กู้วิกฤตธุรกิจบ้าน หันทำ ปลาเค็มรวน อาหารไทยโบราณ ขายจนโกอินเตอร์ต่างแดน

กู้วิกฤตธุรกิจบ้าน หันทำ ปลาเค็มรวน เมนูอาหารไทยโบราณ ขายจนโกอินเตอร์ต่างแดน

จากธุรกิจกงสีร้านเครื่องเขียนรายใหญ่ของจังหวัดชุมพรและกาฬสินธุ์ และการเป็นตระกูลที่ออกเรือมาหลายชั่วอายุคนที่สมุทรสาคร แต่พอมาเจอกับสถานการณ์โควิด-19 และการเติบโตที่ชะงักลงของธุรกิจการศึกษาทำให้ คุณไพรินทร์ อัศวทวีโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ริน อินเตอร์ฟู้ด จำกัด เปลี่ยนวิธีคิดและหาธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต

คุณไพรินทร์ อัศวทวีโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ริน อินเตอร์ฟู้ด จำกัด

จึงหันกลับมามองที่ความชื่นชอบและความคุ้นเคยกับอาหารทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปลาอินทรีเค็ม” ที่กลายเป็นตัวเลือกแรกของการพัฒนาสินค้า เพื่อตอบโจทย์ Pain Point เรื่องกลิ่นเมื่อต้องนำไปประกอบอาหาร ผนวกกับการใช้องค์ความรู้เรื่องการรวนปลาเค็มซึ่งถือเป็นกรรมวิธีโบราณตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ชูจุดเด่นถึงกรรมวิธีการคั่วรวนกับสมุนไพรไทย อาทิ กระเทียม พริกแห้ง ไม่ใส่สารกันเสีย ไม่ใส่ผงชูรส ไม่ปรุงแต่งน้ำตาล

จึงดีไซน์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อแจกจ่ายไปยังคนใกล้ชิดและลูกค้าได้ทดลองทาน จากการสำรวจตลาด (Survey) ทำให้ทราบว่าลูกค้าชื่นชอบเพราะ “อร่อย แปลก แตกต่างจากที่เคยทาน” และมีการขอซื้อซ้ำทันที แต่ผู้บริโภคหลายท่านยังเรียกว่า “น้ำพริกปลาเค็ม” ซึ่งคลาดเคลื่อนจากคอนเซ็ปต์ของปลาเค็มรวน จึงต้องสร้างการรับรู้ใหม่ที่ชัดเจนและตรงไปตรงมาภายใต้สโลแกนที่ว่า “ปลาเค็มรวนไม่ใช่น้ำพริก” และเริ่มต้นเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ

“หลังจำหน่ายไปได้สักระยะ มีสายตรงจากลูกค้าท่านหนึ่งโทรมาจุดประกายว่าสินค้าของแบรนด์เราส่งไปจำหน่ายต่างประเทศได้ เพราะตอบโจทย์ Pain Point ของผู้ที่ต้องการทานปลาเค็มแต่ไม่สามารถทอดทานเองที่บ้าน เพราะประสบปัญหาเรื่องกลิ่นที่กระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในต่างประเทศ สินค้าของเราจึงเข้มงวดเรื่องมาตรฐานด้านอาหารและสุขภาพในหลายมาตรฐานก่อนส่งไปจำหน่าย และได้ตัดสินใจกับครอบครัวในการลงทุนทำโรงงานผลิต”

“ศึกษาเรื่องมาตรฐานอาหารต่างๆ ควบคู่ไปกับการเข้าร่วมกิจกรรมของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงทราบรายละเอียดโครงการ Thai SELECT จึงตัดสินใจสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ทันที เพราะมั่นใจว่าจะทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในสินค้า สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผลิตภัณฑ์ โดยได้กำหนดกลยุทธ์ในการทำการตลาดไว้ 2 แบบ คือ กลุ่ม Business-to-Customer (B2C) จะเป็นแบบซื้อแล้วทานเลย หรือ Ready to Eat และกลุ่ม Business-to-Business (B2B) ซึ่งจะเป็นกลุ่มร้านอาหารที่นำสินค้าไปประกอบในเมนูอาหาร หรือ Easy to Cook

ตลาดเป้าหมายแรกคือประเทศในเอเชียที่ใกล้กับประเทศไทยอย่างเมียนมา ผ่านทาง Thai Town Supermarket และมาเลเซีย ที่จะไปในรูปแบบการจับคู่ธุรกิจกับร้านอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ซึ่งมีถึง 13 ร้าน ในลักษณะของการสร้างสรรค์เมนูอาหารสไตล์ฟิวชั่นใหม่ๆ ของร้าน และยังมองไปถึงการไปสู่ตลาดที่ไกลมากขึ้นอย่างสหรัฐอเมริกา

โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทส่งออกสินค้าไทยซึ่งได้เข้ามาดูโรงงานเพื่อพิจารณาการนำไปจำหน่ายให้กับคนเอเชียที่นั่น ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่พอสมควร สำหรับการที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ร่วมกิจกรรมโปรโมตของทาง DITP ทั้งในและต่างประเทศ เพราะการขยายตลาดไปต่างประเทศนั้นนับว่ายังมีโอกาสอยู่มาก

แต่จะต้องเข้าไปในช่องทางที่ถูกต้องและมีหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุน สำหรับผู้ประกอบการที่มีสินค้าที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย มีกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน อยากให้ลองพิจารณาการขอรับตราสัญลักษณ์นี้ ซึ่งในปีหน้า ริน อินเตอร์ฟู้ด ก็เตรียมผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อจะขอรับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ด้วยเช่นกัน”