เจอมรสุมชีวิต เกือบคิดสั้น สู้ใหม่ด้วย ขนมกล่องไม้ขีด ชิ้นละ 6 บาท

เจอมรสุมชีวิต เกือบคิดสั้น สู้ใหม่ด้วย ขนมกล่องไม้ขีด ชิ้นละ 6 บาท

แม้จะเจอมรสุมชีวิต จนทำให้เธอต้องต่อสู้กับโรคซึมเศร้าเพียงลำพัง แต่ คุณขวัญ-ขวัญนา ณรงค์มี ก็ไม่เคยคิดท้อ เธอตัดสินใจกลับบ้านเกิดมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ เปิดร้านขนมกล่องไม้ขีด ธุรกิจที่ทำให้เธอดีขึ้นจากโรคซึมเศร้า ไปพร้อมๆ กับสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวเดือนละ 80,000-90,000 บาท

คุณขวัญ วัย 34 ปี เล่าให้เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ฟังว่า เธอเป็นสาวนครสวรรค์ที่เข้าไปใช้ชีวิตในเมืองหลวง ทำงานเป็นพนักงานราชการนาน 3 ปี แต่ได้ตัดสินใจลาออกในช่วงโควิดรอบแรก เพราะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จากวิกฤตที่เข้ามาในชีวิตหลายๆ ด้าน

“พนักงานราชการเงินเดือนไม่สอดคล้องกับรายจ่าย จึงลงทุนทำงานเสริม ทั้งเปิดร้านซูชิและทำขนมขาย จนมาทำธุรกิจสกรีนก็ล้มไม่เป็นท่าเพราะโควิดมา เป็นหนี้หลักแสนบาท พอเจอวิกฤตหลายๆ อย่างรุมเร้า บวกกับความกดดันรอบตัว ทำให้เกิดความคิดชั่ววูบคิดสั้น แต่เราก็ดึงตัวเองกลับมาได้ และเริ่มรักษา ดูแลตัวเองคนเดียวมาตลอดค่ะ ปรับยาหลายตัวมาก หมดค่ารักษาเกือบ 80,000 บาท คิดว่าอยู่แบบนี้คงไม่ไหว เลยตัดสินใจออกจากสังคมเดิม กลับบ้านมาอยู่กับครอบครัว พร้อมหากิจกรรมทำให้ลืมโรคซึมเศร้า” คุณขวัญ เล่าย้อนเหตุการณ์ให้ฟัง

เคยขายลูกชิ้น
เคยขายลูกชิ้น

หลังกลับมาอยู่บ้าน คุณขวัญเริ่มงานที่ใหม่พร้อมกับเริ่มอาชีพแม่ค้าขายของในช่วงเย็น ขายทั้งลูกชิ้นปิ้ง ขนมเบื้อง แต่ก็เงียบเหงา จึงเปลี่ยนมาขายขนมกล่องไม้ขีดร่วม 2 ปีแล้ว

“แถวบ้านเคยมีคนทำขนมกล่องไม้ขีดขายเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วและไม่มีอีกเลย อีกอย่างเราทำเบเกอรี่เป็นอยู่แล้ว แต่เราจะไม่ทำเบเกอรี่แบบคนอื่น เราต้องหาจุดต่าง อย่างขนมกล่องไม้ขีดทำง่ายเพราะมีแม่พิมพ์ขาย เราแค่ดัดแปลงแป้ง ไส้ต่างๆ ให้เหมาะสม” แม่ค้าสาว อธิบาย

โดยไส้ดั้งเดิมของขนมกล่องไม้ขีด มีแค่ไส้ครีม กับไส้เผือกเท่านั้น เมื่อทำขายคุณขวัญจึงเพิ่มไส้ให้หลากหลาย “มีแฮมชีส ไส้กรอกชีส ปูอัดชีส ข้าวโพด ฝอยทอง สังขยาใบเตย เผือก มะพร้าว ครีมคัสตาร์ด ลูกค้าส่วนใหญ่ชอบสังขยาใบเตย มะพร้าว ขายดีมากๆ ค่ะ” 

ในช่วงแรกที่เปิดร้านขนมกล่องไม้ขีด คุณขวัญทำควบคู่พร้อมกับงานประจำ โดยจะขายในช่วง 4 โมงครึ่ง ถึง 2 ทุ่ม เธอแชร์ให้ฟังถึงฟีดแบ็กช่วงนั้นว่า “ดีเลยค่ะ แปลกใหม่ไม่มีใครขาย จนได้ทำเลใหม่จากหน้าหมู่บ้าน เป็นถนนริมชล ใกล้เชิงสะพานเดชา ถึงจ้างพนักงานมาเปิดร้านขายทั้งวัน ยอดขายเฉลี่ยวันละ 2,000-3,000 บาท เมื่อขายดีขึ้นๆ เริ่มลงตัว ก็ลาออกจากงานมาคุมธุรกิจจริงจัง”

สำหรับสูตรเด็ดความอร่อยทำให้ลูกค้าติดใจ จนสร้างยอดขายเข้ากระเป๋านั้น คือ ไส้ทำสดใหม่ ใส่เยอะ เข้ากับแป้งนุ่มๆ กัดไปเจอแต่ไส้ ไม่มีผิดหวัง โดยปรับราคาขึ้นมา 1 บาท “ช่วงแรกขายชิ้นละ 5 บาท เพิ่งปรับราคาขาย 6 บาท เมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ เพราะวัตถุดิบขึ้นราคา ลูกค้าเข้าใจมาก ไม่ว่าอะไร แถมยังอุดหนุนเหมือนเดิม”

นอกจากขายหน้าร้านแล้ว คุณขวัญยังขายแฟรนไชส์ให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย “ลงทุนเริ่มต้น 19,500 บาทค่ะ ได้อุปกรณ์ วัตถุดิบพร้อมขายมากกว่า 20 รายการ ซื้อแค่โต๊ะ แก๊สเพิ่มเท่านั้น ถ้าวัตถุดิบหมดมารับจากร้านในราคาส่งเพื่อขายในครั้งต่อไป” เธอบอกอย่างนั้น และว่ามีแฟรนไชส์ 20 กว่าสาขาแล้ว 

ปัจจุบัน คุณขวัญสามารถสร้างยอดขายเฉพาะสาขาหลัก 80,000-90,000 บาท เป็นรายได้รวมยังไม่หักรายจ่าย อย่างไรก็ตาม นอกจากมีรายได้เลี้ยงครอบครัวและช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินแล้ว ธุรกิจนี้ยังทำให้เธอดีขึ้นจากโรคซึมเศร้า

“งานยุ่งจนลืมคิดไปเลยค่ะ หยุดกินยาแล้วด้วย เพราะรู้สึกว่ายิ่งกินยิ่งเครียด มามุ่งการทำธุรกิจเต็มตัว ในฐานะคนที่ผ่านเรื่องราวมาก่อน อยากบอกว่าชีวิตต้องไปต่อ ถ้าท้อชีวิตเราจะท้อตาม ขอให้สู้ และทำอะไรทำให้เต็มที่”

ก่อนจบบทสนทนา เจ้าของร้านสาวทิ้งท้ายถึงแผนในอนาคตว่า “อยากพาขนมกล่องไม้ขีดขึ้นห้าง เข้าปั๊ม ให้ลูกค้าทุกกลุ่มได้ชิม” นี่คือสิ่งที่เธอตั้งใจ

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เพจ ร้านปังปัง ขนมกล่องไม้ขีด นครสวรรค์