เปิดเพจ “กาดเมืองพร้าวออนไลน์” ยกตลาดชุมชนสู่คนภายนอก

กลับคืนสู่วิถีชุมชน ให้คนในพื้นที่มีอาชีพ
รสมือแม่ที่ชอบปรุงอาหารสดใหม่ ใส่ใจตั้งแต่วัตถุดิบปลูกเอง ภาพการนั่งล้อมวงกินข้าว มีแม่คอยบอกกล่าวสรรพคุณวัตถุดิบชนิดต่างๆ สร้างความรู้ และความอบอุ่นในโต๊ะอาหาร กลายเป็นความประทับใจที่ติดตรึงในหัวใจของลูกสาวทั้งสองคน

จนกระทั่งวันหนึ่งที่ได้เดินทางกลับมาอยู่บ้านเกิด ภาพความทรงจำนั้นชัดเจนขึ้นอีกครั้ง และนี่จึงเป็นที่มาให้นึกถึงสุขภาพของผู้ปรุงอาหารทานเอง และหรือผู้ต้องการบริโภคอาหารอร่อยโดยรสมือของคนจริงใจ  “กาดเมืองพร้าวออนไลน์” เพจที่เปรียบเสมือนตลาดชุมชนคนเมืองพร้าว ถือกำเนิดขึ้น โดยมีทั้งอาหารสำเร็จรูปและวัตถุดิบนานารายการ รวมไปถึงผักผลไม้หลากหลายชนิด ให้เลือกซื้อนับสิบรายการ

gagay2

คุณการะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ นักเขียน และนักพยากรณ์ ที่มีผลงานสร้างชื่อเสียงมาเนิ่นนานนับสิบปี เธอคือหนึ่งในเจ้าของเพจ กาดเมืองพร้าวออนไลน์ ที่หลังจากเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนอย่างจริงจัง ได้เล่าถึงจุดเกิดของตลาดบนโลกอินเตอร์เน็ตว่า

“ภาพความทรงจำของแม่ คือสิ่งที่ยังคงอยู่มาตลอด แม่ชอบทำอาหารให้ทุกคนในบ้านกินกัน แม่ชอบทำอาหารขาย ชอบทำสวนมาก ระหว่างนั่งกินข้าว แม่ก็จะเล่าถึงสรรพคุณของวัตถุดิบ ส่วนพ่อก็มีความรู้ด้านสมุนไพร มีตำรับยา เป็นเหมือนหมอยาของหมู่บ้าน ทำให้เราได้ซึมซับสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก”

IMG_20160822_123919_1

แต่ด้วยเส้นทางชีวิตต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ กับการทำงานด้านสื่อสารมวลชน ด้านงานเขียน และกราฟิก ซึ่งน้องสาว คุณกาญจน์ ศรีปริญญาศิลป์ ก็อยู่ในวงการนี้เช่นกัน

อาหารสด ผักผลไม้ รวมไว้ในกาดเมืองพร้าว
10 กว่าปีล่วงผ่าน กระทั่งผู้เป็นพ่อเริ่มอายุตัวเลขมากขึ้น สองคนพี่น้องจึงลงความเห็นกลับไปดูแลท่านในบ้านหลังเล็กๆ ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

IMG_20160720_145701

การได้กลับไปคลุกคลี ทำให้ได้เห็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม อาชีพของคนในพื้นถิ่นซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร และได้เห็นพืชผักมากมาย รวมถึงอาหารการกินนานาชนิด กอปรกับหัวใจหลักต้องการสร้างให้ชุมชนแห่งนี้มีความยั่งยืน จึงมองถึงการนำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย แต่จะให้ตระเวนขนสินค้าไปก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย จึงมองสิ่งใกล้ตัว แต่ได้ลูกค้าไกล นั่นคือ สร้างเพจและเว็บไซต์ เปิดตลาดค้าขายบนโลกอินเตอร์เน็ต

กาดเมืองพร้าว ถือกำเนิดขึ้นราว 2 ปี กับสินค้าเพียงไม่กี่รายการ ซึ่งการเริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมๆ กับสร้างความเข้าใจให้คนในชุมชน มีความจริงใจเป็นจุดเริ่มต้น จนวันนี้จำนวนสินค้า 30-40 รายการถูกวางจำหน่ายบนหน้าเพจ โดยแบ่งเป็น สินค้าอาหารสำเร็จรูปพื้นเมือง และวัตถุดิบอื่นๆ รวมถึงผักผลไม้นานารายการ

karn

คุณการะเกต์ ว่า ในส่วนของอาหารปรุงสด จะผลิตในครัวของตนเอง โดยรับซื้อวัตถุดิบจากชาวบ้านและที่ปลูกเองส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเมนูเสียเร็ว ก็จะส่งขายเฉพาะคนในพื้นที่และคนใกล้บ้าน “แต่ถ้าเป็นแคบหมู  ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกข่า สามารถส่งให้ลูกค้าไกลๆ ได้”

พืชผักผลไม้ โดยเฉพาะผักตามฤดูกาล อย่าง เห็ดถอบ เป็นสินค้าขายดีอันดับต้นๆ ด้วยเพราะพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทำให้คุณภาพของเห็ดออกมาดี รสชาติอร่อย กลิ่นหอม โดยชาวบ้านจะเดินทางไปหามาจำหน่ายให้กับกาดเมืองพร้าว จากนั้นเข้าสู่กระบวนการทำความสะอาด ต้มสุก เพื่อจัดส่งให้ลูกค้า (ถ้าส่งแบบสดอายุการเก็บจะสั้น เพียงสองวันเห็ดจะแก่)

13709757_855655804566637_1087073866449236732_n

“สินค้าที่ได้รับความนิยมมากอีกรายการหนึ่งคือ น้ำพริกคั่วทราย สูตรตั้งต้นเป็นของชาวไทยใหญ่ โดยจะมีทั้งแบบใส่กากหมูที่ปรุงเองกรอบหอมอร่อย หรือจะเป็นสูตรใส่ถั่วเน่านำมาซอยเป็นเส้น ซึ่งพอลูกค้าซื้อไปกินแล้วติดใจ ก็จะกลับมาซื้อเป็นของฝาก”

ช่วยกว่า 100 ชุมชน ให้คนมีเงิน มีงานทำ
พืชผักผลไม้ จัดเป็นอีกกลุ่มสินค้าทำราคาได้ต่อเนื่อง จนต้องมีการรับสินค้าจากพื้นที่รอบข้างมาจำหน่าย “ลูกค้าบางรายต้องการพริกจำนวนมาก ซึ่งในพื้นที่ของเราไม่พอ แต่ว่าชาวบ้านเขามีญาติพี่น้องอยู่ต่างบ้าน ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ปลูกไว้ทานกัน ก็สามารถเก็บรวบรวมมาจำหน่ายกับเราได้ ทำให้วันนี้มีแหล่งรับซื้อมากขึ้น สามารถช่วยคนในชุมชนได้มากขึ้นด้วย แค่เฉพาะในอำเภอพร้าวก็กว่า 100 หลังคาเรือนแล้ว”

IMG_20160816_112849_1

มองตลาดให้เป็น เห็นสินค้าแล้วนำมาต่อยอด คือหน้าที่ของคุณการะเกต์และคุณกาญจน์ “เราต้องการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด อย่าง ขี้เถ้า ซึ่งคนชุมชนใช้เตาถ่านและเตาฟืนประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีขี้เถ้าจำนวนมาก เราก็บอกกับเขาเลยว่า จะรับซื้อมาขายในกาด แรกๆ  ชาวบ้านหัวเราะ เขามองว่าจะขายได้อย่างไร ก็ทำให้เห็น นำมาบรรจุถุง ขายถุงละ 20 บาท มีคนซื้อ นี่คือสิ่งที่เราเห็นถึงประโยชน์ที่ย้อนกลับไปสู่ภูมิปัญญา นำขี้เถ้ามาแช่ปลาหมึกให้ตัวพอง นำมาขัดภาชนะให้ขาวสะอาด”

คุณการะเกต์ ยังกล่าวถึงคุณค่าของภูมิปัญญา เวลา และความเป็นพื้นถิ่น ว่า “อย่างการทำผักดอง คนในชุมชนจะคิดว่าราคาแค่ห้าบาทสิบบาท ถูกมาก เพราะนี่คือสิ่งที่เขาทำทานกันเอง เขาไม่คิดว่าต้องแพง แต่ในความจริง เริ่มต้นตั้งแต่หยอดเมล็ดพันธุ์ รอการเติบโต ตัดนำมาปรุง ซึ่งใช้เวลาทำเป็นวันๆ แต่เขาไม่เคยนับค่าแรงของตัวเอง ทั้งที่สินค้าโฮมเมด เพิ่มมูลค่าได้ และเราก็ให้ความสำคัญกับการดีไซน์ ทำให้สินค้ามีคุณค่าน่าจับต้องมากขึ้น”

13537773_842840642514820_3833093509730267818_n

กับราคาขายที่ตั้งไว้ไม่สูง บวกจุดเด่นกับความเป็นสินค้าชุมชน ทำให้ลูกค้าที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปจนถึง 40 ปี โดยเฉพาะผู้ชอบปรุงอาหารทานเอง ทั้งในกรุงเทพฯ ภาคใต้ ภาคอีสาน และแม้แต่ภาคเหนือ จับจองสินค้าเข้ามา ซึ่งบางครั้งค่าขนส่งสูงกว่าค่าสินค้า แต่ทว่าลูกค้ายอมจ่าย

ตัวเลขยอดขายเดือนละ 1-2 แสนบาท โดยคิดเป็นผลกำไรราว 30-50 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้จะเป็นตัวเลขไม่มากนัก แต่นี่คือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ในอนาคตวางแผนขยายจำนวนสินค้าให้ได้นับร้อยรายการ แต่ทว่าทุกรายการต้องผ่านการทดสอบคุณภาพให้ออกมาดีก่อนจึงบรรจุไว้ในเพจ

13508831_846043075527910_1964074288537881675_n

“เราวางแผนต้องการสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน แต่สิ่งที่เราทำตอนนี้ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่เงินนะ เราจึงค่อยๆ ไป ก็วางแผนกันว่าจะทำครัวเพิ่ม สร้างร้านอาหารเล็กๆ ขึ้นมา จัดทำพื้นที่ขายฟรีสร้างตลาดชุมชน ให้คนในพื้นที่ได้มาทำการค้าขายแลกเปลี่ยนกัน และสร้างที่พักเล็กๆ เพราะเราเชื่อว่า แม้ที่นี่จะไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว แต่ว่ายังมีคนจำนวนมากชอบความเป็นชุมชน ธรรมชาติ และวัฒนธรรมของคนเมืองพร้าว เราเชื่อว่าถ้าทำอะไรด้วยใจรัก ผลตอบแทนจะกลับมาเอง”

สนใจติดต่อ กาดเมืองพร้าวออนไลน์ phraomarket.com