ตะด่อโพจือที ต้มส้มกุ้งแห้งใบส้มป่อย

แนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่าตั้งแต่ทางเหนือไล่ลงมาทางด้านตะวันตกตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีและลุ่มน้ำสาละวิน มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่เด่นชัดมากที่สุดคือ กะเหรี่ยงหรือยาง ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มปกากะญอหรือ กะเหรี่ยงสะกอ  นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม กะเหรี่ยงโป กะเหรี่ยงบเว และปะโอ หรือตองสู  ความเชื่อดั้งเดิมของพวกเขาคือนับถือผี ต่อมาก็นับถือศาสนาพุทธ และคริสต์ ซึ่งศาสนาคริสต์ได้แพร่หลายเป็นอย่างมากในหมู่ปกากะญอ

ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้ส่วนหนึ่งอยู่ในดินแดนประเทศไทยมาก่อน อีกส่วนหนึ่งหนีสงครามจากพม่ามาตั้งถิ่นฐานในเขตแดนประเทศไทย อยู่อาศัยมานานนมดำรงชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียน วิธีการดำรงชีพของชาวกะเหรี่ยงที่ต้องอาศัยป่าจึงรู้จักที่จะอยู่กับป่าและธรรมชาติของป่า

ฉันเคยเข้าป่ากินนอนในหมู่บ้านกะเหรี่ยงอยู่หลายวัน พบว่าอาหารแบบกะเหรี่ยงคือ อาหารป่าที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ในแต่ละมื้อจะหนีไม่พ้นน้ำพริก ผักจิ้ม และอื่นๆ ตามที่หามาได้  มีน้ำแกงไว้ซดน้ำสักถ้วย เมนูกะเหรี่ยงวันนี้ก็เป็นอาหารง่ายๆ ดังที่ว่าไปแล้วเป็นต้มส้มกุ้งแห้งใบส้มป่อยที่ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “ตะด่อโพจือที”

ฉันพบว่าอาหารของชาวพม่ามักนิยมผักรสเปรี้ยว ชาวกะเหรี่ยงก็เช่นกันเขาจะนำยอดส้มป่อยที่มีรสเปรี้ยวมาแกง ใบส้มป่อยนั้นหาได้ง่ายในตลาดทางภาคเหนือส่วนภาคอื่นๆ หาได้จากตลาดในชุมชนชาวพม่า หากไม่มีก็สามารถใช้ยอดมะขามแทนได้ ยอดส้มป่อยนั้นจะขายเป็นมัดเล็กๆ โดยใช้ตอกพันไว้ เมื่อได้ใบส้มป่อยแล้วอย่างต่อไปก็คือ กุ้งแห้ง เครื่องแกงมีหอมแดง กระเทียม ข่า ตะไคร้ และพริกขี้หนู ต้มส้มยอดส้มป่อยนี้ชาวล้านนาของเราก็กินกันโดยจะต้มกับปลา กระดูกหมู หรือกบ เครื่องอย่างอื่นก็ไม่ต่างกันเลย

เริ่มจากเอาหม้อใส่น้ำตั้งไฟให้เดือด ใส่กุ้งแห้งลงไปต้ม แล้วโขลกหอมแดง กระเทียม ข่า ตะไคร้หยาบๆ ใส่ตามลงไป ใส่ส้มป่อยทั้งมัดลงไปแกว่งๆ ใบส้มป่อยจะหลุดลงในหม้อเหลือแต่ก้านกับใบแก่ก็เอาทิ้ง ปรุงรสด้วยเกลือ ปิดท้ายด้วยพริกขี้หนูบุบลงไป

อากาศร้อนๆ อย่างนี้ ได้ซดน้ำแกงใสๆ เปรี้ยวๆ แก้เบื่ออาหาร ทำให้ชุ่มคอและรู้สึกเย็นขึ้นมาได้อย่างน่าประหลาดค่ะ