นศ. ปี 4 แบ่งเบาภาระพ่อแม่ เปิดร้านยำออนไลน์ ส่งดีลิเวอรี่ หาค่าขนมระหว่างเรียน

นศ. ปี 4 แบ่งเบาภาระพ่อแม่ เปิดร้านยำออนไลน์ ส่งดีลิเวอรี่ หาค่าขนมระหว่างเรียน

เพราะอยากหารายได้ระหว่างเรียน ทำให้ น้องจิ้ว-ธนัชพร รัตนชมภู วัย 22 ปี นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดร้านยำออนไลน์ ธุรกิจเล็กๆ ที่เพิ่งเปิดตัวได้เพียง 2 เดือน เป็นของตัวเอง

นักศึกษาสาวปี 4 เล่าให้ฟังว่า อยากทำธุรกิจเป็นของตัวเองมานานแล้ว เพราะอยากมีรายได้ระหว่างเรียน เป็นค่าขนมเล็กๆ ที่หาได้ด้วยตัวเอง เธอเลือกเปิดร้านยำ เพราะกำลังเป็นเทรนด์ของกินที่กำลังมาแรงมากๆ ในตอนนี้ อีกทั้งยังมีฝีมือการยำรสเลิศ ที่ได้รับการยืนยันจากเพื่อนๆ แล้วว่า อร่อย ทำให้เธอตัดสินใจเปิดร้านยำออนไลน์ “ยำลูกอีดอก” ซึ่งชื่อนี้มาจาก บุคลิกของเธอที่เป็นคนแรงๆ อีกทั้งชื่อนี้ยังสะท้อนถึงความร้อนแรงของยำ

“ถ้าเปิดหน้าร้าน ต้องใช้เงินทุนสูงในการเช่าพื้นที่ เลยอยากลองทดลองตลาดด้วยการขายออนไลน์ ที่สำคัญ ยังเรียนอยู่กลัวว่าเปิดหน้าร้านแล้วจะไม่มีเวลา และขายออนไลน์ก็มีข้อดีเหมือนกัน คือ สะดวกกับลูกค้าในการสั่งออร์เดอร์ ไม่ต้องเสียค่าเช่าหน้าร้าน ช่วยเซฟเงินไปได้มาก” น้องจิ้ว บอกถึงเหตุผลของการเปิดร้านยำออนไลน์

เมื่อมีแนวคิด สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ ลงมือทำ เธอใช้เงินเก็บที่ได้จากค่าขนมหลักพันบาท เป็นเงินทุนก้อนแรกซื้อวัตถุดิบคุณภาพ และใช้ทักษะด้านนิเทศศาสตร์ ทำคอนเทนต์ร้านยำออนไลน์ออกมาได้อย่างลงตัว

โดยจุดเด่นของร้านยำลูกอีดอก อยู่ที่ ปลาร้า วัตถุดิบหลักที่ต้องบอกว่าขาดไม่ได้สำหรับเมนูยำ น้องจิ้ว เล่าว่า ทำปลาร้าเอง โดยได้สูตรมาจากคุณแม่ คือ ใส่ผลไม้รสเปรี้ยวลงไป เช่น สับปะรด หรือ ตะลิงปลิง ช่วยดับกลิ่นคาว และยังเพิ่มความหอมให้น้ำปลาร้า แตกต่างจากร้านอื่น

ปรุงเข้ากับสูตรยำของตัวเองที่ศึกษาจากอินเตอร์เน็ต ได้ 6 เมนู รสชาติแซ่บเหมือนชื่อร้าน คือ ยำหมูยอ/ยำไส้กรอก ราคา 80 บาท ยำหมูยอไข่เค็ม 100 บาท ยำปลาหมึก 140 บาท ยำกุ้งสด 150 บาท และยำรวมมิตร 300 บาท

เพื่อให้ลูกค้าได้กินยำที่สดใหม่ทุกวัน สมราคา น้องจิ้วจึงเปิดรับออร์เดอร์วันจันทร์ พุธ และศุกร์ เท่านั้น และจัดส่งในวันถัดไป เธอบอกว่า ช่วงเช้าจะไปเรียน เลิกประมาณบ่ายสอง เป็นเวลาตลาดเปิดพอดี ซื้อวัตถุดิบ และจะรีบกลับมาทำยำตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าสั่งทันที การจัดส่งนั้นทางร้านใช้บริการรับ-ส่งของจากแอพพลิเคชั่น แกร็บ (Grab)

ปัจจุบันออร์เดอร์ยังไม่เยอะมาก ประมาณวันละ 20 กล่อง เธอบอกว่า รายได้จากออร์เดอร์นี้เพียงพอเป็นค่าขนมระหว่างเรียน และหากกระแสดีขึ้น ยอดขายเพิ่มขึ้น เธอตั้งใจอยากเปิดหน้าร้านจริงจัง หากเรียนจบแล้วก็ยังจะขายต่อ

สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ เฟซบุ๊ก ยำลูกอีดอก