เผยแพร่ |
---|
ไคแผ่นทอด ทำจากสาหร่ายน้ำจืด ออเดิร์ฟของชาวหลวงพระบาง จิ้มกินกับแจ่วบอง
“ไค” หรือ “ไก” เป็นสาหร่ายน้ำจืดที่งอกงามในแม่น้ำที่เย็น ใสสะอาด และต้องเป็นน้ำไหลเอื่อยๆ เช่นที่เมืองหลวงพระบางซึ่งมีแม่น้ำคานและแม่น้ำโขงไหลผ่าน ส่วนในประเทศไทยพบได้ในแม่น้ำน่าน อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน และแม่น้ำโขง ที่เชียงของ จังหวัดเชียงราย
ไค เป็นสาหร่ายเส้นยาวสีเขียวสด บางสายพันธุ์ยาวได้ถึง 2 เมตร ชาวไทลื้อรู้จักนำไคไปประกอบอาหารมาเป็นร้อยปีแล้ว โดยนำไปทำห่อนึ่งไก ไกยี และคั่วไก เดี๋ยวนี้ไทยเราก็รู้จักเอามาแปรรูปเป็นสาหร่ายแผ่นอบกรอบเป็นของกินเล่น คล้ายๆ กับสาหร่ายแผ่นของญี่ปุ่น
ไค เป็น สาหร่ายน้ำจืดสีเขียว สกุล Cladophora มีโปรตีนสูง มีเบต้าแคโรทีน วิตามินและเกลือแร่อยู่กว่า 18 ชนิดเชียว สาหร่ายไค เป็นอย่างเดียวกับที่ชาวล้านนาเรียกว่า “เทา” หรือ “เตา” อย่างในเพลงของกิ๋นคนเมืองของอ้ายจรัล มโนเพ็ชร ตอนหนึ่งที่ว่า “ต๋ำบ่าหนุนยำเตา ซ้าบ่าเขือผ่อยแก๋งเห็ดแก๋งหอย ก้อยป๋าดุ๊กอุย”
ชาวหลวงพระบางแห่งประเทศสปป.ลาว จะนำสาหร่ายน้ำจืดชนิดนี้ไปล้างน้ำให้สะอาด โรยหน้าด้วยกระเทียมฝาน มะเขือเทศฝาน พริก และงา หรือจะไม่โรยหน้าก็ได้ วางเรียงบนตับแฝก ตากเป็นแผ่นไคแห้ง แม่ค้าจะพับแผ่นไคเป็นพับๆ ใส่ถุงพลาสติกขาย เวลากินก็เอากรรไกรมาตัดเป็นแผ่นเล็กๆ แล้วนำไปทอดเป็นของกินเล่นเป็นอาหารว่าง เสิร์ฟเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย หรือเป็นกับแกล้ม จิ้มกินกับแจ่วบอง เวลาทอดไคแผ่นนั้นให้ใช้น้ำมันร้อนปานกลาง จุ่มไคลงไปในน้ำมัน นับ 1-4 ก็นำขึ้นวางบนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน กินตอนร้อนๆ กรอบๆ เคี้ยวเพลินดี
สำหรับ “แจ่วบอง” นั้นก็ทำไม่ยาก
เริ่มจากคั่วพริกแห้งแล้วป่น หอมแดงและกระเทียมหมกหรือย่างไฟพอสุก นำมาโขลกด้วยกันกับข่า จะใส่ปลาร้าสับหรือน้ำปลาก็ได้ตามชอบ แต่ถ้าไม่ใส่ปลาร้าให้เพิ่มเนื้อปลาลงไปด้วยจะเป็นปลาป่น ปลาย่าง หรือปลาทอดก็ได้ตามสะดวก ถ้าเค็มไม่พอให้เติมเกลือ ตัดรสด้วยน้ำมะขามเปียก ใส่หนังควายแห้งที่ย่างแล้วหั่นเป็นเส้นแช่น้ำเกลือไว้ลงไปคลุก
ตำรับโบราณนิยมกินแจ่วบองสดๆ มากกว่า แต่หากจะเก็บไว้นานๆ ให้ตั้งกระทะใส่น้ำมันเอาแจ่วลงผัดน้ำมันให้สุกหอม ใครมีโอกาสไปเยือนเมืองหลวงพระบาง ซื้อติดไม้ติดมือกลับมาเป็นของฝากได้ มีขายพร้อมสรรพทั้งไคแผ่น และแจ่วบอง