ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | กฤช เหลือลมัย |
เผยแพร่ |
แหล่งปลูกเร่วสำคัญตอนนี้คงเหลืออยู่ที่เขาสอยดาว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี แต่เมื่อเกือบสองร้อยปีก่อน หลักฐานเอกสารจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 ระบุว่า เฉพาะเพียงใน พ.ศ.2378 ราชสำนักกรุงเทพฯเก็บส่วยผลเร่วจาก 11 หัวเมืองอีสานได้มากถึง 26.6 ตัน แถมการส่งส่วยเร่วเข้ากรุงเทพฯนั้น นอกจากมาทางหัวเมืองอีสานและลาว อย่างสาละวัน จำปาสัก อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ สุวรรณภูมิ สุรินทร์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ ยังมีมาจากหัวเมืองภาคตะวันออก อย่างปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา กบินทร์บุรี วัฒนานคร นครนายก และหัวเมืองในเขตภาคกลาง อย่างกำแพงเพชร สุพรรณบุรี และสระบุรีด้วย
มันแสดงให้เห็นว่า แต่ก่อนความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศบ้านเราต้องมากกว่าปัจจุบันนี้แน่ๆ เร่วถึงสามารถแตกดอกออกผลได้ แม้ในเขตเมืองสุพรรณบุรีหรือกำแพงเพชรเชียวนะครับ
ตลาดใหญ่น้อยในเมืองจันทบุรีทุกวันนี้มีหน่อเร่วขายมากบ้างน้อยบ้างตามแต่สภาพอากาศในแต่ละช่วงของปี ใครที่ชอบเอาเร่วมาปรุงอาหาร ก็ซื้อหามานะครับ แล้วหั่นเป็นท่อนๆ ผึ่งแดดผึ่งลมให้แห้ง อย่างนี้จะเก็บได้นานเลยแหละ เมื่อไหร่เราเอาใส่หม้อต้ม มันก็จะพองตัวขึ้น กลิ่นหอมแม้ไม่สดเหมือนเดิม แต่จะเปลี่ยนเป็นหอมลึกๆ มีเสน่ห์ไปอีกแบบ
กับข้าวเร่วๆ ที่ผมชอบทำกินมีอยู่อย่างหนึ่ง คือ “เนื้ออบเร่ว” ครับ หน้าตาเป็นเนื้อน้ำแดงข้นๆ ที่มีกลิ่นเร่วหอมเด่นเป็นเอกลักษณ์ ทำง่ายมากๆ ครับ โดยเราหาเนื้อวัวส่วนที่ชอบกินมา ผมชอบเนื้อสามชั้น ก็หั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม เรียงในหม้อเคลือบ แล้วเอาเครื่องเทศสมุนไพรปรุงรสปรุงกลิ่นแซมแทรกลงไป ที่ใช้ในหม้อนี้ก็มีหัวกระเทียม ลูกกระวานขาว ใบเบย์ (bay leaf) โป้ยกั๊ก อบเชย ส่วนของสำคัญ คือ เร่ว นั้น ก็หักเป็นท่อนๆ ปรุงรสเค็มอ่อนๆ ก่อนด้วยเกลือ ซีอิ๊วดำเค็ม รสหวานด้วยน้ำตาลอ้อย ซีอิ๊วดำหวาน เติมกลิ่นหอมด้วยเหล้าข้าวเจ้ากลั่นคุณภาพดีๆ
พอครบแล้วก็ใส่น้ำให้ท่วมเนื้อ ตั้งไฟจนเดือด จากนั้น รุมไฟอ่อนๆ ไปราวชั่วโมงเศษๆ จนเนื้อเปื่อยนุ่ม
ระหว่างตุ๋นอบนี้ หากน้ำแห้งก็คอยเติมไว้ อย่าให้ไหม้ก้นหม้อนะครับ
เมื่อจะกิน ก็ละลายแป้งท้าวยายม่อม หรือแป้งมัน แป้งข้าวโพด แล้วแต่ชอบครับ (แป้งท้าวฯ จะเหนียวข้นดี ไม่คืนตัวง่ายๆ) ใส่เติมในหม้อสักถ้วยเล็กๆ พอให้น้ำเนื้อของเราข้นเหนียวตามที่ต้องการ
ทีนี้ก็ตักใส่จานชาม โรยต้นหอมผักชีซอย กินเหยาะน้ำซอสอะไรที่โปรดปราน เช่น จิ๊กโฉ่ว ซีอิ๊วขาว หรือน้ำปลาพริกขี้หนูมะนาวก็ยังได้
ขอให้นึกถึงเวลาไปกินข้าวร้านจีนไหหลำบางร้าน ที่เขาจะมีเสิร์ฟข้าวหน้าเนื้อ โดยใช้ “หัวเชื้อ” ข้นๆ ของหน้าขนมจีนไหหลำ (ยังไม่ได้ใส่น้ำซุปใสๆ) ราดมาบนข้าวสวยร้อนๆ เราก็สามารถทำอย่างนั้นกับเนื้ออบเร่วหม้อนี้ได้นะครับ มันก็จะกลายเป็น “ข้าวหน้าเนื้ออบเร่ว” หอมกลิ่นสมุนไพรสไตล์บูรพาทิศที่ใครได้กินแล้วต้องลืมไม่ลงเลยแหละ
ถ้าไม่อยากกินแบบสตูเขละๆ ก็งดเติมน้ำแป้ง แต่เติมน้ำเปล่าลงไปอีกให้ใสจนเป็นซุป เมื่อจะกินก็อุ่นให้ร้อน โรยขึ้นฉ่ายหั่นเพิ่มความสดชื่นสักหน่อย
แบบนี้ก็ไม่เลวหรอกครับ