อาจารย์ตุ๊ก หญิงผู้หันหลังให้ตำรากฎหมาย สู่เส้นทางการเป็นครูผู้ให้ ของคนอยากมีอาชีพ

อาจารย์ตุ๊ก หญิงผู้หันหลังให้ตำรากฎหมาย สู่เส้นทางการเป็นครูผู้ให้ ของคนอยากมีอาชีพ

หากใครมองหาคอร์สสอนทำอาหาร ที่สามารถนำไปสร้างเป็นอาชีพให้ตัวเองได้ ต้องเคยได้ยินหรือเห็นชื่อ  อาจารย์ตุ๊ก หรือ คุณตุ๊ก-ขนิษฐา ชัยชาญกุล วัย 59 ปี กันมาบ้าง เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับเธอ ถึงเส้นทางการเป็นครูสอนอาชีพนี้

คุณตุ๊ก-ขนิษฐา ชัยชาญกุล วัย 59 ปี
คุณตุ๊ก-ขนิษฐา ชัยชาญกุล วัย 59 ปี

คุณตุ๊ก เล่าว่า จริงๆ แล้ว เธอเรียนจบทางด้านกฎหมาย แต่เพราะรู้สึกว่าอาชีพนักกฎหมาย ไม่ใช่อาชีพในฝัน จึงไปเรียนด้านการทำอาหาร จากวิทยาลัยในวัง ค้นพบว่า สนุกและเป็นสิ่งที่ชอบ เธอจึงเบนเข็มหันมาเอาดีทางด้านการทำอาหาร

“จริงๆ พี่เรียนจบกฎหมายมาค่ะ ไม่ได้ชอบอะไรนะ แต่เพราะสมัยก่อน การจะเรียนต่อ มันไม่มีคนไกด์ให้ว่า เรียนอันนี้เป็นยังไง เรียนอันนี้เป็นไง เลยไม่รู้ว่าอะไรเหมาะกับตัวเอง พอที่บ้านเขาแนะมาว่าเรียนอะไรดี เราก็เรียน แต่พอเรียนไปแล้วรู้สึกมันไม่ใช่เราอ่ะ พี่เลยไปหาเรียนทำอาหาร ก็ไปเรียนที่วิทยาลัยในวัง เออ มันสนุกและเราก็ชอบ ก็เรียนมาเรื่อย” คุณตุ๊ก เล่า

เมื่อเรียนจบด้านกฎหมาย แต่ยังมองไม่ออกว่าจะเดินไปทางไหน เพราะที่จบมาก็ไม่ใช่ทาง จึงไม่อยากทำในสิ่งที่ไม่ชอบ แต่เพราะมีความรัก จึงคิดว่า อยากทำอาหารดีๆ อร่อยๆ ให้คนรักทาน สิ่งที่เคยเรียนมาอย่างการทำอาหาร จึงกลายมาเป็นเส้นทางเดินในชีวิต

“จริงๆ ไปเรียนอาหาร พี่ไม่ได้คิดจะเรียนมาทำเป็นอาชีพหรอก แค่คิดว่า เรามีแฟน ก็อยากทำกับข้าว ทำขนมให้เขากิน ไอ้สิ่งที่เรียนๆ ไว้ ก็เป็นสิ่งช่วยชีวิต ก็ทำอาหารเป็นอาชีพเสริมก่อน อย่าง แฟนพี่ทำงานส่งหนังสือ พอเขาไปทำงาน พี่ก็จะทำพวกลอยแก้วให้เขาไปกิน พอพี่ไปรับลูก พี่จะติดกับข้าวใส่กล่องไปให้ลูกกินด้วยอยู่แล้ว ระหว่างนั่งรอก็เห็นคนเอาของมาขาย เลยก็ทำพวกน้ำพริก ขนมเล็กๆ น้อยๆ ไปขายให้ผู้ปกครองที่มารอรับลูก ทำไปเรื่อยๆ ก็เห็นว่ามันทำเงินได้ พี่ก็เลยยึดการทำอาหารเป็นอาชีพหลักไปเลย” คุณตุ๊ก กล่าว

จนเมื่อปี 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งขึ้น หากสามีที่ทำงานเป็นเสาหลักเกิดสิ่งไม่คาดฝันขึ้น ครอบครัวจะอยู่อย่างไร คุณตุ๊กจึงหันกลับมามองว่า อาหารก็ถือเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง อย่างไรเสียคนก็ยังต้องกิน อีกทั้ง น้ำพริก เป็นอาหารพื้นบ้านที่ไม่ว่าใครก็ต้องทาน และสามารถทานคู่กับอะไรก็ได้ เธอจึงผันตัวมาเป็นแม่ค้าน้ำพริก

“ปี 40 เกิดต้มยำกุ้ง แฟนพี่ทำงานเป็นยี่ปั๊วส่งหนังสือ มันก็ได้รับผลกระทบกันเต็มๆ แล้วพี่เป็นคนไม่ชอบอยู่เฉยๆ สิ่งที่เราทำได้ดีคือการทำอาหาร โดยเฉพาะน้ำพริก ที่เรามีสูตรอยู่ในมือ 70 กว่าสูตร ซึ่งมันสามารถทำเป็นอาชีพได้ เลยผันตัวมาเป็นแม่ค้าน้ำพริก ขายอยู่หน้าบ้าน ทีนี้ ม.เกษตรฯ กำแพงแสน เขาเห็นว่า น้ำพริกเราแปลกดี ก็เชิญไปเป็นครูอาชีพแล้วก็ทำเป็นสูตรหนังสือขายด้วย”

“จริงๆ พี่ฝันอยากเอาน้ำพริกตัวเองไปขายในห้างนะ แต่มันก็ไม่มีใครมองเรา จนเรามารู้ทีหลังว่าที่เขาไม่มองเพราะเราขาดแบรนด์ ที่มันเป็นตัวการันตีสินค้า เลยพัฒนาจนได้เชลล์ชวนชิม ตามด้วย OTOP ได้ อย. มผช. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) ทีนี้ก็เริ่มมีคนสนใจเรา วันหนึ่งก็ไปตำน้ำพริกโชว์ในงานของ ททท. ทางห้างเขาเห็น ก็มาเชิญเราไปออกบู๊ธ ก็นับว่าทำฝันได้สำเร็จ ได้ไปขายในห้าง ก็ทำน้ำพริกขายมาเป็นสิบปี เพิ่งมาหยุดขายเอาตอนน้ำท่วมนี่เอง” คุณตุ๊ก เล่าอย่างนั้น

ถึงแม้จะเลิกทำน้ำพริกขาย แต่คุณตุ๊กก็ไม่ได้หวงวิชาความรู้ เพราะเธอเลือกถ่ายทอดวิชา โดยการเปิดคอร์สสอนสูตรน้ำพริก ที่คุณตุ๊ก กล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจว่า เจ้าของแบรนด์น้ำพริกดังๆ ที่เราซื้อทานกันตามตลาดตามห้างนั้น เป็นลูกศิษย์ของเธอเอง

นอกจากจะเปิดคอร์สสอนทำน้ำพริกแล้ว คุณตุ๊กยังเปิดร้าน ปังปากทาง ร้านขนมปังราคาไม่แพง ที่เปิดควบคู่กับน้ำพริกมาได้ 10 กว่าปีแล้วด้วย

“ด้วยความที่พี่เป็นคนชอบพัฒนาตัวเอง อยู่นิ่งๆ ไม่ค่อยได้ แล้วก็อยากหาอาชีพเบาๆ สบายๆ ทำ เลยเปิดร้านปังปากทาง ทำคู่มากับน้ำพริก มาได้ 10 ปีแล้ว แต่ก็เปิดๆ ปิดๆ เลยพยายามเปิดให้บ่อยขึ้น ตอนนี้ก็เรียกว่า เปิดร้านขนมปังเป็นหลัก ทำน้ำพริกเป็นอาชีพเสริม” คุณตุ๊ก ว่าอย่างนั้น

โดยเบเกอรี่ในร้านปังปากทาง จำหน่ายในราคาที่ไม่แพงเลย เพียง 10 บาทเท่านั้น คุณตุ๊ก บอกว่า ราคานี้เพิ่งเริ่มขายเมื่อช่วงที่เกิดโควิดนี้เอง

“โควิดมา ก็กระทบนะในบริบทร้านขนมปัง เพราะถึงเราจะเปิดร้านเล็กๆ ขายได้วันละ 3-4 พัน แต่พอโควิดมันก็ต้องปรับตัว เพราะพี่ฟังเสียงลูกค้าเสมอ เรายังกระทบ แล้วเขาจะไม่กระทบได้ไง ก็เลยปรับราคาลง ขายทุกอย่างเป็น 10 บาท จากที่ขาย 35 บาท 3 อย่าง 100 ก็อาศัยจากที่ทำก้อนใหญ่ๆ ก็ทำเป็นก้อนเล็กๆ ทุนก็ไม่จม แล้วก็ยังขายได้ แม้จะขายได้น้อยกว่าเดิม แต่มันก็ยังมีเงินมาหมุนค่าแรง ค่าวัตถุดิบของวันต่อไปได้ แล้วโควิด อาหารแช่แข็งกับน้ำพริกขายดีมาก พี่ทำขายเสร็จก็จะฟรีซแข็งแล้วส่งให้ลูกค้า ผลตอบรับดีเลยทีเดียว” คุณตุ๊ก เล่าถึงวิธีการประคองร้านในช่วงโควิด

ส่วนด้านการเปิดคอร์สสอนทำอาหาร คุณตุ๊ก กล่าวว่า เนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิด ทำให้ลูกศิษย์บางคนเดินทางมาเรียนไม่ได้ เธอจึงปรับตัวใหม่ หันมาทำออนไลน์ โดยศึกษาวิธีการจากยูทูบแล้วมานั่งถ่ายคลิป ตัดต่อเอาเอง

“พอเกิดโควิด ลูกศิษย์ก็เดินทางมาเรียนที่ร้านกันไม่ได้ ก็เลยมานั่งดูยูทูบ หาวิธีถ่ายคลิป ตัดต่อ แล้วมานั่งทำเอง ตอนนี้ก็ทำไปได้ 15 คอร์สแล้ว ผลตอบรับจากลูกศิษย์ก็ดีค่ะ เพราะคอร์สพี่ไม่แพง ราคา 199 399 599 คอร์สที่ได้รับความนิยม คือ อาหาร ราคาถูกที่สามารถทำขายตลาดนัดได้ คือมันก็ไม่ได้เยอะแต่ก็ขายคอร์สได้ตลอด ก็อยู่ได้ค่ะ” คุณตุ๊ก กล่าว

“ร้านปังปากทาง พี่ก็กำลังทำเป็นแฟรนไชส์ แต่ก็กำลังร่างกฎอยู่ ว่าจะทำให้เป็น สมาร์ตแฟรนไชส์ ที่ลูกค้าหรือคนที่สนใจแต่ทุนน้อย เข้ามาคุยกันได้ว่า คุณมีของอะไรอยู่ก่อนแล้ว เวลาซื้อแฟรนไชส์ไป จะได้ไม่ต้องซื้อทั้งคอร์ส เพราะพี่ไม่ได้เดือดร้อน ยังมีช่องทางทำมาหากินอื่นอีก แต่คนที่เขาไม่มีหรือมีเงินก้อนสุดท้าย เขาก็ไม่อยากเสี่ยง ก็ถือว่าช่วยๆ กันไป” คุณตุ๊ก กล่าวทิ้งท้าย

หากสนใจแฟรนไชส์ หรือคอร์สทำอาหาร สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก ขนิษฐา ชัยชาญกุล