กล้วยตาก “จิราพร” เจอพิษโควิด ทำยอดหาย 70% ก่อนพลิกฟื้นได้ภายใน 2 เดือน

กล้วยตาก “จิราพร” เจอพิษโควิด ทำยอดหาย 70% ก่อนพลิกฟื้นได้ภายใน 2 เดือน

กล้วยตาก หากกล่าวถึงของดีประจำจังหวัดพิษณุโลก สินค้าที่ติดโพลมาอันดับต้นๆ เลย คือ กล้วยตาก โดยเฉพาะ กล้วยตากของอำเภอบางกระทุ่ง ที่มีความนุ่ม กลิ่นหอม รสหวานอร่อย อีกทั้งยังสะอาด ปราศจากฝุ่นละอองและแมลงตอม จึงได้รางวัลสินค้าไทยดีเด่น” ประจำปี 2532 กลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค จนมีพ่อค้าแม่ขายที่มารับไปขายต่อ โดยคุณแม่ของ คุณอิ๋ว-จิราพร พงศ์รุจิกรพันธ์ ผู้บริหารและก่อตั้ง กล้วยตาก จิราพร ก็เป็นหนึ่งในนั้น

เธอเล่าให้ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ฟัง ถึงที่มาที่ไปของธุรกิจ กล้วยตาก จิราพร ว่า ปัจจุบันเธอทำธุรกิจขายกล้วยตากมาได้ร่วม 30 ปีแล้ว โดยเดิมที คุณแม่เป็นแม่บ้านเฉยๆ ก็หันมาทำกล้วยตากขายเป็นอาชีพเสริมตามฤดูกาล โดยอาศัยไปรับสินค้ามาขายต่อ เพราะที่บ้านของเธอที่พิษณุโลก พวกกล้วย กล้วยตากนี่ถือเป็นของดังประจำถิ่น

กล้วยตาก จิราพร

“พี่ก็ช่วยแม่ขาย หลังๆ มันมีปัญหาเรื่องคุณภาพเลยขยับมาทำขาย แล้วพอเรียนจบก็กลับมาอยู่ที่บ้าน เลยมานั่งคิดว่า จะทำกล้วยตากขายเป็นอาชีพหลักเลยดีไหม เพราะยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็ตัดสินใจยึดเอาเป็นอาชีพทำมาหากินของตัวเองไปเลย ตอนนั้นก็ยังไม่มีแบรนด์นะ เพราะแม่พี่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพมากกว่า แต่พอพี่เอามาทำเป็นอาชีพจริงจังแล้ว เลยคิดว่าต้องทำแบรนด์ขึ้นและทำการตลาดไปเรื่อยๆ โดยเริ่มจากขายตามร้านขายของฝากอะไรแบบนี้ก่อน”

คุณอิ๋ว เล่าต่อว่า ทำไปได้สักพักกล้วยตากของเธอก็เริ่มเป็นที่รู้จัก แต่สินค้ายังไม่มีความแตกต่างจากเจ้าอื่นๆ ที่มีอยู่ในตลาดเท่าใดนัก

“คือแพ็กเกจเราดูไม่ค่อยทันสมัยน่าซื้อ ไหนจะคู่แข่งที่เยอะ การขายตัดราคากันอีก ทำให้มันกำหนดราคาเองไม่ได้ทั้งๆ ที่เราทำงานหนักเลยนะ กำไรก็นิดหนึ่ง เลยคิดว่าต้องหันมาทำเรื่องแบรนด์และแพ็กเกจจิ้งจริงๆ จังๆ แล้วแหละ ถ้าเราไม่เปลี่ยน มันไปต่อไม่ไหวแน่ๆ มันจะไม่มีที่ยืนแล้ว”

เจ้าของธุรกิจกล้วยตากเจ้าดัง เผยต่อว่า ประมาณปี 53 เรียกว่าเป็นการปรับเปลี่ยนแบรนด์ครั้งแรกและครั้งใหญ่เลยทีเดียว ในตอนนั้นเธอทำการบ้านกับทีมงานอย่างหนัก ในการกำหนดทิศทางธุรกิจว่าจะเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์กันอย่างไร เปลี่ยนไปทางไหน จะวางตำแหน่งยังไง แม้แต่ “เจ้าของ” อย่างเธอก็ต้องเปลี่ยนตัวเองด้วยเช่นกัน

คุณอิ๋ว-จิราพร พงศ์รุจิกรพันธ์ ผู้บริหารและก่อตั้ง กล้วยตาก จิราพร

“จากแม่ค้าบ้านๆ ก็ให้มีมาดนักธุรกิจนิดหนึ่ง และก็ตกตะกอนว่า กล้วยตากของเราจะเป็นกล้วยตากที่แม้จะผลิตไม่มาก แต่มันต้องขายได้ในราคาที่เรากำหนดเองได้ เลยเกิดเป็น กล้วยตากแบบพรีเมี่ยม โดยกล้วยเราก็คัดเลือกสายพันธุ์ที่จะนำมาทำ เราใช้กล้วยแก่จัด อุดมไปด้วยวิตามิน ได้รสชาติอร่อย และเนื้อนุ่ม จึงกลายเป็นที่มาของ กล้วย 110 วัน แล้วสินค้าเราทุกชิ้นต้องให้รสชาติสม่ำเสมอ ด้านบรรจุภัณฑ์ ก็มีการออกแบบเพื่อให้เรียบหรู พรีเมี่ยม น่าหยิบซื้อ” เจ้าของกล้วยตาก จิราพร กล่าว

“เรามีการพัฒนาอยู่ตลอด เอามาทำกล้วยตากเคลือบชาเขียว เคลือบช็อกโกแลตอะไรแบบนี้ด้วย นอกจากนั้นก็มีพวกผลไม้อบแห้งอื่นๆ รวมถึงสแน็กต่างๆ จนกลายมาเป็น กล้วยตาก จิราพร ในทุกวันนี้  แล้วปัจจุบันสินค้าเราวางจำหน่ายที่โมเดิร์นเทรดและส่งออกต่างประเทศด้วย หลักๆ ก็อเมริกา ออสเตรเลีย รัสเซีย ยุโรป และก็แถวเอเชียค่ะ”

ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบฉันใด เส้นทางธุรกิจก็ไม่ได้ราบรื่นฉันนั้น เพราะเมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ามา ธุรกิจกล้วยตากของคุณอิ๋วก็ต้องสะดุดล้มเหมือนกัน

“ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์อะไรหนักเท่าโควิด-19 เลยค่ะ ที่ว่าน้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นก็ไม่หนักเท่านี้ คือตอนน้ำท่วมก็วิกฤตเหมือนกัน แต่เรายังผลิตสินค้าออกมาส่งขายให้ผู้บริโภคในพื้นที่อื่นๆ ได้อยู่ ส่งออกก็ไม่ได้กระทบ จะติดๆ ขัดๆ ก็เรื่องขนส่งเล็กน้อยเท่านั้น แต่พอเป็นโควิด บอกเลยว่าหนัก เมษายน ยอดเราตกลงไปกว่า 70% ไหนจะล็อกดาวน์ มาตรการหยุดบินเข้า-ออก ร้านที่เราส่งโมเดิร์นเทรดอย่างคิง เพาเวอร์ เอเชียทีค อะไรแบบนี้ก็ปิดตามโควิดด้วย ถามว่ามีออนไลน์ไหม มี แต่เราไม่ได้โฟกัสที่ตรงนั้นมากเท่าไหร่ จริงๆ เราเห็นสถานการณ์และเตรียมตัวมาตั้งแต่มีนาคมแล้ว พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้แน่นอนมันทำใจไม่ได้ที่ยอดมันตกไปถึงขนาดนั้น ก็พยายามตั้งสติ คิดอยู่ตลอดว่าเราจะล้มไม่ได้ พยายามตั้งสติ เพราะเรามีเครือข่ายเกษตรกรที่ส่งวัตถุดิบให้เรา และโรงงานก็ต้องซื้อปกติ ไหนจะมีพนักงานกว่า 60 ชีวิตที่เราต้องดูแล ก็พยายามแก้ไขปัญหาที่มันเกิดขึ้น ทำยังไงก็ได้ให้เรามีรายได้เข้ามา ไม่ได้นึกถึงกำไรแล้วตอนนั้น คิดแค่ว่าเราต้องมีเงินมาจ่ายพนักงานให้ได้” คุณอิ๋ว กล่าว

ผลิตภัณฑ์ กล้วยตาก จิราพร

เธอเผยต่อว่า หลังจากที่ตั้งปณิธานว่าต้องหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายให้พนักงานแล้ว จึงทำทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าที่ตั้งไว้ ทั้งเรียกประชุมกับพนักงานทุกคน บอกเล่าว่าสถานการณ์ที่เผชิญอยู่เป็นอย่างไร ทิศทางธุรกิจจะดำเนินต่อไปยังไง

“พี่ตั้งใจว่าจะไม่เอาใครออกทั้งนั้น เพราะเขาก็อยู่กับเรามานาน ก็คิดว่าจะปรับตัวกันยังไง ช่องทางไหนที่ทำได้ก็ทำ แน่นอนว่าออฟไลน์เรามันสะดุดแล้ว และเราก็มีออนไลน์อยู่ แต่ไม่ได้เน้น ก็หันมาโฟกัสที่ออนไลน์มากขึ้น แล้วก็ไปดูพวกรายการแนะนำวิธีปรับตัว ว่าจะทำยังไงให้ธุรกิจมันสามารถไปต่อและอยู่รอดได้ มองในแง่ดี วิกฤตครั้งนี้มันก็ถือเป็นโอกาสให้เราหันมาพัฒนาช่องทางออนไลน์ของเราให้มากขึ้นนะ เพราะพอเราทำ เราได้ลูกค้าใหม่ๆ จากทางนี้เพียวๆ เลย” คุณอิ๋ว เล่า

เธอยังเล่าด้วยน้ำเสียงติดตลกอีกว่า ในตอนที่ตัดสินใจทำการปรับตัว ตนยังไม่ได้มีสติอะไรมากนัก ไม่มีวางแผนวางกลยุทธ์อะไร คิดเพียงแต่จะขายหาเงินอย่างเดียว เพราะสต๊อกของที่มีเยอะ บางส่วนก็จะหมดอายุ อีกทั้งผู้ประกอบการหลายๆ ธุรกิจก็มาอยู่ในออนไลน์กันหมด จึงต้องมีการปรับการวางแผน วางวิธีการให้จริงจังขึ้น อันไหนขายไม่ทันขายไม่หมดก็เอาไปแจกบ้าง ทำบุญบ้าง อันไหนจัดโปรโมชั่นได้ก็ทำ โดยให้เหลือสต๊อกและเจ็บตัวให้น้อยที่สุด

“ตอนนี้ส่วนที่เป็นการขายออฟไลน์ เราก็ได้ลูกค้ากลับมาเยอะแล้ว เพราะเริ่มมีการคลายล็อก ส่งออกได้บ้าง แล้วเป็นผลพวงที่ทีมขายเราทำการบ้านกันหนัก ส่วนออนไลน์ เราก็ใช้วิธีกลับไปดูแลช่วยเหลือลูกค้าที่มาสั่งของเราไปขายต่อ เพราะออนไลน์เราได้จากกลุ่มนี้พอสมควรเลย แล้วก็เอาคอนเทนต์เข้ามาเสริมเยอะๆ ลองผิดลองถูก เดาใจลูกค้าไปว่า ถ้าเราออกสินค้าตัวนี้ไป จะโดนใจเขาไหม เพราะลูกค้าออนไลน์กับออฟไลน์ ไม่เหมือนกัน เราก็ต้องปรับสินค้าเราไปตามความเหมาะสม ตัวนี้ควรไปลงออนไลน์นะ ตัวนี้ควรไปออฟไลน์ ถึงออกไปแล้วมันไม่โดน ขายไม่ค่อยได้ ก็อย่ายอมแพ้ รวมๆ แล้ว ออฟไลน์เรากลับมาประมาณ 80% กว่าๆ ส่วนของออนไลน์หลังจากที่เรามาทำแบบจริงจังยอดก็เพิ่มขึ้นทุกเดือน เป็นอีกช่องทางที่ช่วยยอดขาย และในส่วนของออฟไลน์แม้จะกลับมาบ้างแล้ว แต่คงไม่เหมือนเดิม New Normal เราคงต้องปรับตาม เพื่อประคับประคองธุรกิจให้ดำเนินต่อ พี่ก็คิดอยู่ว่า ถ้ากลับมาบินได้เหมือนเดิม ธุรกิจก็น่าจะกลับมาได้เหมือนเดิมแล้วแหละ แต่เราก็ต้องทำการบ้านให้หนักกว่าเดิม เพื่อต่อยอดสินค้าให้ได้มากกว่าเดิม” คุณอิ๋ว กล่าวทิ้งท้าย

สนใจซื้อกล้วยตากและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของแบรนด์ จิราพร ได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก กล้วยตากจิราพร / Jiraporn Banana

เผยแพร่เมื่อ วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ.2563