ซากุระ ราเมน รถโมบายกิ๊บเก๋ดึงดูดลูกค้า

ภาพคุ้นชินของผู้คนเมื่อยามไปยังถนนคนเดินตรงถนนจะนะในตัวเมืองสงขลาช่วงเย็นวันศุกร์-เสาร์คือรถเคลื่อนที่ของร้านซากุระ ราเมน ที่เต็มไปด้วยลูกค้า ขณะบางวันบางช่วงถึงขั้นต้องยืนรอคิวกันเลยทีเดียว  อาหารญี่ปุ่นหลากเมนูของร้านนี้ใช่เพียงจะอร่อยถูกปากคนทั่วไปเท่านั้น ราคายังไม่แพง จึงทำให้ขายดิบขายดีและมีลูกค้าประจำมากหน้าหลายตา รวมทั้งผู้มาเยือนจากต่างถิ่นที่ชอบอกชอบใจความกิ๊บเก๋ของร้านโมบายแห่งนี้ ซึ่งนำรถโดยสารแบบโบราณมาตกแต่งอย่างสวยงาม

คุณยษพัชร์ เกียรตินภาวีณ์ และ คุณณฐมน สกุลดำรงโภคิน สามีภรรยาเจ้าของกิจการซากุระ ราเมน ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีของชาวสงขลา ทั้งสองเคยเป็นมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯ มาก่อน แต่เมื่อตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านเกิดที่จังหวัดสงขลา เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว จึงคิดทำธุรกิจส่วนตัว โดยได้รับคำแนะนำจากน้องสาวให้ทำซูชิขายตามตลาดนัดเปิดท้าย เนื่องจากเมื่อก่อนยังไม่มีถนนคนเดิน ซึ่งช่วงอยู่กรุงเทพฯ ก็ได้ไปเรียนการทำซูชิ และช่วงแรกทำซูชิขายตามตลาดนัดในราคาชิ้นละ 5 บาท

1494-150212090007

นำรถเมล์โบราณมาตกแต่ง
รถเคลื่อนที่ขายอาหารญี่ปุ่นของสองสามีภรรยาคู่นี้ ใครไปใครมาต่างชื่นชอบ นักท่องเที่ยวจำนวนมาก มักถ่ายรูปเป็นที่ระลึกอย่างสนุกสนาน และใช่จะดัดแปลงได้อย่างเก๋ไก๋เท่านั้น ที่สำคัญ ยังใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ทั้งชั้นล่างและชั้นบน ซึ่งชั้นที่ 2 นั้นจะใช้เป็นครัวปรุงอาหาร ส่วนชั้นล่างทำเป็นโต๊ะเก้าอี้ให้ลูกค้านั่งทานกันในบรรยากาศที่ไม่เหมือนร้านไหนๆ และเนื้อที่ข้างๆ รถก็มีโต๊ะให้ลูกค้าได้เลือกนั่งอีกด้วย รวมแล้วสามารถรับลูกค้าได้เกือบครึ่งร้อย

วันที่ไปนั้นคุณยษพัชร์กำลังง่วนอยู่กับการเป็นเชฟ เลยให้คุณณฐมนเป็นคนให้ข้อมูล เธอเล่าความเป็นมาของรถโมบายคันนี้ว่า สามีอยากได้รถโบราณคันนี้ จึงซื้อมาในราคา 150,000 บาท แต่พอซื้อมาแล้วอยากทำให้เกิดมูลค่าขึ้นมาบ้าง และเมื่อขายอาหารญี่ปุ่นอยู่แล้ว เลยคิดขายราเมนด้วย โดยนำรถโดยสารแบบโบราณคันนี้มาตกแต่งเสริมอุปกรณ์ต่างๆ รวมค่าซื้อรถและตกแต่งประมาณ 200,000 กว่าบาท พร้อมขับมาขายที่ถนนคนเดิน

นอกจากจะขายที่ถนนคนเดินแล้ว สองสามีภรรยายังได้เปิดร้านถาวรอยู่ที่ย่านถนนบ้านดอน เทศบาล 1 ซึ่งราคาขายของทั้ง 2 ร้านเท่ากันหมด เพียงแต่ว่า เมนูอาหารที่ร้านอาจจะเยอะกว่าที่ถนนคนเดินเนื่องจากสถานที่กว้างขวางกว่า อย่างเช่นมีอาหารปิ้งย่างให้เลือก

“ลูกค้าส่วนใหญ่มักสั่งเมนูข้าว เพราะบางคนไม่ชินกับคำว่า ราเมน จึงสั่งข้าวไว้ก่อน เช่น ข้าวปลาซาบะ ข้าวปลาแซลมอน เด็กๆ เองก็จะชอบทานเมนูพวกนี้”

1494-150212085906

สำหรับราคาต่ำสุดคือกิมจิ 25 บาท สูงสุดเป็นเบนโตะปลาแซลมอนชุดละ 139 บาท ส่วนเมนูที่ขายดีที่สุดคือปลาแซลมอนดิบ ลูกค้าชอบทาน ขายในราคา 99 บาท เพื่อให้ลูกค้าสามารถทานได้ในราคาที่ไม่แพงนัก ส่วนซูชิขาย 8 ชิ้น 50 บาท ราเมนขายชามละ 49 บาท และถ้าลูกค้าสนใจสั่งไปทานที่บ้านทางร้านก็จัดส่งให้ด้วยตามจำนวนที่กำหนด  พร้อมรับทำตามงานเลี้ยงต่างๆ โดยติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ (086) 697-5880

ในการขาย 2 สถานที่นั้น คุณณฐมน บอกว่า ยอดขายที่ถนนคนเดินมากกว่าที่ร้านถึง 2 เท่า เนื่องจากมีลูกค้าขาจรจำนวนมาก ในขณะที่ร้านใหญ่อยู่ในทำเลไม่ค่อยดี การที่ลูกค้าจะเข้ามาทานในร้านทำให้ต้องตัดสินใจให้ดี เพราะที่ร้านไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์อะไร

ชี้คนต่างจังหวัดชอบอาหารญี่ปุ่น
เธอว่า ในการทำร้านอาหารญี่ปุ่นนี้ ใช้งบลงทุนไม่ค่อยเยอะ ด้วยสาเหตุที่สามีและตัวเธอเองเป็นเชฟช่วยกันทำ จึงประหยัดไปได้เยอะ แต่ก็มีพนักงานเสิร์ฟช่วยด้วยอีก 3-4 คน

1494-150212090340

“ตอนแรกที่เปิดร้านคิดว่าคนต่างจังหวัดไม่น่าจะกินอาหารญี่ปุ่นกันเยอะ แต่กลายเป็นว่าร้านเราทำให้ลูกค้าที่ไม่กล้าเข้าห้างมากินที่นี่ เนื่องจากเป็นราคาที่สามารถเข้าถึงได้ อาหารประเภทนี้ ตรงถนนคนเดินยังไม่มีร้านคู่แข่ง แต่ถ้าเป็นตามร้านอาหารญี่ปุ่นปกติระดับหรูจะเป็นร้านติดแอร์ที่ตั้งราคาสูงเท่ากับราคาในห้าง ซึ่งเปิดก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ก็มีร้านอาหารญี่ปุ่นเปิดตามหลังร้านซากุระ ราเมน มาแล้ว โดยตั้งราคาใกล้เคียงกัน เพราะคนนิยมกินอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เลยทำให้มีผู้สนใจเปิดร้านมากขึ้น”

คุณณฐมน พูดถึงจุดเด่นที่ทำให้ลูกค้าเข้ามาทานที่ร้านซากุระ ราเมน ตรงถนนคนเดินว่า อันดับแรกคือ รถ เหมือนกับคนที่ใช้หน้าตาดึงดูดเรียกลูกค้าเข้ามาก่อน ส่วนใหญ่ที่เห็นคือลูกค้าก็จะกลับมาทานอีก และหมุนเวียนกันมาตลอด และบางคนที่อยู่ในพื้นที่ก็ต่อยอดจากที่นี่ไปที่ร้านด้วย เพราะลูกค้าหลายรายถามว่าเปิดร้านอยู่ตรงไหนจะตามไปทาน ที่สำคัญ ราคาอาหารของร้าน ไม่ต้องมีเงินมากสามารถมาทานได้ กลุ่มลูกค้ามีหลายกลุ่ม พวกที่ขับเบนซ์ก็มาทานเยอะ

จุดเด่นอีกอย่างของรถโมบาย “ซากุระ ราเมน” คือทำเป็นรางเลื่อนส่งอาหารจากชั้นบนลงล่าง ซึ่งลูกค้าเด็กๆ จะชอบมาก เมนูอาหารก็จะส่งจากข้างล่างขึ้นไปให้กุ๊กปรุง จากนั้นกุ๊กจะส่งจานอาหารลงมา คนที่คิดค้นก็คือสามีของคุณณฐมน ซึ่งเขาเรียนจบด้านไฟฟ้ามา และเคยเป็นช่างไฟฟ้ามาก่อน แต่เป็นคนชอบประดิษฐ์

เธอให้คำแนะนำกรณีลูกค้าไม่รู้ว่าจะสั่งเมนูอะไรทานดีว่า ถ้าเป็นก๋วยเตี๋ยว เป็นเมนูเส้น เป็นมิโสะราเมน เพราะคนใต้จะค่อนข้างทานเผ็ด ลักษณะเป็นต้มยำ

1494-150212090428

ถามถึงเรื่องวัตถุดิบ เธอแจงว่า สั่งของจากกรุงเทพฯ ทั้งหมด ถ้าเปรียบเทียบการเดินทางไปหาดใหญ่ค่าขนส่งจากกรุงเทพฯ มาอาจจะถูกกว่าด้วย โดยเลือกสั่งของตามคุณภาพและราคาที่สามารถขายลูกค้าในราคานี้ได้ บางอย่างอาจจะไม่ใช่เป็นเกรด A เลย อาจจะแค่เกรด B แต่บางอย่างอาจจะเลือกเกรด A เลย อย่างปลาดิบ ต้องเลือกปลาสดมา เพราะเมื่อก่อนใช้ปลาแช่แข็งแล้วไม่อร่อย เลยต้องเพิ่มต้นทุนหน่อย เพื่อให้ลูกค้าได้รสชาติที่อร่อยกว่า หรืออย่างข้าวก็ใช้ข้าวญี่ปุ่นเกรด A สั่งจากกรุงเทพฯ เหมือนกัน โดยสั่งเจ้าประจำ ซึ่งที่สงขลาก็มีข้าวและวัตถุดิบต่างๆ แต่ไม่ได้มีคุณภาพตามที่ต้องการ

ขายดีช่วงเย็นหลังเลิกเรียน
ว่าไปแล้ว ในการทำรถโมบายขายที่ถนนคนเดินแห่งนี้ก็มีปัญหาอยู่เหมือนกัน อย่างที่คุณณฐมนเล่า ช่วงหน้าฝนมีฝนตกบ่อยครั้ง บางเดือนแทบจะไม่ได้อะไรเลย ลูกค้าไม่มาทานเลย เพราะลูกค้าไม่ออกจากบ้าน บางช่วงตัดสินใจไม่มาขายที่นี่ เปิดขายที่ร้านอย่างเดียวเพราะคนเริ่มรู้จักกันมากขึ้นแล้ว ซึ่งที่ร้านมีประมาณ 10 โต๊ะ จุได้ 40 คน ลูกค้าจะเยอะรอบเย็นตั้งแต่หลังเลิกเรียนไปจนถึง 2 ทุ่ม ส่วนที่ถนนคนเดินเริ่มขายตั้งแต่เวลา 17.30-21.30 น. แต่ถ้ามีลูกค้าต่อเนื่องก็จะประมาณ 22.00 น.

เจ้าของร้านซากุระ ราเมน ถ่ายทอดประสบการณ์การทำร้านอาหารญี่ปุ่นว่า การที่จะให้คน 100 คนมาชอบทานอาหารญี่ปุ่นจริงๆ คงมีไม่ถึง 50 คน ดังนั้น ยอดขายบางครั้งอาจจะไม่ได้เวอร์จนน่าภูมิใจ อาจจะเป็นลักษณะขายได้เรื่อยๆ แต่ถ้าออกตลาดนัดแบบนี้จะได้ตรงนั้นมากขึ้น ถามว่าขายได้ไหม ตอบว่าคงจะขายได้ เพราะคนก็ตอบรับอยู่ แต่ถ้าพูดถึงกลุ่มลูกค้าในจังหวัดสงขลาส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษา ถ้าเป็นครอบครัวจะเป็นลักษณะที่ลูกขอให้พ่อแม่พามาทาน เพราะลูกชอบอาหารญี่ปุ่น

คุณณฐมน บอกด้วยว่า การทำรถโมบายขายอาหารญี่ปุ่นแบบนี้ดีกว่าการไปเช่าตึกแถว ซึ่งเป็นการลงทุนที่ใช้เงินมาก แต่ลักษณะดังกล่าวทางธนาคารมักไม่ปล่อยให้กู้ เพราะไม่มีคนค้ำประกัน ทางร้านจึงใช้รถยนต์ที่มีอยู่ไปรีไฟแนนซ์    ซึ่งในการกู้เงินธนาคารมาต่อยอดธุรกิจก็ต้องมีการวางแผนในการส่งเงินเป็นรายเดือน พร้อมกับต้องจำกัดค่าใช้จ่ายไปด้วย

เจ้าตัวพูดถึงแนวคิดในการทำธุรกิจ ต้องขยันและอดทน ซึ่งช่วงแรกไม่ได้กู้เงินธนาคารมาทำธุรกิจ ใช้วิธีได้กำไรมาขยายต่อ ตอนนี้คืนทุนแล้ว ส่วนเรื่องแผนในการทำธุรกิจ ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยได้วางแผนอะไร เป็นการปรับปรุงต่อยอดไปเรื่อยๆ

จากบทสนทนาทั้งหมดนี้คงทำให้ได้เห็นกันแล้วว่า ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นนั้นได้ขยายวงกว้างไปยังต่างจังหวัดแล้ว ซึ่งแม้จะไม่สามารถตั้งราคาสูงเท่ากับร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ดังๆ แต่ก็มีโอกาสเติบโตได้อย่างไม่ยากเย็นนัก หากอยู่ในทำเลดีๆ