ใจสู้ ไม่ยอมแพ้! นักศึกษาหนุ่ม ขายขนมนำเข้า เก็บหอมรอมริบ เปิดร้านน้ำเต้าหู้ สู้โควิด

ใจสู้ ไม่ยอมแพ้! นักศึกษาหนุ่ม ขายขนมนำเข้า เก็บหอมรอมริบ เปิดร้านน้ำเต้าหู้ สู้โควิด

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีโอกาสได้คุยกับ คุณเจมส์-ธีรพล ตันติกูล นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัย 21 ปี เจ้าของร้าน น้ำเต้าหู้โทฟุเจมส์ ในซอยรังสิตภิรมณ์ ที่เพิ่งเปิดท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด และสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน แต่ก็ประคับประคองตัวเองมาได้กว่า 2 เดือนแล้ว

คุณเจมส์ เล่าให้ฟังว่า พื้นเพที่บ้านมีฐานะทางการเงินไม่ได้ดีมากนัก บ้านที่อาศัยอยู่ตอนนี้เป็นแฟลตทหาร ซึ่งครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ที่ชั้น 5 ที่ไม่มีลิฟต์ พ่อแม่ซึ่งอายุมากขึ้นแล้ว ต้องเดินขึ้นลงบันไดทุกวัน อีกทั้งยายที่ไม่สามารถไปไหนได้เพราะมีปัญหาเรื่องการเดิน ทำให้หนึ่งในความฝันสูงสุดของคุณเจมส์ คือการซื้อบ้านให้คนในครอบครัวได้อยู่กันอย่างสบาย เขาจึงอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเองสักอย่าง จึงตั้งใจที่จะเปิดร้าน ที่เกี่ยวกับอาหารขึ้น

คุณเจมส์-ธีรพล ตันติกูล นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัย 21 ปี เจ้าของร้าน น้ำเต้าหู้โทฟุเจมส์ (เสื้อเขียว)

“ผมเริ่มคิดทำธุรกิจเป็นของตัวเองจริงๆ จังๆ ตอนเรียนอยู่ ปี 1 เทอม 2 ครับ แต่เนื่องจากที่บ้านไม่มีเงินมากนัก การตัดสินใจจะทำธุรกิจอะไรสักอย่าง มันเลยเป็นสิ่งที่ผมกลัว เพราะถ้าล้ม เหมือนเราล้มบนพื้นคอนกรีตเลย ซึ่งมันเจ็บมาก ต่างจากคนที่มีต้นทุนที่ดีที่เวลาล้มอาจจะล้มบนฟูก แต่ผมโชคดีได้รับทุนการศึกษาจากคณะ ทำให้หมดห่วงไปหนึ่งอย่าง แล้วก็ตัดสินใจเดินหน้า ทำตามความฝันที่อยากทำร้านน้ำเต้าหู้” คุณเจมส์ เล่า

เขาเล่าต่อว่า เหตุผลที่เลือกน้ำเต้าหู้ ไม่ใช่เพราะความชอบ แต่เพราะจำได้ว่าสมัยเด็ก มีร้านน้ำเต้าหู้ที่เคยทานร้านหนึ่ง ทำรสชาติออกมาได้ละมุน ไม่เหม็นหืนหรือเหม็นเขียวของถั่ว แต่ร้านนั้นอยู่ต่างจังหวัด จึงกลับมาคิดว่า ทำไมเราถึงไม่สามารถเข้าถึงร้านน้ำเต้าหู้ดีๆ ราคาเข้าถึงง่าย แบบนี้ได้ทุกร้าน?

ประกอบกับเทรนด์ธุรกิจเครื่องดื่มอย่าง ชานมไข่มุก นั้นมีเยอะ หากคุณเจมส์จะไปลงทุน ก็ดูจะเสี่ยงไปสำหรับเจ้าของหน้าใหม่ จึงคิดว่า มาลงทุนในกลุ่มที่ไม่ได้แมสมาก แต่ยังไงก็ขายได้ดีกว่า แต่เมื่อไม่มีเงินทุน ก็ต้องหาเงิน คุณเจมส์จึงเริ่มหาเงิน โดยการขายขนมนำเข้าจากมาเลเซีย ที่เขาสั่งมาจากโกดังที่ภาคใต้ นำมาฝากขายที่ร้านค้าใน มธ.

โดยทางร้านมีการหัก 20% ของราคาขายเป็นค่าฝากขาย ช่วงแรกๆ ชายหนุ่มกล่าวว่า เป็นอะไรที่เหนื่อยมาก เพราะต้องหอบขนม ที่มีทั้งนม น้ำผลไม้กล่อง ขึ้นลงสะพานลอยข้ามไปมหาวิทยาลัย จากนั้นต้องเช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าต่อ เพื่อนำของไปส่งตามร้านต่างๆ ทำแบบนี้อยู่เดือนกว่า ก็เก็บเงินซื้อมอเตอร์ไซค์มือสองมาขับส่งของเอง

ตอนนั้นรายได้ผมถือว่าดีมาก เดือนนึงรายได้ประมาณ 24,000 แต่พอมหาวิทยาลัยสั่งปิด เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ผมจึงเป็นศูนย์เลย ก็เครียดนะครับ ผมเริ่มคิดหนักเลยว่า จะทำอย่างไรกับชีวิตดี ประจวบกับ ผมได้ไปค่ายกับทางกองทุนทำบุญวันเกิดกับธรรมศาสตร์ ท่านผู้ช่วยอธิการบดีบุญสมได้มอบหนังสือ เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม ให้ทุกคนได้อ่าน ผมก็ได้ข้อคิด และตัดสินใจเขียน business plan ของร้านขึ้น นำไปเสนอนักลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อนๆ และผู้ใหญ่ที่เคารพ”

“ผมใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ในการรวบรวมเงินจำนวน 300,000 บาท เพื่อมาทำร้านในฝันของผม จนในที่สุดผมก็สามารถเปิดร้าน น้ำเต้าหู้โทฟุเจมส์ ได้สำเร็จ ท่ามกลางสถานการณ์ของโควิด-19 ซึ่งได้หุ้นส่วนคือเบิร์ด-กรดนัย ใจอารีย์บำรุง เพื่อนสนิทที่เข้ามาช่วยกันดูแลประคับประคองร้าน ผมคิดค้นสูตรน้ำเต้าหู้อยู่ปีกว่า ลองผิดลองถูกมานานจนได้สูตรที่ลงตัว ซื้อแฟรนไชส์ง่ายกว่า ขายได้กำไรแต่มันต้องทำยอด ทำให้เราทำแล้วไม่มีความสุข ทำแล้วไม่มีความสุขมันก็ไม่อยากจะทำ ก็เลยไม่ซื้อ” คุณเจมส์ กล่าว

การทำน้ำเต้าหู้เป็นทั้งเรื่องยากและเรื่องง่าย ต้องใส่ใจตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบไปจนถึงการทำ คุณเจมส์ลงทุนสั่งเครื่องทำน้ำเต้าหู้จากไต้หวัน เพื่อให้น้ำเต้าหู้คงมาตรฐานและมีคุณภาพเหมือนเดิมทุกวัน อีกทั้งขนมปังสังขยาไข่ คุณเจมส์กับคุณเบิร์ดช่วยกันคิดค้นสูตร โดยใช้สูตรจากภาคใต้ที่ใช้ไข่แดงล้วน มาตีกับกะทิสด แล้วนำมาตุ๋นให้สุก ทุกสิ่งในร้าน คุณเจมส์สรรหาวัตถุดิบต่างๆ อยู่เกือบปี เพื่อให้ลูกค้าได้ทานสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณภาพ

“ร้านผมมีทั้งเครื่องดื่มน้ำเต้าหู้แบบร้อนและเย็น แล้วก็มีพวกนมสด ที่สั่งจากฟาร์มโคนมที่ จ.สระบุรี เอามาตุ๋นทำเครื่องดื่มเอง นอกจากนั้นก็มีเมนูขนมหวานด้วย ตัวที่ลูกค้าชอบกันมากๆ นอกจากขนมปังสังขยาไข่ ก็เป็นบัวลอยงาดำ ที่เราคิดสูตรและทำเอง”

โดยยอดขายในเดือนแรก คุณเจมส์ กล่าวว่า ได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้าที่แวะเวียนมาลิ้มลอง แต่เมื่อโควิด กลับมาในครั้งที่ 3 นี้ ยอดของร้านก็ตกลงไปถึงกว่า 60% เขาและหุ้นส่วนจึงพยายามควบคุมปัจจัยภายใน อาทิ ค่าน้ำ-ไฟ ข้าวของ วัตถุดิบต่างๆ ไม่ให้เกิน 40% ของรายได้ที่ได้ ณ ขณะนี้ และบริการกระแสเงินสดให้ได้ดีที่สุด

“ผมอยากผลักดันน้ำเต้าหู้รถเข็น ให้เป็นน้ำเต้าหู้ที่มีคุณภาพเหมือนกันทุกวัน ผมว่าตลาดนี้มันยังโตได้อีก ผมกับเบิร์ด เราต้องมาช่วยกันตั้งแต่ผลิต จัดร้าน จำหน่าย ไปจนถึงเก็บร้าน ล้างจาน ขัดหม้อ ทุกวันนี้ผมใช้รถมอเตอร์ไซค์มือสองคู่ใจในการขับรถไปซื้อของ ต้องขับรถตากแดดร้อนๆ ไปตลาด ผมเริ่มผลิตตั้งแต่เวลา 11.00 น. จนไปถึงเก็บร้านเสร็จประมาณ 02.00 น.”

“มันเป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยมากครับ จากคนที่ไม่เคยล้างจานหนักมาก่อน พอมาเจอจานกองเท่าภูเขา หม้อที่มีคราบหนัก เห็นแล้วก็ท้อใจ ทุกวันที่ผมล้างจานอยู่ จะมีหมาตัวนึงมานอนอยู่แถวนั้น เมื่อผมมองมัน มันก็จ้องตามองผม เหมือนมันจะบอกว่า สู้ๆ นะเจ้ามนุษย์ ทำให้ผมเรียนรู้ว่า เราสามารถเก็บเกี่ยวความสุขเล็กๆ ในแต่ละวันได้ ถึงแม้ผมจะเหนื่อยกาย แต่ทางใจผมกลับไม่รู้สึกเหนื่อย เพราะผมใช้หลักอิคิไกในการใช้ชีวิต คือ ได้ทำในสิ่งที่รัก ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้เรา และสร้างประโยชน์แก่สังคมคือลูกค้าได้ทานของที่มีประโยชน์มีคุณภาพ” คุณเจมส์ ทิ้งท้ายอย่างนั้น

ร้านน้ำเต้าหู้โทฟุเจมส์ เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 17.00-23.30 น. ยกเว้นวันเสาร์ สอบถามเพิ่มเติมที่ เพจ น้ำเต้าหู้ Tofu James