ต่อยอดงานวิจัย สู่แบรนด์ไอศกรีม ทุกคำทุกรสชาติ ทานแล้วเหมือนได้ช่วยเกษตรกร

ต่อยอดงานวิจัย สู่แบรนด์ไอศกรีม ทุกคำทุกรสชาติ ทานแล้วเหมือนได้ช่วยเกษตรกร
ต่อยอดงานวิจัย สู่แบรนด์ไอศกรีม ทุกคำทุกรสชาติ ทานแล้วเหมือนได้ช่วยเกษตรกร

ต่อยอดงานวิจัย สู่แบรนด์ไอศกรีม ทุกคำทุกรสชาติ ทานแล้วเหมือนได้ช่วยเกษตรกร

ในวัย 59 คุณลักษณา เดชมา หรือ ครูแดง ยึดอาชีพเป็นครูให้ความรู้แก่เด็กๆ ในวิชาผลิตภัณฑ์พืช ผลิตไม้ดอกไม้ประดับ การขยายสายพันธุ์พืช ประจำวิทยาลัยการอาชีวศึกษา จังหวัดปทุมธานี และในอีกมุมหนึ่งของชีวิต ครูแดง ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ไอศกรีมครูแดง ที่ต่อยอดมาจากงานวิจัยเมื่อปี 2552

คุณพิชิต เดชมา (สามี) และครูแดง
คุณพิชิต เดชมา (สามี) และครูแดง

ผลผลิตทางการเกษตร คือวัตถุดิบหลักทำไอศกรีม

ทำไมต้องเป็นไอศกรีม? ครูแดง บอกว่า ผู้อำนวยการขณะนั้น อยากให้ชาวต่างชาติที่มาเยือนเมืองไทยได้ทานไอศกรีมใบย่านาง ประจวบเหมาะกับใกล้งานวันครูโลก เมื่อได้รับคำสั่งจึงลงมือทำทันที

“ไปเรียนสูตรจากคนรู้จัก ตามโรงเรียนที่เปิดสอน แวะทานไอศกรีมร้านดังแทบทุกร้าน เพื่อหารสชาติ จนได้มาทดลองทำ ได้บ้างเสียบ้าง นานครึ่งปี กว่าจะเข้าที่ สุดท้ายความพยายามของเราเป็นผล ได้ไอศกรีมให้ผู้ใหญ่ให้นักศึกษาลองทาน หลายคนบอกให้เติมกะทิแบบไทยๆ หน่อย ก็ปรับตามโดยยึดหลักว่า วัตถุดิบหลักที่นำมาทำไอศกรีมต้องมาจากเกษตรกรไทย” ครูแดง เล่า 

ในที่สุด ไอศกรีมตัวแรกของครูแดงก็ได้ออกงานวันครูโลก คือ ไอศกรีมใบย่านาง ได้รับความสนใจจากผู้คนมากมาย เพราะมองว่าเป็นรสชาติแปลกใหม่ จนที่สุดต้องจดอนุสิทธิบัตร ไอศกรีมนมผสมใบย่านาง

ต่อมาครูแดงสอนเด็กปักชำใบหม่อน ทำให้รู้ว่าใบหม่อนที่แห้งแล้วมีกลิ่นเหมือนมัตฉะ จึงนำมาผสมกับน้ำย่านาง ได้รสชาติใหม่ คือ ไอศกรีมใบย่านางผสมใบหม่อน ลูกศิษย์ชิมแล้วชอบมาก

ไอศกรีมทุเรียนหมอนทอง
ไอศกรีมทุเรียนหมอนทอง

และสูตรต่อมาคือ ไอศกรีมข้าวหอมนิลผสมข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งรับซื้อข้าวจากเกษตรกรจังหวัดปทุมธานี ขายดีไม่แพ้ 2 รสชาติแรก ตามมาติดๆ ไอศกรีมทุเรียนหมอนทอง โดยย้ำว่าต้องใช้สายพันธุ์นี้เท่านั้นเพราะอร่อยที่สุด ซื้อแล้วฟรีซไว้จึงมีทำตลอดทั้งปี ไอศกรีมมะพร้าวอ่อน เน้นเนื้อมะพร้าวอ่อนแท้ๆ ซื้อจากเกษตรกรในตลาดไท ไอศกรีมเผือก ใช้เผือกหอมจากสระบุรี หรือไอศกรีมเสาวรส รับผลผลิตมาจากแม่ฮ่องสอน

ไอศกรีมข้าวหอมนิลผสมข้าวไรซ์เบอร์รี่
ไอศกรีมข้าวหอมนิลผสมข้าวไรซ์เบอร์รี่

นอกจากนี้ ยังรับผลิต OEM คือ ไอศกรีมมะม่วงน้ำดอกไม้ ส่งร้านขายในตลาดนัดจตุจักร ไอศกรีมคะน้าเคียวมัตฉะ หรือไอศกรีมเมล่อน ก็ทำเหมือนกัน 

ไอศกรีมมะพร้าวอ่อน
ไอศกรีมมะพร้าวอ่อน

ครูแดง อธิบายต่อ เหตุที่เลือกใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรไทย เป็นหลักยึดแน่วแน่มาตั้งแต่ต้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรียนและสอนด้านเกษตร จึงอยากช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ และว่าทุกคำที่ลูกค้าทานเหมือนได้ช่วยเกษตรกรด้วย

ไอศกรีมเมล่อนสีเขียว
ไอศกรีมเมล่อนสีเขียว

ปรับรูปแบบ ขายไอศกรีมแบบถ้วย

ก่อนเกิดโควิด ครูแดง มักออกบู๊ธขายตามห้างอย่าง ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ราชการ ฯลฯ แต่เมื่อไม่มีลูกน้องขาย จึงต้องปรับรูปแบบใหม่ เป็นไอศกรีมถ้วย ส่วนแบบยกถังยังมีสำหรับสั่งออกงาน

ไอศกรีมมะพร้าวอ่อนแบบถ้วย
ไอศกรีมมะพร้าวอ่อนแบบถ้วย

“ปรับมาขายไอศกรีมถ้วยลงขายในไลน์หมู่บ้าน ในเพจไอศกรีมครูแดง บางคนซื้อแจกโรงพยาบาลสนาม นำไปทำบุญ และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีอาจารย์ท่านหนึ่งทำ TikTok ให้ด้วย เป็นอีกช่องทางที่ดี ส่วนลูกค้าจังหวัดไกลๆ อาจต้องคุยกันก่อนว่าไกลขนาดไหน แต่ไม่ต้องห่วงเพราะไอศกรีมใส่น้ำแข็งแห้งได้” ครูแดง เล่า 

ด้านราคาจำหน่าย ถ้วยละ 35 บาท ส่วนไอศกรีมทุเรียนหมอนทอง 40 บาท และมีเรตราคาส่งต่างหาก คือ สั่งไปขาย 100 ถ้วยขึ้นไป ถ้วยละ 25 บาท 500 ถ้วยขึ้นไป ถ้วยละ 20 บาท ส่วนแบบถัง เริ่มต้นถังละ 2,200 บาท ค่าส่งบวกตามระยะทางจริง 

ไอศกรีมข้าวหอมนิลผสมข้าวไรซ์เบอร์รี่แบบถ้วย
ไอศกรีมข้าวหอมนิลผสมข้าวไรซ์เบอร์รี่แบบถ้วย

“ทำงาน 2 อย่าง ได้สามี คุณพิชิต เดชมา ช่วยเป็นกำลังหลัก เสาร์-อาทิตย์ก็ช่วยๆ กันทำ ไม่มีลูกน้องแล้ว เขากลับบ้านกันหมดเพราะโควิด บางทีลูกว่างก็มาช่วยบ้าง หวังเหมือนกันอยากให้ลูกมาสานต่องานนี้ แต่ตอนนี้ลูกขอทำงานตามที่ร่ำเรียนมาก่อน” ครูแดง ทิ้งท้าย 

หากสนใจสามารถเข้าไปดูเพจ ไอศกรีมครูแดง โทรศัพท์ 081-842-4118 คุณพิชิต หรือ 089-811-3453 ครูแดง วิสาหกิจชุมชนไอศกรีมและน้ำสมุนไพรครูแดง 1267 ม. 3 ต.บางพูน อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000