กำเงิน7บาท ปั้นธุรกิจขนมไทย ขายดี ส่งออก รับเงินปีละ30ล้านบาท

 

ขนมไทย รสชาติดั้งเดิมแบบไทยแท้ ฝีมือคนไทยทำ ไม่ได้เพียงโด่งดังในประเทศอีกต่อไปแล้ว เพราะสามารถสร้างชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ด้วยการนำนวัตกรรมมาช่วยปรับปรุงให้ขนมไทยโกอินเตอร์ไปไกลได้ไม่ยาก จนสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศและโกยรายได้ต่อปีไปไม่น้อย

ด้วยต้องการขายนวัตกรรมเชิงวัฒนธรรมให้กับขนมไทย แบรนด์แม่เอย จึงพัฒนาขนมไทยให้เจริญก้าวหน้าแบบไม่หยุดยั้ง ออกผลิตภัณฑ์ขนมไทย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับตลาด จนสามารถครองแชมป์โอท็อประดับ 5 ดาว มาตลอดระยะเวลา 10 ปี

ยุคขนมเปี๊ยะเจ้าแรก ไอเดียหลากไส้

สู่อุตสาหกรรมขนมไทย

คุณดิศรณ์ มาริษชัย กรรมการผู้จัดการ เจ้าของบริษัท ขนมแม่เอย เปี๊ยะ แอนด์ พาย (2003) จำกัด เล่าว่า  “ก่อตั้งบริษัทมาร่วม 12 ปีแล้ว ตอนนั้นเป็นช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ช่วงปี 2546-2547 นั้นเศรษฐกิจย่ำแย่มาก กำเงิน 7 บาท มาลงทุนเปิดท้ายขายของ ขายพวกตุ้มหู ขายไปวันๆ ก็ได้เพียงแค่เงินกินข้าว ไม่ได้มีกำไรอะไรเท่าไหร่ จึงกลับมาคิดว่า ทำแบบนี้มันไม่ยั่งยืน

ประจวบกับช่วงนั้นสนใจการทำขนมเปี๊ยะพอดี จึงทดลองทำ ดูสูตรจากหนังสือ หาข้อมูล ถามผู้รู้ สูตรที่ได้ก็มีถูกบ้าง ไม่ถูกบ้าง บางคนก็บอกไม่หมด บอกหลอกๆ ก็มี จนมาลองทำ ปรับสูตรกันเองในครอบครัว ทำด้วยแรงงานคน ผลิตได้วันละ 500-1,000 ชิ้น และวางขาย”

คุณดิศรณ์ เล่าต่อว่า ด้วยความบังเอิญและมีโอกาส ให้อาจารย์ยิ่งศักดิ์ชิมขนมเปี๊ยะ ซึ่งได้ความเห็นมาว่า ขนมอร่อยมาก จนได้รับการติดต่อขอสัมภาษณ์จากสื่อ ออกรายการทีวี และได้รับการติดต่อมาจากเชลล์ชวนชิมและเปิบพิสดาร ออกมารับประกันความอร่อยให้แม่เอย โดยที่ตัวผมเอง ก็ไม่คาดคิดมาก่อน จนแม่เอยกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น และได้รับออร์เดอร์ผลิตเพื่อส่งขายด้วย

อีกทั้ง ธุรกิจขนมทำได้ยาก ในความคิดของผม เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอ่อนไหวในเชิงการเรียนรู้  อย่างขนมเปี๊ยะ มักถูกมองว่า ทานแล้วอ้วน เพราะหวาน มีน้ำตาลเยอะ และยังมีเรื่องของรูปลักษณ์ของขนมเปี๊ยะอีกด้วย ที่ทำให้คนไม่นิยมทานขนมชนิดนี้ ทั้งๆ ที่ความจริง ขนมเปี๊ยะเป็นขนมมงคล แต่กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เกิดการต่อต้านทางความคิด มีการติหมด ทั้งติดฟัน ติดคอ จึงต้องการทำความเข้าใจและปรับภาพลักษณ์ให้เกิดการยอมรับตรงจุดนี้ นี่จึงเป็นความยากอย่างหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่งที่ยากคือ จะต้องทำอย่างไร ขนมเปี๊ยะจึงจะอยู่ได้นาน ในขณะที่ก็ต้องไม่ทิ้งความเป็นขนมเปี๊ยะ จึงต้องเกิดการพัฒนาและปรับภาพลักษณ์กันใหม่”

ขนมเปี๊ยะ แม่เอย เป็นเจ้าแรกๆ ที่คิดค้นการมีไส้หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น เผือก ทุเรียน ใบเตย ช็อกโกแลต ทูน่า ชาเขียว งาดำ มะตูม ลำไย ลินจี้ มะม่วง เป็นต้น เพื่อทดลองตลาด บางไส้ทำได้ตลอดทั้งปี แต่บางไส้ทำเฉพาะฤดูของผลไม้เท่านั้น เมื่อเห็นว่าขนมเปี๊ยะแม่เอย เป็นที่ยอมรับในสังคม อีกทั้งมีไส้ขนมที่หลากหลาย ทั้งธัญพืชและวัตถุดิบต่างๆ อยู่ในมือ จึงคิดต่อยอด ผลิตไส้ขนม เพื่อส่งขายให้กับอุตสาหกรรมเบเกอรี่ ผลิตและส่งขายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสั่งออร์เดอร์แต่ละครั้งเป็นตันๆ สำหรับไส้ขนมที่แม่เอยผลิตจำหน่ายหลักๆ  อาทิ ไส้เผือก ไส้ถั่วแดง ไส้มัน และไส้ฟักทอง”

พัฒนาไม่หยุด สร้างจุดเด่น

ขนมไทย เก็บนาน 1 ปี ไม่ต้องฟรีซ

หลังจากทั้งขนมเปี๊ยะและไส้ขนมแบรนด์แม่เอย เป็นที่ยอมรับทั้งในตลาดโมเดิร์นเทรดและสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ คุณดิศรณ์ บอกว่า จึงหันมาเอาดีด้านผลิตและจำหน่ายขนมไทย เนื่องจากส่วนประกอบของขนมไทย อยู่ในกลุ่มของธัญพืช และเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ในโรงงานอยู่แล้ว จึงคิดต่อยอดจากสิ่งที่มีสู่การทำอุตสาหกรรม

เมื่อมีไอเดียในการผลิตขนมไทย ผนวกกับการที่ตนเองเคยเดินทางไปอยู่ต่างประเทศพักใหญ่ ในช่วงเวลานั้นมีความคิดถึงขนมไทย บวกด้วยแนวคิดและแรงบันดาลใจที่ว่า อยากให้สักวัน ขนมไทย ไปขายทั่วทุกมุมถนนของโลก

จึงกลับมาคิดว่า หากต้องทำเป็นอุตสาหกรรม เพื่อตอบโจทย์คนที่อยากกิน แต่ไม่สามารถทำเองได้ หรือร้านอาหาร และโรงแรมต่างๆ ไม่ต้องเสียเวลาในการทำและยุ่งยาก รวมไปถึงชาวไทยที่อยู่ต่างประเทศ จะพัฒนาเพื่อตอบโจทย์คนเหล่านี้อย่างไร

ตลอดจนการสังเกตพฤติกรรมคนทานอาหารที่ร้าน หลังทานอาหารคาวเสร็จ มักจะถามถึงขนมหวาน เมนูขนมไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น และร้านอาหารมักเก็บในรูปแบบโฟรเซ่น คือแช่แข็งไว้ ต่อเมื่อลูกค้าสั่ง นำมาอุ่นเสิร์ฟ ซึ่งในมุมมองกลับคิดว่าการแช่แข็ง คือต้นทุนของผู้ประกอบการ ต้องซื้อตู้แช่มาจัดเตรียมไว้ จึงคิดว่าทำไมไม่มีขนมไทยที่สามารถเก็บในอุณหภูมิปกติ รสชาติใกล้เคียงกับทำสด ลูกค้าซื้อแล้วสามารถหยิบซองมาฉีกเทลงภาชนะเข้าไมโครเวฟได้เลย

จากความสงสัย กระทั่งนำมาสู่การทำวิจัยร่วมกันกับเจ้าหน้าที่สถาบันอาหาร โดยได้งบสนับสนุนจากสำนักพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ใช้ทุนในส่วนของงานวิจัยอยู่ที่หลักแสนบาท จนได้รับการันตีคุณภาพ สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ จึงควักเงินทุน 5 ล้านบาท เพื่อซื้ออุปกรณ์การผลิต ในระบบ Retort คุณดิศรณ์ เล่าย้อนเรื่องราวในอดีตให้ฟัง

ผุดสินค้าใหม่ ชูจุดขาย

ข้าวต้มมัด ข้าวหลาม

เมื่อหันมาผลิตขนมไทย คุณดิศรณ์ จึงบอกว่า “อยากทำขนมไทยที่ขายนวัตกรรมเชิงวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่ข้าวต้มมัดห่อใบตอง แล้วใส่ถุงวางจำหน่ายอีกต่อไป ทำแบบนั้นโอท็อปที่ไหนก็สามารถทำได้ แต่ต้องการพัฒนาให้ข้าวต้มมัดทานได้ง่าย แต่สามารถเก็บได้นาน 1 ปี โดยที่ไม่ต้องแช่ช่องฟรีซ เวลาเอามาทานก็ทำได้ง่ายๆ ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคแล้ว ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย เพราะไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ไม่มีสารกันบูด ไม่เจือสีและแต่งกลิ่น แต่เน้นนวัตกรรมในการถนอมอาหารแทน

โดยคุณดิศรณ์ บอกว่า “อย่างทำข้าวต้มมัด ความยากอยู่ที่การนึ่งอย่างไรให้ข้าวเหนียวนิ่ม ขณะที่ใบตองหุ้มด้านนอกไม่ดำ ใบตองเหนียวและยังคงความเขียวไว้ได้ ขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาลองผิดลองถูกด้วยตนเองมาประมาณเกือบปี เพราะยังไม่เคยมีตำราเขียนกรรมวิธีทำข้าวต้มมัดในแพ็กเกจสุญญากาศมาก่อน กลายเป็นความท้าทายที่น่าลองเสี่ยง ซึ่งสุดท้ายก็ทำได้จริง

ส่วนข้าวหลาม สินค้าตัวใหม่ ซึ่งได้กลายมาเป็นสินค้ายอดฮิต เพิ่มความง่ายในการทาน สามารถแกะทานได้ด้วยมือเปล่า ง่ายราวกับปอกกล้วย เริ่มงานวิจัยและผลิตออกมาจำหน่ายได้เพียงเวลาปีเศษๆ แต่ก็ได้รับความนิยมและส่งขายไปยังประเทศจีนและแถบยุโรป เนื่องด้วยสะดวกต่อการขนส่งที่ไม่ต้องแช่แข็ง ทั้งรสชาติอร่อยแบบธรรมชาติ ข้าวหลามยังมีเยื่อไผ่อยู่ จึงเป็นจุดเด่นที่ทำให้ได้ความนิยมทั้งได้ยกตัวอย่างวิธีการทานข้าวหลามและข้าวต้มมัด ให้ฟังว่า หากต้องการทานให้อร่อย ควรเข้าไมโครเวฟสัก 1 นาที เนื่องจากข้าวเหนียวเมื่อผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา และเก็บรักษา ก็จะมีการหดตัว เวลาทานแบบไม่อุ่นไมโครเวฟอาจไม่อร่อยเท่าตอนที่เข้าไมโครเวฟอุ่นๆ”

คุณดิศรณ์ ให้เหตุผลที่ได้เลือกสินค้าทั้ง 2 ตัวนี้ว่า ต้องการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาช้านาน ให้คงอยู่ไม่สูญหายและปรับให้เข้ากับวิถีของคนยุคนี้ โดยเฉพาะข้าวหลามที่เคยสร้างงานและรายได้สู่ชุมชนชาวนครปฐมช้านาน ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน แม่เอยเองก็อยากสานต่อให้ขนมพื้นบ้านไทย ก้าวสู่การมีมาตรฐานสากล ไปสู่ตลาดส่งออกได้

รุกตลาดโมเดิร์นเทรด

ส่งออกทั้งเอเชียและยุโรป

ดำเนินธุรกิจมาจวบจนปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาไม่หยุดและต่อยอดสินค้าให้เกิดความแปลกใหม่ด้วยนวัตกรรมไม่รู้จบ ทั้งเปิดหน้าร้าน เพื่อเป็นจุดกระจายสินค้า ขนมแบรนด์แม่เอย จึงได้ก้าวสู่การเป็นโอท็อประดับ 5 ดาว มาตลอด 10 ปี

ด้วยคุณสมบัติต่างๆ ดังกล่าวของแบรนด์แม่เอย ที่สามารถเก็บได้นานและเหมือนได้ทานขนมไทยทำเสร็จใหม่ๆ  รสชาติแบบคนไทย ทำให้ก้าวเข้าสู่ตลาดโกอินเตอร์ สามารถส่งออกไปได้ในหลากหลายประเทศ

คุณดิศรณ์ บอกเอาไว้ว่า “ถึงแม้ว่าตอนนี้ตลาดในประเทศ จะไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจต่างๆ จึงทำให้การค้าขายเงียบลงไปบ้าง แต่ก็ยังมีแนวคิดที่จะทำการตลาดด้วยกัน 2 แบบคือ แบบที่ 1 เน้นเป้าหมายไปที่กลุ่มโมเดิร์นเทรดภายในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ และการตลาดแบบที่ 2 คือ เน้นไปที่กลุ่มซื้อขายโดยตรง อย่างเช่น บรรดานักท่องเที่ยว ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายของฝาก

ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ ต่างก็มีความต้องการสินค้าตัวใหม่ คล้ายกัน เพราะต่างก็ต้องการสินค้าที่มีความแปลกใหม่ หรือให้ความรู้สึกแตกต่าง

ทั้งประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนมากมาย แบรนด์แม่เอย จึงมองเห็นโอกาส จากการขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยว จึงเปิดร้านขายสินค้า โดยยึดเอาทำเลของจังหวัดนครปฐม เป็นที่เปิดร้าน เพื่อกระจายสินค้า เนื่องจากเป็นพื้นที่ตั้งของโรงงานแม่เอยอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เชื่อมโยงเวลานักท่องเที่ยวต้องการเดินทางไปเที่ยวในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย”

“ปัจจุบัน ขนมเปี๊ยะและขนมไทย แบรนด์แม่เอย ส่งออกไปกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า ฟิลิปปินส์ เป็นต้น หรือทางฝั่งยุโรป ส่งขายไปยัง ลอนดอน เยอรมนี นอร์เวย์ ฝรั่งเศส เบลเยียม และฮอลแลนด์ สำหรับขนมไทยเฉพาะกลุ่ม อย่าง ข้าวเหนียวทุเรียน ส่งออกไปยังประเทศจีนเป็นหลัก ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีมาก รายได้รวมที่แบรนด์แม่เอยทำได้ต่อปี เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาท” คุณดิศรณ์ กล่าว

สำหรับใครที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ www.kanommaeoey.com หรือ เลขที่ 8/3 หมู่ 6 ถนนมาลัยแมน ตำบลวังตะกู อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม 73000