โขลกผลไม้ปรุงเมนู “น้ำพริก” รสชาติสุดเเซ่บ คนรุ่นใหม่กินเเล้วฟิน

ผลไม้นอกจากจะรสชาติอร่อย ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง และหากอยู่เมืองไทยด้วยแล้วผลไม้หาทานได้ง่ายตลอดทั้งปี คนสมัยก่อนยังนำผลไม้มาถนอมอาหารด้วยกรรมวิธีหลายอย่าง อาทิ ตากแห้ง หมักดอง เชื่อม แช่อิ่ม ฉาบ ส่วนปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่นำผลไม้มาดัดแปลงทำน้ำพริก แถมเป็นผงโรยข้าวทานแทนกับข้าวได้ด้วย

พัฒนาน้ำพริกจากของเหลือ
เจาะตลาดคนรุ่นใหม่

คุณทิวาพร ศิริ หรือ คุณแอม สาวเชียงใหม่วัย 25 ปี คือ เจ้าของไอเดียน้ำพริกผลไม้ AMZAP (แอมแซ่บ) เล่าที่มาว่า หลังจบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ไปทำงานสร้างเขื่อนที่ประเทศลาวอยู่ประมาณครึ่งปี หลังจากนั้นลาออกด้วยเหตุผลว่าไม่อยากเสียเวลาทำงานประจำ อยากสร้างกิจการของตัวเอง นั่นคือ กิจการน้ำพริกผลไม้

เดิมทีบ้านของหญิงสาวดำเนินธุรกิจขายปลีก ขายส่งน้ำพริกหนุ่ม ไส้อั่ว และแคบหมู มานานกว่า 15 ปี ซึ่งแต่ละวันจะผลิตแคบหมูราว 500 กิโลกรัม จุดเด่น คือ ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ ส่วนน้ำพริกหนุ่มก็ไม่ใส่สารกันบูด ไส้อั่วมันน้อย ใส่สมุนไพรเยอะ

ภายหลังที่คุณแอมลาออกจากงานประจำ เธอตั้งหลักด้วยการช่วยงานที่บ้านก่อน เลยเกิดไอเดียอยากขายแคบหมูสดให้ลูกค้าซื้อแล้วนำไปทอดเอง โดยจะวางขายตามห้างสรรพสินค้า แต่ทว่าที่บ้านไม่เห็นด้วย เพราะการทำเช่นนี้ต้องสร้างความมั่นใจเรื่องคุณภาพ ต้องมีเครื่องหมาย อย. ฉะนั้นจำเป็นต้องลงทุนสร้างโรงงานซึ่งใช้เงินเยอะ โครงการดังกล่าวจำต้องพับเก็บไปในที่สุด

เมื่อคุณแอมไม่ได้ทำแคบหมูสด เธอไม่หยุดแค่นั้น คราวนี้เธอมองเห็นเศษแคบหมูที่ทอดแล้วแต่ละวัน มีเหลือเป็นจำนวนมาก เลยคิดนำมาเพิ่มมูลค่ากลายเป็นน้ำพริกแคบหมู

“แต่ละวันจะมีเศษแคบหมูเหลือราว 10 กิโลกรัม ที่บ้านนำไปขายราคาถูก ถุงละ 5-10 บาท ดิฉันอยากนำมาเพิ่มมูลค่า เลยขอแยกตัวออกมาสร้างโรงงานเล็กๆ ด้วยเงินลงทุน 3 แสนบาท ทำน้ำพริกแคบหมู กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างใช้เวลาเกือบครึ่งปี ช่องทางจำหน่ายขายตามร้านของฝากทั่วไป มีทั้งฝากขายและขายขาด”

สำหรับเงินลงทุนสร้างโรงงานน้ำพริกแคบหมู คุณแอมขอจากพ่อแม่ เธอมองว่า น้ำพริกแคบหมูทานง่าย ทานเป็นน้ำพริก หรือจะโรยทานกับข้าวก็ได้ ทำรสชาติไม่เผ็ด ส่วนผสมหลัก มีเศษแคบหมู กระเทียม หอมแดงทอด เครื่องปรุงรส เมื่อกระแสการตอบรับดี ได้เพิ่มน้ำพริกข่า น้ำพริกขิง ขายในราคากระปุกละ 25 บาท ยอดขายแต่ละเดือนราว 20,000 บาท

คัดเฉพาะผลไม้มีเอกลักษณ์
กระแสตอบรับดี เล็งขายในห้าง

ราวต้นปี 58 หญิงสาวมีความคิดอยากเพิ่มความหลากหลายให้กับสินค้า อยากเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบใกล้ตัว เช่น ลำไย เพราะทางภาคเหนือโดยเฉพาะลำพูนมีลำไยเยอะ มีตลอดทั้งปี จึงกลายเป็นที่มาของน้ำพริกผลไม้

“ที่เทศบาลตำบลหนองช้างคืน จังหวัดลำพูน มีลำไยรสชาติหวานอร่อย ออกตลอดทั้งปี ทำให้บางปีเกิดปัญหาลำไยล้นตลาด เลยอยากนำมาเพิ่มมูลค่าด้วยการทำน้ำพริก ซึ่งกว่าส่วนผสมจะลงตัว เหมือนการทำกับข้าว อาศัยการลองผิดลองถูกมาเยอะพอสมควร ซึ่งส่วนประกอบหลัก มีลำไย หอมแดงทอด กระเทียมและเครื่องปรุงรส”

เรียกว่าลำไย คือ ผลไม้ชนิดแรกที่คุณแอมนำมาทำน้ำพริก ซึ่งเจ้าของผลิตภัณฑ์ บอกว่า กระแสการตอบรับดี ลูกค้าชอบเพราะแปลกใหม่ ใครได้ลองทานมักกลับมาซื้อซ้ำ ฉะนั้นเลยเฟ้นหาผลไม้ชนิดอื่น เพื่อฉีกตลาดให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าทานน้ำพริกแล้วดูไม่เชย คนทำน้ำพริกไม่จำเป็นต้องสูงวัยเท่านั้น

เมื่อสาวเจเนอเรชั่นวายอยากลบภาพน้ำพริกให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าการทานน้ำพริกนั้นทันสมัย ไม่เชย ไม่แก่ เธอได้ไปเข้าร่วมโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์กับ TCDC หรือ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ มีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ซึ่งจากบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระปุกพลาสติก ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นแก้วใส เพื่อให้มองเห็นส่วนผสมข้างใน รวมถึงเฟ้นหาผลไม้ชนิดอื่นมาทำน้ำพริกเพิ่ม อาทิ ลิ้นจี่ มะม่วง สับปะรด แอปเปิ้ล

สำหรับหลักการเลือกผลไม้ คุณแอม เน้นว่าต้องมีรสชาติเฉพาะ หาซื้อง่าย ราคาไม่สูงมาก มีในท้องถิ่นเผื่อออร์เดอร์ในระยะยาว ไม่นำผลไม้นอกฤดูกาลเพราะกลัวจะหายาก ตัวอย่างเช่น ลิ้นจี่ในภาคเหนือมีมาก มะม่วงเลือกใช้มะม่วงสุก สับปะรดภูแล แอปเปิ้ลสีเขียว

“ลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่มีกลิ่นหอม รสเปรี้ยวหวาน มะม่วงสุกมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ สับปะรดภูแลเชียงรายหวานกรอบ ลำไยจากลำพูน ส่วนแอปเปิ้ลสีเขียวมีขายทั่วไป ซึ่งผลไม้ก่อนนำไปทำน้ำพริกต้องทอดและอบแห้งเพื่อไล่น้ำมันก่อน”

สำหรับกระบวนการผลิต คุณแอม เผยคร่าวๆ ว่า นำส่วนผสมของน้ำพริกไปทอด จากนั้นอบในโดมพาราโบลา หรือเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อสลัดน้ำมันออกแล้วนำมาปรุงรส หลักการทำงาน คือ เมื่อรังสีแสงอาทิตย์ส่องผ่านกระจกเข้าไปภายใน จะเปลี่ยนเป็นความร้อน และถ่ายเทความร้อนให้กับผลิตภัณฑ์ ขณะเดียวกัน ความร้อนนั้นไม่สามารถผ่านกระจกออกมาภายนอกได้

ด้านของกำลังการผลิต หญิงสาว บอกว่า ขณะนี้ยังผลิตไม่เยอะ เฉลี่ยวันละ 200 กระปุก น้ำหนักกระปุกละ 80 กรัม สามารถทานเป็นน้ำพริกกับผักต่างๆ ได้ หรือจะทานเป็นผงโรยข้าว โรยขนมปังก็ได้ ในส่วนของกลุ่มลูกค้า เป็นกลุ่มคนรักสุขภาพ มีทุกวัย คนทานอาหารคลีนก็สามารถทานได้ พกพาง่าย สะดวก

ในส่วนของการทำตลาด หญิงสาวเริ่มต้นจากการขายตามร้านของฝาก ขายกลุ่มเพื่อน คนรู้จัก ปรากฏว่าตลาดตอบรับดี จากนั้นลองขายผ่านเฟซบุ๊ก ไอจี ไลน์ ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกชมสินค้าและใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง เหมือนพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ทั่วไปที่ใช้โซเชียลมีเดีย คอยแนะนำตัวเองว่าขายอะไรบ้าง เข้าไปตอบทุกข้อสงสัยด้วยตัวเอง ให้ลูกค้าเป็นสื่อกลางนับเป็นช่องทางที่ลงทุนไม่มาก ค่อนข้างได้ผลดี สามารถนำข้อติชมไปพัฒนาปรับปรุงสินค้าได้อีกด้วย