหวัด

ทำให้ทุกวันนี้ สตาร์ฟวิ่งไทม์มีทีมโลคอล ที่ไปค้นหาร้านเด็ดในหลืบในซอก แล้วมาบอกคนอื่น เพราะอยากให้คนไทยได้หาของอร่อย ได้กินสิ่งที่ดี เหมือนเราเป็นตัวกลางที่ทำให้สองอันนี้มาเจอกัน

– ตลอด 4 ปีของการทำสตาร์ฟวิ่งไทม์ เห็นเทรนด์อาหารในบ้านเราอย่างไร

เทรนด์เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วจนถึงตอนนี้เปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะมากเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว อาหารโซเชียลยังไม่มี เพิ่งมา 1.5-2 ปีที่ผ่านมานี่เอง เป็นพวกแฮมเบอร์เกอร์ อาหารสำหรับวัยรุ่น แต่ระยะหลังเริ่มมีกิมมิค ส่วนหนึ่งอาจเพราะเมืองไทยกับต่างชาติสื่อสารกันง่ายขึ้น เทรนด์อาหารของต่างชาติหลายๆ เทรนด์เข้ามาอยู่ในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหารเกาหลี อาหารจีน อาหารญี่ปุ่น ไต้หวันเองก็มา แม้กระทั่งชีสต่างๆ ความรู้ด้านอาหารจากต่างประเทศเข้ามาอยู่ในเมืองไทยมากขึ้น หรือแม้กระทั่งอาหารโมเรกกูล่า หรือไนโตรเจนเหลวที่มีควัน เริ่มมากขึ้น

ดังนั้น เทรนด์อาหารสมัยก่อนของคนไทยจะเป็นอาหารธรรมดา ที่เห็นแล้วอยากถ่ายรูป สังเกตเมื่อ 4 ปีที่แล้วคนจะถ่ายรูปอาหารทะเลลงโซเชียล อย่างกุ้งเผา ผ่านมา 2 ปีครึ่ง เริ่มเป็นอาหารโซเชียลมากขึ้น เน้นหน้าตาของอาหารมากขึ้น ผ่านไปประมาณ 4-5 เดือน เริ่มเป็นอาหารที่เน้นความใหญ่ บิ๊กเบิ้ม เช่น บะหมี่จอมพลัง ผ่านไปอีกนิดเริ่มเป็นอาหารโซเชียลมากๆ อย่างชีสยืดๆ ไนโตรเจน หรืออาหารที่ถ่ายรูปแล้วได้ยอดไลค์เยอะๆ เริ่มมากขึ้น จนช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เทรนด์อาหารค่อนข้างชะลอตัวลง เหมือนผู้บริหารเริ่มหมดมุขในทรัพยากรที่มีอยู่ และมีเรื่องการผสมผสานของอาหารสมัยก่อนและอาหารสมัยใหม่เข้ามา แต่ไม่ได้เป็นกระแสขนาดนั้น

สิ่งที่เราสังเกตเห็นได้คือ อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก หรือสแนปแชต 50% ของภาพที่อัพโหลดจะเป็นภาพอาหาร ต่อให้เป็นคนไม่ชอบอาหารก็ต้องมี อีก 30% เป็นภาพเซลฟี่ และอีก 20% จะเป็นไลฟ์สไตล์ของเขา เช่นสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

อาจกล่าวได้ว่า เทรนด์อาหารตอนนี้ไม่มีอะไรเด่นชัด แต่คนไทยยังชอบถ่ายและแชร์เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับอาหาร มันกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต

– ได้ชิมอาหารมามาก ชอบไปร้านไหน

ส่วนตัวชอบอาหารไทยกับอาหารญี่ปุ่นเราชอบหาร้านที่ไม่มีคนรู้จัก ซึ่งวิธีหาร้านที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักของผมคือขอติดสอยห้อยตามไปกับทีมโลคอล แล้วถามคนในท้องถิ่นว่า ปกติกินมื้อเที่ยงที่ไหน ร้านไหนถือเป็นร้านอร่อย เช่นที่บางลำพู มีร้านกระเฉดผัดกุ้ง 3 ร้าน ร้านหนึ่งเป็นร้านดัง มีป้ายทุกสำนักไปให้รางวัล แต่มีร้านหนึ่งที่เราไปคุย ว่าเป็นร้านของจริง เจ้าแรกเลย เป็นป้าแก่ๆ แต่กินแล้วเหมือนขึ้นสวรรค์เลย-นี่แหละสิ่งที่ต้องการ

ส่วนอาหารญี่ปุ่น หลักๆ เป็นพวกซูชิและราเมน ซูชิก็มีตั้งแต่แบบทั่วไปถึงแบบโอมาคาเสะ ที่เชฟจัดให้-เนื่องจากเป็นคนชอบเรียนรู้ บางคน Learning by Doing ส่วนเรา Eating and Learning ในเวลาเดียวกัน อาหารสำหรับเราจึงเป็นมากกว่าอาหารที่กินเข้าไป

เช่นของบางอย่างที่ไม่น่าเอามาทำอาหารได้-เช่น ก้อนหิน เกลือ หรือบางอย่างที่เรามองว่าเป็นของไม่มีค่า ถูกนำมาเป็นตัวซัพพอร์ต หรือการไปกินซูชิ คนทั่วไปจะคุ้นเคยว่าเนื้อแซลมอนสีส้ม แต่โอมาคาเสะทำให้รู้ว่ามีเนื้อแซลมอนสีชมพู ปีหนึ่งจะมีแค่เดือนเดียวที่มี และเดือนนั้นมีปลา 1 ตัวจาก 3 ล้านตัวที่มีเนื้อสีชมพู นี่คือสิ่งที่เราไม่เคยคิด

จากนั้น เวลาที่หาของกินก็ต้องมีหลัก 2 อย่าง คือวันนี้จะไปเรียนรู้ หรือวันนี้จะไปกินเพื่อหาของแปลก

– ระหว่างประโยค กินเพื่ออยู่Ž กับ อยู่เพื่อกินŽ คิดว่าเราเหมาะกับคำไหน

ถ้าถามตอนนี้ คงเป็น อยู่เพื่อกินŽ (หัวเราะ) ตั้งแต่มาทำงานนี้ ชอบอาหาร อยากหาอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ทุกวันนี้ถ้าไม่ติดอะไรมาก ต้องคิดแล้วว่าจะกินอะไร ไม่ใช่แค่ความสะดวกสบายหรือความง่ายแล้ว แต่ต้องไปหาอะไรเพื่อกินจริงๆ มันคือความสุข

การใช้ชีวิตของเราคือการได้เจออะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับอาหาร ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ แค่ได้คุยกับเจ้าของร้านก็มีความสุขแล้ว ทุกวันนี้จึงเหมือนกับ อยู่เพื่ออาหารŽ

%e0%b8%ad%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a333

 

ที่มา มติชน