ผู้เขียน | พารนี |
---|---|
เผยแพร่ |
ธุรกิจอาหารคีโต ลูกค้ามีหลายกลุ่ม หาคู่แข่งยาก ขายดีแทบแพ็กของไม่ทันส่ง
เมื่อเห็นสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะกับคุณยาย ที่ต้องสูญเสียขาข้างหนึ่งไปด้วยโรคร้ายนี้ คุณแววพรรณ เฮงสวัสดิ์ หรือ คุณหยก จึงไม่อาจนิ่งนอนใจ เริ่มศึกษาหาวิธีดูแลตนเองและคนในครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน
คุณหยกทราบมาว่า อาหารคีโต ช่วยลดความเสี่ยงกับการเกิดโรคเบาหวาน จึงเริ่มศึกษาข้อมูล พร้อมทั้งเข้าร่วมกลุ่มผู้ทานอาหารคีโต ผ่านโลกโซเชียล ซึ่งคุณหยก ว่า อาหารคีโตไม่ใช่แค่ทางเลือกหนึ่งในวิธีลดการเกิดโรคเบาหวาน แต่ยังมีคุณค่าเหมาะกับผู้ต้องการควบคุมน้ำหนักหรือลดน้ำหนัก และนี่จึงเป็นจุดหลักให้คิดถึงธุรกิจ
“ทุกคนต้องการรูปร่างที่ดี ต้องการลดน้ำหนัก แต่ไม่อยากอดอาหาร โดยเฉพาะขนมหวาน ซึ่งอาหารคีโตตอบโจทย์เขาได้ จึงเริ่มศึกษาข้อมูลจริงจัง รวมถึงแหล่งรับซื้อผลิตภัณฑ์ ทดลองซื้อมากินมาทดสอบด้วยตัวเองก่อน สินค้าไหนดีก็เล็งไว้ เพื่อนำมาขาย”
ใช้เวลาศึกษาข้อมูลอย่างจริงจังอยู่นานนับเดือน แต่ด้วยขณะนั้นติดธุรกิจหลักคือ รับจัดงานออร์แกไนซ์ กระทั่งเกิดโรคระบาดโควิด-19 ธุรกิจหลักชะงักงัน คีโต จึงกลับมามีบทบาทสำคัญ โดยเริ่มแรก คุณหยกจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ มีสินค้าเป็นน้ำไซรัปเพียง 2 รายการเท่านั้น ซึ่งผลตอบรับเกินคาด มีผู้สั่งซื้อสินค้ากระจายในหลายๆ จังหวัด จนแพ็กสินค้าแทบไม่ทันส่ง
วันเวลาล่วงสู่เดือนที่ 3 อาหารคีโตได้รับความนิยมจากคนในพื้นที่ จนมีเสียงเรียกร้องให้เพิ่มผลิตภัณฑ์ ซึ่งนับจำนวนรายการสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภค เรียกได้ว่าหลากหลาย เหตุนี้จึงมองถึงการเปิดหน้าร้าน อันถือเป็นวิธีเพิ่มยอดขายอีกช่องทางหนึ่ง
คุณหยก เล่าอีกว่า ก่อนเปิดหน้าร้านจะศึกษาว่าในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี มีผู้ที่ทำธุรกิจนี้อยู่หรือไม่ ปรากฏว่า ส่วนใหญ่เป็นร้านขายอาหารสุขภาพ ที่อาจมีอาหารคีโตแทรกเข้ามาบ้าง แต่ทำเต็มรูปแบบยังไม่มี ซึ่งการทำธุรกิจที่นี่ถ้าคิดก่อนทำก่อนได้เปรียบ จึงเปิดหน้าร้านบนพื้นที่ของตัวเอง และเริ่มรับสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรงมาจำหน่าย
อย่างขนม จะเป็นลักษณะโฮมเมด หรือสินค้าบางรายการอยู่ในรูปแบบบริษัทก็ติดต่อโดยตรง บริษัทไหนรับตัวแทนจำหน่ายก็สมัครเลย ทำให้เราได้สินค้าต้นทุนต่ำ สามารถตั้งราคาขายได้ไม่สูงมาก ลูกค้าจับต้องง่าย
อย่างไรก็ตาม การเปิดหน้าร้านในยุคที่ต้องระวังความเสี่ยงด้านการลงทุน สิ่งไหนทำได้ เธอจะลงมือทำเอง อย่างชั้นวางสินค้าสร้างประกอบด้วยตัวเอง ตู้แช่ซึ่งมีสนนราคาสูง ยังไม่ต้องซื้อ ใช้ตู้เย็นส่วนตัวไปก่อน สำหรับผลิตภัณฑ์นำมาจำหน่ายค่อยๆ ปรับขยายรายการ โดยใช้วิธีนำผลกำไรมาลงทุนเพิ่ม จนถึงขณะนี้ร้าน Ketokan (คีโตกาญ) มีสินค้าเกือบ 100 รายการแล้ว
ประเภทสินค้าจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ อาทิ เครื่องปรุงรสอาหาร ซีอิ๊ว ซอสต่างๆ น้ำปลา น้ำตาล เกลือ ผงปรุงรส น้ำจิ้ม น้ำยำ น้ำสลัด หรือแม้กระทั่งมะนาวดอง กระเทียมดอง วัตถุดิบประเภทเส้นที่ทำจากไข่ และบุก นอกจากนั้น ยังมีน้ำพริกชนิดต่างๆ ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นปลา หมูยอ กุนเชียง ไส้กรอก ไส้กรอกอีสาน ไส้เบอร์เกอร์
ส่วนเครื่องดื่ม มีให้เลือกทั้ง ไซรัป ที่ใช้ดื่มทดแทนน้ำอัดลมหรือน้ำหวาน น้ำไซรัปผลไม้ ชาไทย และชาชนิดต่างๆ กาแฟ นม และขาดไม่ได้เลยคือ ขนม ที่มีทั้ง เบเกอรี่ ขนมปัง และขนมไทย อย่าง หม้อแกง เม็ดขนุน ฝอยทอง
“ขนมไทย ทำเป็นอาหารคีโตง่ายกว่าเบเกอรี่ เพราะวัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากธรรมชาติ เป็นสินค้าที่หลายคนชื่นชอบ อย่างผู้ตั้งครรภ์บางคนอยากกินขนมหวานมาก ก็สามารถทานได้ สำหรับลูกค้าหลัก จะอยู่ในวัยทำงาน เป็นกลุ่มคนสนใจดูแลสุขภาพ ห่วงเรื่องรูปร่าง ส่วนกลุ่มรองลงมา ได้แก่ ผู้ป่วย และผู้หายป่วยแล้วแต่ไม่อยากกลับไปป่วยอีก” คุณหยก เผย
และว่า แม้จะมีหน้าร้าน แต่ทว่าช่องทางออนไลน์ ขายผ่าน ลาซาด้า และช้อปปี้ ยังคงสร้างยอดขายได้ดี “ถ้าพูดถึงสัดส่วนรายได้ หน้าร้านจะทำได้ดีกว่า ที่เป็นอย่างนี้เพราะไม่เก่งการตลาดโซเชียล สำหรับตัวเลขยอดขาย เมื่อก่อนได้วันละหลักหมื่น ตอนนี้ลดลงมาเหลือ 5,000-6,000 บาท
เหตุที่ลดเพราะสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว เธอต้องกลับไปรับงานออร์แกไนซ์ ฉะนั้น ในส่วนของร้าน Ketokan คงต้องวางแผนจัดการระบบ เพื่อให้ผู้อื่นมาดูแลแทนได้
คุณหยก ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงธุรกิจอาหารคีโตว่า มีโอกาสก้าวไปได้อีกไกล และหาคู่แข่งค่อนข้างยาก เนื่องด้วยสถานการณ์ทำให้คนไม่กล้าลงทุน ยิ่งถ้าต้องเช่าพื้นที่เปิดหน้าร้าน ค่าใช้จ่ายสูงอยู่ในความเสี่ยง แต่กับช่องทางออนไลน์ เชื่อว่ายังคงเติบโตไปได้ดี ถ้ารู้วิธีจับตลาด
สนใจติดต่อร้าน Ketokan โทรศัพท์ 082-546-6239 หรือคลิก เพจเฟซบุ๊ก Ketokan คีโตกาญ