จบ ป.โท ไม่อายทำกิน ช่วยแม่ขายปลาร้า เติมไอเดียคนรุ่นใหม่ ใช้งานง่าย – รสชาติถูกปาก กิจการขนาดเล็กในจังหวัดปทุมฯ สร้างรายได้นับล้านบาทต่อเดือน

หลังจบปริญญาโท ฐานะลูกสาวคนโต อายุ 34 ปี อาสาเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว ด้วยการขายปลาร้าที่ตลาดไท เติมไอเดียปรุงรสชาติจัดจ้านถูกใจร้านส้มตำ พร้อมบรรจุลงขวดใช้งานง่าย ได้เครื่องหมาย อย. การันตีความสะอาดปราศจากสารเคมี โดนใจลูกค้าถ้วนหน้า กิจการเล็กๆ ในจังหวัดปทุมธานี แต่สามารถสร้างรายได้ต่อเดือนนับล้านบาทเลยทีเดียว

คุณพัชร์อริญ สายจันทร์ หรือ คุณโอ๋ เจ้าของร้านปลาร้าเงินล้าน ช.วันดี เท้าความว่า เป็นลูกสาวคนโตมีน้องชาย 1 คน เดิมคุณแม่ทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาล ท่านมองเห็นว่าปลาร้า เป็นอาหารที่สามารถนำมาปรุงได้หลายเมนู คนไทยส่วนใหญ่ชอบทาน อีกทั้งไม่เน่า ไม่เสียง่าย ไม่ต้องกังวลว่าถ้าขายไม่หมดจะต้องเททิ้ง เลยตัดสินใจลาออกจากประจำ แล้วหันมาขายปลาร้า

คุณโอ๋ เล่าว่า แม่ใช้วิธีรับปลาร้ามาจำหน่ายต่อ ไม่ได้ทำเอง ไม่ต้มก่อนขายลักษณะรับมา – ขายไป โดยตักขายตามน้ำหนัก หน้าร้านตั้งอยู่ตลาดไท กระทั่งราวปี 2552 ตนเองเริ่มเข้ามาช่วยกิจการเต็มตัว

ช่วงที่ลูกสาวคนโตเข้ามาช่วยแม่ขายปลาร้า เธอคว้าใบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยศรีปทุม หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต เธอเกิดความคิดอยากเพิ่มมูลค่า พัฒนาสินค้า สร้างชื่อเสียง และสร้างความยั่งยืนให้กับกิจการ เลยเป็นที่มาของการนำปลาร้ามาต้มสุก ปรุงรสชาติเฉพาะตัว บรรจุขวดระบบพาสเจอไรซ์เพื่อฆ่าเชื้อโรค ใช้งานง่าย ผ่านการตรวจคุณภาพได้รับเครื่องหมาย อย.

“ปลาร้านับเป็นการถนอมอาหารที่เป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าของคนในสมัยโบราณ มักปรากฏมากในแถบภาคอีสานของไทยและลาว วัตถุดิบหลักทำจากปลาน้ำจืดขนาดเล็ก หมักกับรำข้าวและเกลือ บรรจุใส่ไห หมักทิ้งไว้ประมาณ 7 – 8 เดือน แล้วนำมารับประทานได้ รสชาติเค็มนำ”

เพื่อสร้างความแตกต่าง  หญิงสาวนำปลาร้ามาเพิ่มมูลค่าด้วยการปรุงรสชาติให้เป็นสูตรเฉพาะของทางร้าน มีด้วยกัน 5 สูตร สูตรแรก สูตรส้มตำรสเด็ด สูตรที่2สูตรส้มตำทำแกง สูตรที่ 3 สูตรส้มตำ+แกงเห็ด สูตรที่ 4 สูตรน้ำปลาร้าส้มตำเข้มข้น และสูตรที่ 5 สูตรน้ำปลาร้าต้มสุกสะดวกในการนำไปใช้ปรุงอาหาร เอกลักษณ์ของร้าน ปลาร้าจะกลิ่นไม่แรง คุณภาพดี สะอาด รสชาติกลมกล่อม

“ปลาร้าแต่ละสูตรจะแยกประเภทอย่างชัดเจน มีรสชาติเฉพาะตัว ลูกค้าไม่ต้องปรุงเพิ่ม เหมาะกับกลุ่มพ่อค้า แม่ค้าที่รับไปขายต่อ กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร  หรือแม้แต่ซื้อไปรับประทานเอง”

ปัจจุบัน เจ้าของร้านปลาร้าดังกล่าว ยังคงใช้วิธีซื้อปลาร้า แล้วนำมาผ่านกรรมวิธีต้มให้สุกด้วยระบบพาสเจอไรซ์  จากนั้นจำหน่ายต่อ 2 รูปแบบ คือ บรรจุขวด และตักขายตามน้ำหนัก พื้นที่โรงงานเป็นอาคารพาณิชย์ 2 คูหา ได้รับเครื่องหมาย อย.

ด้านราคาขาย ตักขายหน้าร้าน กิโลกรัมละ 70 บาท บรรจุขวดขนาด 500 กรัม ราคาขวดละ  35 บาท  ขายปลีก 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ขายส่ง มีส่งไปต่างประเทศด้วย อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ดูไบ  ประเทศนอร์เวย์  เฉลี่ยผู้ประกอบการรายนี้จะจำหน่ายปลาร้า 28,000 กิโลกรัมต่อเดือน

สำหรับช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้า คุณโอ๋ เผยว่า การตลาดในช่วงคุณแม่ จะเป็นลักษณะบอกปากต่อปาก แต่หลังจากที่ตนเองเข้ามารับช่วงต่อ เน้นใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น ทำคลิปแนะนำสินค้า ถ่ายรูปสถานประกอบการนำไปลงในโซเชียลมีเดีย Facebook, Line, Website เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ดีของปลาร้า

ด้านการแข่งขันธุรกิจปลาร้า เจ้าของกิจการ ระบุว่า ไม่รุนแรงเหมือนธุรกิจอื่น แต่ผู้บริโภคปัจจุบันมีความคาดหวังสูงมากในเรื่องของคุณภาพ ความสะอาด ความสะดวกสบายในการบริโภค  ดังนั้นทางร้านจึงต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง