ข้าวเงี้ยว หรือ “ข้าวกั้นจิ้น” ข้าวสวยหุงร้อนคลุกเลือดหมูสด ตะไคร้ หมูสับ ปรุงรสด้วยเกลือ เมนูจากรัฐฉานสู่ล้านนา

“ข้าวเงี้ยว” หรือ “ข้าวกั้นจิ้น” นั้นชาวล้านนารู้จักกันดี คำว่า “เงี้ยว” ได้บอกที่มาของอาหารชนิดนี้ไว้ชัดเจนว่ามาจากชาวเงี้ยวที่เรียกตนเองว่า “ไตโหลง” (ไทหลวง) หรือที่ชาวสยามนิยมเรียกว่า “ไทใหญ่” หรือ “เงี้ยว” นั่นเอง ส่วนคำว่า “กั้นจิ้น” เป็นภาษาคำเมือง “กั้น” หมายถึง คั้น บีบนวดคั้น ประมาณนี้ ส่วนคำว่า “จิ้น” หมายถึงเนื้อ เช่น จิ้นงัว จิ้นควาย หมายถึง เนื้อวัว เนื้อควาย จิ้นส้ม หมายถึงแหนม

“ข้าวกั้นจิ้น” จึงหมายถึงข้าวที่มีการบีบคั้นกับเนื้อ โดยจะนำเลือดหมูสดไปคั้นกับตะไคร้เพื่อดับคาว แล้วคลุกลงไปในข้าวสวยที่หุงไว้คลายร้อนแล้วพร้อมกับหมูสับ ปรุงรสด้วยเกลือ เหยาะซีอิ๊วสักหน่อยก็หอมดี ใครติดหวานก็ใส่น้ำตาลลงไปนิดหน่อย และที่จะทำให้อร่อยคือน้ำมันกระเทียมเจียว ใส่ลงไปแล้วคลุกไปนวดไปให้เครื่องทั้งหลายนั้นเข้ากันดี จึงนำมาห่อใส่ใบตองมัดด้วยตอก หรือกลัดด้วยไม้กลัดแล้วนำไปนึ่งให้สุก

เปิดห่อใบตองมาควันฉุยหอมฟุ้ง ตักกระเทียมเจียวราด จะให้เด็ดก็มีกากหมูด้วย กินแนมกับพริกแห้งทอดและผักสดที่เข้ากันดีคือหอมแดง แตงกวา และผักชี อร่อยอย่าบอกใคร นึกภาพตามแล้วน้ำลายปุ๊ ก็มันของโปรดของฉันเลยนี่นา ตามปกติเขาก็กินกันเท่านี้ แต่ใครจะประยุกต์ไปกินกับกับข้าวอย่างอื่นก็อร่อย ส่วนตัวฉันชอบกินกับแกงฮังเล รู้สึกเอาเองว่ามันเข้ากันดี

ข้าวเงี้ยวนี้น่าสนใจตรงที่ใช้ข้าวเจ้าแตกต่างจากข้าวที่นิยมกินกันในล้านนาที่จะเป็นข้าวเหนียว การห่อข้าวใส่ใบตองก็คงเพื่อความสะดวกในการพกพาเป็นเสบียงกรังยามเดินทางไปกับกองคาราวานวัวต่างไปค้าขายไกลบ้านของชาวไตโหลงในอดีต สำหรับชาวเหนือแล้วนิยมกินกันทั่วไปดังจะเห็นว่ามีขายในตลาดสดและร้านอาหารเมือง