จาก “เกษร” คลองโคน ถึง ตลาดร่มหุบ

ชวนเพื่อนไปกินปูไข่กันที่ร้านเกษร ตำบลคลองโคน จากนั้นก็มุ่งหน้าไปเที่ยวตลาดร่มหุบ ที่อำเภอแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ความสนุกจี๊ดจ๊าดกันพอสมควร

ร้านเกษรโด่งดังในเรื่องอาหารทะเลทุกชนิด โดยเฉพาะปูทะเลไข่นึ่ง ที่มีไข่ล้นกระดอง หวานมันเต็มปากเต็มคำ คุณภาพสมราคา ดังนั้น คนกรุงผู้โหยหารสชาติปูทะเลที่ไม่ไกลจากเมืองหลวงนักจึงแห่แหนไปกินกันแน่นขนัดในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และเริ่มลามไหลมาถึงวันธรรมดากันแล้ว

อันว่าตำบลคลองโคนนั้นมีกิจกรรมโดดเด่นในด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สภาพแวดล้อมบริเวณปากอ่าวแม่กลอง คือการปลูกป่าชายเลน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 โดย คุณไพบูลย์ รัตนพงศ์ธระ หรือ ผู้ใหญ่ชงค์ ชักชวนชาวบ้านช่วยกันปลูกป่าชายเลนขึ้นใหม่ในพื้นที่ตำบลคลองโคน หลังจากป่าถูกบุกรุกทำลายอย่างหนักเพื่อทำนากุ้งจนทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่หร่อยหรอ อาชีพประมงพื้นบ้านที่ทำกินกันมาตั้งแต่โบราณไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้อีกต่อไป ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพไปขายแรงงานที่อื่น

การร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนอย่างจริงจัง ประกอบกับได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเห็นความสำคัญของการปลูกป่าชายเลนคลองโคน เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกป่าที่นี่ด้วยพระองค์เองในปี พ.ศ. 2540, 2541, 2542, 2545 และ 2547 ได้ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนมากกว่า 2,000 ไร่แล้ว จนความอุดมสมบูรณ์ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง 

ดังนั้น นอกจากการเดินทางไปกินอาหารทะเลสดๆ ที่คลองโคนแล้ว ใครสนใจอยากนั่งเรือหางยาวชมพื้นที่ป่าชายเลน นกน้ำนานาชนิด รวมทั้งลิงแสม และสัมผัสกับชีวิตชาวประมงอย่างใกล้ชิด ก็สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน ซึ่งจะจัดเตรียมเรือหางยาว กระดานเลน กล้าไม้ และอุปกรณ์การปลูกป่า ไว้ให้บริการครบครันสำหรับผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมฟื้นฟูป่าชายเลน

คลองโคนอยู่ใกล้กรุงเทพฯ มาก ขับรถประมาณชั่วโมงเศษ เดินทางสะดวก โดยใช้ถนนพระราม 2 เส้นทางที่เราใช้เดินทางไปหัวหินกันเป็นประจำนั่นเอง เมื่อข้ามสะพานแม่น้ำแม่กลองให้คอยสังเกตปั๊มน้ำมัน ปตท. ฝั่งซ้ายมือเอาไว้ จะเห็นซอยเข้าวัดคลองโคนอยู่ข้างๆ ปั๊มน้ำมันเลย เลี้ยวรถวิ่งตรงเข้าไปจะมีป้ายร้านอาหารบอกทางอยู่เป็นระยะ คู่กับป้ายแหล่งท่องเที่ยวเส้นทางชมป่าชายเลนแถบนั้น หาไม่ยากเลย

ร้านเกษรเปิดมาได้ 4-5 ปีแล้ว แรกเริ่มเปิดเป็นร้านขายอาหารตามสั่งเล็กๆ และรับจ้างทำอาหารจัดเลี้ยงตามงานต่างๆ ต่อมาเมื่อมีนักท่องเที่ยวแวะมาอุดหนุนมากขึ้นจึงได้ขยับขยายเป็นร้านอาหารขนาดกลาง และสุดท้ายเมื่อลูกค้าหนาแน่นก็ต้องปรับปรุงสถานที่ใหม่ให้เป็นร้านอาหารขนาดใหญ่ โอ่อ่าราวกับศาลาวัด ขนาดสองสามร้อยที่นั่ง แต่กระนั้นคนก็ยังแน่นทุกวันจนแทบจะขี่คอกันกิน

แน่นอนว่าสุดยอดเมนูของที่นี่คือ ปูไข่ หรือปูเนื้อนึ่ง ซึ่งเป็นปูทะเลเนื้อแน่นๆ สดใหม่ทุกตัว มีหลายขนาดให้เลือก ตั้งแต่เล็ก กลาง ใหญ่ ขายกันเป็นกิโลกรัม ตั้งแต่ระดับราคา 500-800-1,000 บาท  

ตอนที่สั่งอาหารไม่ได้เดินเข้าไปดูในครัวหรอกนะ แต่เพื่อนที่มากินปูทะเลนึ่งที่นี่เป็นประจำเล่าให้ฟังว่า วิธีนึ่งปูให้อร่อยของร้านเกษร แม่ครัวจะใช้นมสดราดลงไปบนตัวปูที่ทำความสะอาดและผ่าแยกชิ้นไว้แล้วเพื่อช่วยดับกลิ่นคาวและทำให้เนื้อปูหวานมันขึ้น จากนั้นจึงนำขึ้นไปนึ่งบนเตาที่น้ำกำลังเดือดจัด นึ่งสุกแล้วทางร้านก็จะเสิร์ฟคู่กับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสชาติจัดจ้าน แค่นี้ก็กินกันอย่างสนุกถึงใจ มือไม้เลอะเทอะกันไปหมด

เมนูแนะนำอื่นจะเน้นอาหารซีฟู้ดเป็นหลัก เพราะใกล้แหล่งวัตถุดิบจากท้องทะเล ไม่ว่าจะเป็น ปู หมึก กุ้ง หอย ปลา ที่ออกไปซื้อจากตลาดทุกเช้าแบบไว้วันต่อวัน จึงรับรองได้ว่า มาที่ร้านนี้จะได้ชิมอาหารทะเลสด ใหม่ หวาน อร่อย ในราคาแบบกันเองแน่นอน

นอกจากปูนึ่งเมนูที่ห้ามพลาดเด็ดขาดก็คือ กุ้งผัดพริกขี้หนู จานนี้ราคา 200 บาท ใช้กุ้งขนาดกำลังดี ผัดเข้าเนื้อกับพริกขี้หนูและกระเทียมสับมาก กลิ่นกระเทียมคั่วหอมจัดโดดเด่น แต่ก็ไม่เผ็ดอย่างที่คิดหรอกนะ รสชาติกลมกล่อมกำลังดี หอม เค็ม มัน หวาน เผ็ดนิดๆ เป็นเอกลักษณ์ของร้านนี้เลย เราไปกัน 8 คน ปรากฏว่าโปรดปรานจานนี้กันมากถึงกับมีสั่งเบิ้ล

จานแนะนำของทางร้านต่อมาคือ ยำชะครามกุ้งสด เสิร์ฟมาจานใหญ่มาก แต่ราคาแค่ 80 บาท เป็นเมนูเด็ดอีกอย่างของทางร้าน และเป็นจานโปรดของ “คนรักผัก” เลยแหละ เพราะใบชะครามหากินได้เฉพาะในพื้นถิ่นแถบนี้ เอามาปรุงเป็นยำรสแซ่บ โรยหอมเจียวหวานหอมมาด้วย กินแล้วรู้สึกสดชื่นมาก รสชาติอร่อยถึงเครื่อง ติดไปทางหวานนิดๆ

ที่อร่อยอีกอย่างก็คือ ปลาหมึกผัดกะปิ จานนี้ก็ถูกแค่ 100 บาท ชอบสไตล์การผัดของร้านที่ผัดออกมาแล้วปลาหมึกหอมตัวโตๆ ไม่เหนียวและไม่แห้ง ให้รสสัมผัสกรุบกรึบหนุบหนับ นุ่มหวานอยู่ข้างใน รู้สึกได้ว่ากำลังกินปลาหมึกสดๆ เคล้ากะปิชั้นดีของคลองโคน จานนี้ต้องมีข้าวสวยเข้าคู่ด้วยถึงจะอร่อยเด็ด

อาหารอื่นๆ ที่เราสั่งมากินกันล้วนแต่เป็นอาหารแนะนำของทางร้าน เช่น กุ้งอบเกลือ หอยจ๊อปู ปลาทูต้มมะนาว ปลากะพงทอดน้ำปลา ซึ่งก็มีในรายการอาหารของร้านอื่นๆ ที่เคยกินกันมาหมดแล้ว ไม่ได้โดดเด่นประทับใจเท่ากับ 4 รายการเด็ดที่พูดถึง  

สรุปแล้ว การที่คนแห่มากินกันแน่นขนัดก็เพราะราคาอาหารของร้านเกษรค่อนข้างสมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับความสดและรสชาติ มีแต่ปูกับกุ้งเท่านั้นที่ราคาสูงตามท้องตลาด จึงไม่แปลกเลยที่คนส่วนใหญ่จะต้องรีบไปจองโต๊ะกันก่อนเที่ยง หรือไม่ก็โทรศัพท์จองที่นั่งไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นอาจต้องรอคิวสั่งอาหารนานหน่อยในช่วงมื้อกลางวัน ซึ่งเป็นช่วงพีกของวันตลอดสัปดาห์

หลังจากอิ่มจนพุงกาง ห่วงยางขยายคับเสื้อ พวกเราก็ขยับตัวออกจากร้าน แต่เนื่องจากมีเวลาน้อยไม่เหมาะแก่การไปเที่ยวชมป่าชายเลน จึงมุ่งหน้าย้อนกลับไปเข้าเมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม เพื่อไปเที่ยวชมตลาดแม่กลอง และ “ตลาดร่มหุบ” ซึ่งอยู่ติดกันบนทางรถไฟนั่นเอง

ตลาดแม่กลองก็ไปไม่ยาก ตั้งอยู่กลางเมืองสมุทรสงครามเลย ขอให้หาป้ายไปให้ถึงตัวจังหวัดก็จะพบตลาดแม่กลองเอง หรือไม่ก็หาทางไปวัดหลวงพ่อวัดบ้านแหลม หรือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดดังของที่นี่ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานองค์หลวงพ่อบ้านแหลม พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแม่กลอง ใครผ่านไปผ่านมาต้องแวะขอพรสักการะกราบไหว้กันทุกคน หาที่จอดรถตรงหน้าวัดซึ่งเป็นลานจอดขนาดใหญ่แล้วเดินต่อไปที่ตลาดอีกราว 300 เมตร จะสะดวกที่สุด เพราะแถวตลาดไม่ค่อยมีที่จอดรถ

ระหว่างทางจากคลองโคนไปตลาดแม่กลองเราจะเห็นนาเกลืออยู่เป็นระยะ พร้อมร้านขายเกลือเม็ดใหม่ๆ ที่บรรจุถุงไว้จำหน่าย นาเกลือที่นี่เป็นการผลิตเกลือแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยใช้กังหันทดน้ำทะเลมาขังไว้ในแปลงนาแล้วใช้แสงแดดเผาให้น้ำระเหยจนตกผลึกกลายเป็นเกล็ดเกลือ เกลือที่ได้ในแถบนี้จะเรียกว่า เกลือสมุทร ที่ได้รับความนิยมมากคือ เกลือชั้นแรก ที่เรียกว่า ดอกเกลือ

แต่เราไม่มีเวลามากพอที่จะแวะนาเกลือจึงตรงดิ่งเข้าตลาดแม่กลองเลย โดยหวังว่าจะได้เห็นบรรยากาศร่มหุบอย่างมีชีวิตชีวาขณะที่รถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลองวิ่งผ่าน

ไหว้พระหลวงพ่อบ้านแหลมเสร็จประมาณบ่าย 3 โมงแล้ว พวกเราก็ทำตัวเป็นพระยาน้อยเดินชมตลาดจำพวกรถเข็นริมทางไปเรื่อยพอให้เหงื่อซึม สักพักใหญ่ก็ไปถึงสถานีรถไฟแม่กลองซึ่งตัวสถานีอยู่ฝั่งขวามือของทางเดิน และ “ตลาดร่มหุบ” เรียงรายอยู่ริมรางรถไฟทางซ้ายมือยาวเหยียด ซึ่งบริเวณติดกันนั้นเป็นตลาดขนาดใหญ่ภายใต้หลังคามิดชิด เรียกว่า “ตลาดแม่กลอง”

สำหรับตลาดร่มหุบมีอีกชื่อหนึ่งว่า ตลาดรถไฟ เป็นส่วนหนึ่งของตลาดเทศบาล จังหวัดสมุทรสงคราม เริ่มเปิดมาเมื่อปี พ.ศ. 2527 บนทางรถไฟสายแม่กลอง-บ้านแหลม โดยพ่อค้า-แม่ค้า จะตั้งแผงขายของสองข้างทางรถไฟ ส่วนลูกค้าก็อาศัยทางรถไฟเป็นที่จับจ่ายซื้อของ

ที่ตลาดแม่กลองแห่งนี้ นอกจากอาหารสด อาหารแห้ง มีราคาถูกและคุณภาพดีแล้ว เสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมกันจำนวนมากก็คือ “ตลาดร่มหุบ” นี่เอง ซึ่งแม่ค้าที่วางขายข้าวของเรียงรายริมทางรถไฟเป็นระยะทางกว่า 100 เมตร จะรีบหุบร่มตอนรถไฟวิ่งเข้า-ออกสถานีรถไฟแม่กลองทุกครั้ง เป็นภาพที่สุดแสนอะเมซิ่ง ตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็นทั้งไทย-เทศ

กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้มุ่งหน้ามาเที่ยวชมตลาดร่มหุบเพราะทุกวันขบวนรถไฟจะวิ่งผ่านตลาดร่มหุบ วันละ 8 รอบ โดยประมาณ ตามตารางเวลาการเดินรถ ดังนี้ คือ 08.30 น., 11.10 น., 14.30 น., 17.40 น. และออกจากสถานีแม่กลองเวลา 06.20 น., 09.00 น., 11.30 น., 15.30 น.

โดยปกติแล้วเมื่อรถไฟมาถึงบริเวณโค้งก่อนเข้าตลาด พนักงานขับรถไฟจะส่งเสียงหวูดดังสนั่น เพื่อเป็นสัญญาณให้พ่อค้าแม่ค้ารู้ตัวว่าต้องหุบร่มและรีบเก็บข้าวของที่วางกีดขวางทางรถไฟได้แล้ว

ทันทีที่ได้ยินเสียงหวูดรถไฟก็จะเกิดความโกลาหลของเหล่าบรรดาพ่อค้าแม่ขายที่ต่างพร้อมใจกันหุบร่มและรีบเก็บข้าวของตัวเองที่วางระเกะระกะอยู่ริมทางรถไฟให้เรียบร้อยในพริบตาเพื่อเปิดทางให้รถไฟผ่าน

บรรยากาศในช่วงสี่ห้านาทีสั้นๆ ของความอลหม่านนั้นเป็นภาพที่สนุกสนานเร้าใจของผู้ไปคอยเฝ้าชม ซึ่งต่างก็รู้สึกหวาดเสียวขณะเห็นรถไฟวิ่งผ่านแผงขายของที่ตั้งเรียงรายอยู่สองฟากฝั่งชนิดตู้รถไฟวิ่งเบียดหน้าแม่ค้าไปแค่ฝ่ามือเดียวเท่านั้น และน่าเสียวไส้จริงๆ ว่าสินค้าที่วางอยู่กับพื้นข้างทางนั้นจะโดนรถไฟทับบี้แบนกันไปหมด

แต่พอรถไฟผ่านพ้นไปแล้วทุกสิ่งอย่างก็กลับมาดำเนินไปตามปกติ ไม่มีข้าวของชิ้นใดเสียหาย ร่มกันแดดถูกกางขึ้นมาใหม่ กระจาดสินค้าทั้งหลายยังวางไว้ที่เดิมและของที่ถูกเก็บเข้ามาชั่วคราวก็ถูกดันออกไปขวางรางรถไฟไว้อีกครั้ง

เสียงแม่ค้าพ่อค้าร้องขายของดังเซ็งแซ่ขึ้นมาใหม่และลูกค้าทั้งหลายก็เดินออกมาเลือกซื้อหาจับจ่ายสินค้าที่ต้องการอีกรอบ

ทั้งวันจะเป็นกันแบบนี้ตลอด ยกเว้นในช่วงปิดปรับปรุงทางที่สร้างความผิดหวังอย่างแรงให้พวกเรานี่เอง

เหล่านี้คือมนต์เสน่ห์ของ “ตลาดร่มหุบ” ที่แสนจะเร้าใจผู้คนด้วยจุดขายเรื่องความเสี่ยงที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครเพราะตั้งแผงขายแบบประชิดรางรถไฟ เวลารถไฟมาก็ต่างรีบหุบร่มที่กางและเก็บสินค้าภายในพริบตา จนเป็นที่มาของชื่อ ตลาดร่มหุบ นั่นเอง

แต่ไหนๆ ก็มาถึงตลาดแม่กลองแล้ว เราไม่ยอมให้ความผิดหวังแค่เรื่องเดียวทำลายบรรยากาศการเดินเที่ยวตลาดอันทรงเสน่ห์นี้แน่นอน