อดีตเซลล์ ลาออกจากงานมาช่วยแม่ขายทุเรียน ไอเดียดีนำมาแปรรูป ส่งขายเซเว่น โกยเดือนละ 4 ล้าน

อดีตเซลล์ขายนาฬิกาจบปวช.ลูกชายคนโตแม่ค้าขายผลไม้ที่ชุมพร มองเห็นโอกาสทำเงินจากทุเรียนหมอนทอง ด้วยการนำมาเพิ่มมูลค่าเป็นขนม ตั้งชื่อยี่ห้อว่า “ชายน้อย” ช่วงแรกบุกตลาดร้านขายของฝากนาน 5 ปี ราวปี 51 ยกเครื่องกิจการให้มีมาตรฐาน จากนั้นเข็นสินค้าเข้าไปขายในเซเว่น อีเลฟเว่น โกยรายได้เดือนละ 4 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขายปี 60 ราว 130 ล้านบาท อีก 2 ปี ดันกิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์

นำทุเรียนมาเพิ่มมูลค่า หวังไกลขายใน 7-11
กระแสตอบรับดี โกยรายได้ 100 ล้าน

คุณสุรพงษ์ ณรงค์น้อย หรือคุณเอก ในวัย 39 ปี เจ้าของ บริษัทชายน้อยฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตทุเรียนทอดและกล้วยเล็บมือนางแปรรูป

แบรนด์ “ชายน้อย” เล่าที่มาธุรกิจว่า พื้นเพเป็นคนจังหวัดชุมพร เกิดและเติบโตมาท่ามกลางครอบครัวที่มีอาชีพค้าขาย โดยคุณแม่จะมีหน้าที่ไปตระเวนซื้อผลไม้ตามสวน จากนั้นนำไปขายต่อที่ตลาดสี่มุมเมือง จ.กรุงเทพฯ

กระทั่งปี 2546 คุณเอก บอกว่า หนึ่งในผลไม้ที่คุณแม่รับซื้อไปขายต่อ ก็คือ “ทุเรียน” ราคาตกเหลือเพียงกิโลกรัมละ 7 – 10 บาท จึงคิดหาหนทางเพิ่มมูลค่า นั่นคือ นำมาทอด แล้วส่งขายตามร้านขายของฝากแถบ จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งได้การตอบรับดี จากนั้นไม่นานรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ได้รับคัดเลือกเป็นโอทอป 4 ดาว ช่วยให้สินค้ามีช่องทางจำหน่ายที่กว้างขึ้น ส่งผลยอดขายดีขึ้นตามลำดับไปด้วย

หลังจากส่งทุเรียนทอดตามร้านของฝากได้ 4  ปี  ชายหนุ่ม เริ่มค้นหาช่องทางจำหน่ายใหม่ หวังจะเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งร้านสะดวกซื้อ คือ “คำตอบ”

“ผมอยากส่งสินค้าเข้าร้านเซเว่นฯ เลยไปติดต่อ นั่งรถทัวร์ไปกลับระหว่างชุมพร – สีลม นานเกือบปี ในที่สุดฝันก็เป็นจริง สินค้าตัวแรกที่ส่งเข้าร้านสะดวกซื้อ คือ ทุเรียนทอด ขนาด 25 กรัม เบื้องต้นได้วางที่สาขาหาดใหญ่และในบางพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

กว่าสินค้าจะสามารถนำไปวางในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีสาขา ราว 9,000 สาขา จำเป็นต้องมีมาตรฐาน เจ้าของกิจการ เล่าว่า ช่วงที่ทำทุเรียนทอด ก็ทอดแบบบ้านๆ แต่เมื่อทางเซเว่นฯ มาเห็น บอกให้ปรับปรุง ในเบื้องต้นลงทุน 2 ล้านบาท ปรับปรุงโรงงาน พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ให้ผ่านเกณฑ์ กว่าจะสำเร็จใช้เวลากว่า 8 เดือน เริ่มวางขายในปี 2552

5 ปีต่อมา ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในปี 2556 คุณเอกสร้างโรงงานใหม่ใช้งบลงทุน 10 ล้านบาท ได้ระบบ GMP และ HACCPเพื่อขยายกำลังการผลิต ส่งผลให้รายได้เติบโต ปี 2557 ราว 70 ล้าน ในปี 2559 รายได้ทั้งปี 100 ล้าน ส่วนปีนี้ตั้งเป้า 130 ล้านบาท

“ผมกระจายสินค้าหลายช่องทาง เพื่อผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม ประกอบด้วย ร้านขายของฝาก 10 เปอร์เซ็นต์ ขายส่ง 10 เปอร์เซ็นต์ เซเว่นอีเลฟเว่น 40 เปอร์เซ็นต์ ห้างสรรพสินค้า 30 เปอร์เซ็นต์ และส่งออกต่างประเทศ 10 เปอร์เซ็นต์”

ด้านของสินค้า เจ้าของกิจการเพิ่มเติมความหลากหลายอยู่สม่ำเสมอ มีทุเรียนทอด แครเกอร์หน้าทุเรียน กล้วยเล็บมือนางอบแห้งกล้วยหอมทองอบเนย ตั้งเป้าจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ล่าสุดที่กำลังคิดค้น มีเยลลี่ลองกอง คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าชาวจีน

“ทุเรียนทอด มีกำไร 20เปอร์เซ็นต์ กล้วยเล็บมือนาง และกล้วยหอมทองอบเนย มีกำไรประมาณ 30-40เปอร์เซ็นต์ แครเกอร์หน้าทุเรียน กำไร 50 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการแปรรูปมีความแตกต่างกัน”

รับซื้อจากเกษตรกร กระจายรายได้
อีก 2 ปี พลักดันเข้าตลาดหลักทรัพย์

สำหรับทุเรียนที่ใช้ในการผลิต คุณเอก รับซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทุเรียน โดยรับซื้อจำนวน 1,000 ตันต่อปี

“ผมรับซื้อทุเรียนหมอนทอง เฉลี่ยปีละ 1,000 ตัน แบ่งเป็นเกรดA ไซส์จัมโบ้ น้ำหนัก7ก.ก.เกรดBน้ำหนักรองลงมา และเกรดC เปลือกไม่สวย นอกนั้นยังมีกล้วยเล็บมือนาง 1,200 ตันต่อปี และกล้วยหอม 2,000 ตันต่อปี”

ทุเรียนขนาดใหญ่จัมโบ้ จะนำไปแปรรูปเป็นทุเรียนทอด ส่วนที่ตกเกรด น้ำหนักต่ำกว่า 3 กิโลกรัม จะนำมาทำเป็นแครกเกอร์ทุเรียน

ปัจจุบัน แบรนด์ “ชายน้อย” นับเป็นผู้ผลิตทุเรียนทอดและกล้วยเล็บมือนางแปรรูป อันดับหนึ่งของภาคใต้ และอันดับ 3 ของประเทศ

ด้านผลประกอบการ ปี2559 รวมกว่า 115 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายในปีนี้ 2560 ตั้งเป้ายอดขายถึง 130 ล้านบาท

“ผมพัฒนาแบรนด์ตัวเองตลอดเวลา ควบคู่กับรับจ้างผลิต และบุกตลาดต่างประเทศ เริ่มต้นที่ เวียดนาม พม่า จีนตอนใต้ ออสเตรเลีย มาเลเซีย และสิงคโปร์”

ปัจจุบันบริษัทมีโรงงาน 2 แห่ง คือ โรงงานผลิตแครกเกอร์ทุเรียน กล้วยเล็บมือนาง  ส่วนอีกแห่งเนื้อที่ 200 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ ต.ทะเลทรัพย์ อ.ปะทิว เป็นโรงงานทุเรียนทอด

สำหรับแผนงานในอนาคตนั้น คุณเอก เผยว่า อีก 2 ปีบริษัทจะลงทุนสร้างร้านจำหน่ายสินค้าครบวงจร  จะมีสินค้าวางจำหน่ายทั้งที่เป็นของฝาก ขนมจีนสูตรชุมพร ก๋วยเตี๋ยวต้มยำสูตรชายน้อย  กาแฟสด  และสินค้าโอท็อป  โดยปัจจุบันได้จัดซื้อที่ดินริมถนนเพชรเกษมเอาไว้เรียบร้อยแล้ว  นอกจากนี้ จะนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อระดมทุนในการขยายธุรกิจ

ด้านคุณบัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าจากผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กหรือเอสเอ็มอีที่สามารถผลิตสินค้าได้คุณภาพมาตรฐานและเป็นที่นิยมจากประชาชนมาโดยตลอด โดยบริษัทจะเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อส่งสินค้าตรงถึงมือผู้บริโภคทั่วประเทศผ่านสาขาร้านเซเว่นฯ ที่มีอยู่กว่า 9,700 สาขาทั่วประเทศ และผ่านบริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด ที่มีช่องทางการจำหน่ายผ่านนิตยสารทเวนตี้โฟร์ แคตตาล็อก ร้านสาขา ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ และอีคอมเมิร์ซ ซึ่งสามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ช้อปปิ้งสะดวกตลอด 24 ชั่วโมง

“สินค้าเอสเอ็มอีที่จำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นและทเวนตี้โฟร์ แคตตาล็อกมีหลากหลายประเภท โดยมีสินค้าหลายประเภทที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เช่น ผลไม้แปรรูป,เครื่องดื่ม,เบเกอรี่,ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และผลิตภัณฑ์ชุดเครื่องนอน โดยเฉพาะสินค้าการเกษตรที่นำมาแปรรูปเป็นสินค้าที่น่าสนใจและได้รับความนิยมจากประชาชนหลายรายการ เป็นการช่วยยกระดับพืชผลการเกษตรที่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0” คุณบัญญัติ กล่าว