อดีตนักข่าวสาว เบนเข็มขาย “เกี๊ยวซ่าหลายหน้า” ผลตอบรับดี สร้างรายได้วันละ 6 พัน!

อดีตนักข่าวสาว เบนเข็มขาย “เกี๊ยวซ่าหลายหน้า” ผลตอบรับดี สร้างรายได้วันละ 6 พัน!

หากพูดถึง เกี๊ยวซ่า หลายคนคงนึกถึงตัวเกี๊ยวสีขาวห่อด้วยไส้หมู จับจีบสวยๆ แล้วนำไปทอด ทานคู่กับจิ๊กโฉ่หรือซอสต่างๆ เป็นอาหารทานเล่นที่หาซื้อได้ทั่วไป แต่ไม่เหมือนกับเกี๊ยวซ่าของ คุณน้อย – วิชุดา อ่อนศิลา วัย 38 ปี เจ้าของแฟรนไชส์ เกี๊ยวซ่าคุณแม่ สาขา 2 อยุธยา ซึ่งมีความต่างตรงที่ “สดใหม่ และ มีหลายหน้าให้เลือกทาน” โดยเธอให้สัมภาษณ์กับ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ถึงที่มาที่ไปในการมาขายเกี๊ยวซ่าหลายหน้านี้ว่า

คุณน้อย – วิชุดา อ่อนศิลา วัย 38 ปี เจ้าของแฟรนไชส์ เกี๊ยวซ่าคุณแม่ สาขา 2 อยุธยา

ก่อนจะหันมายึดอาชีพค้าขาย เธอเคยทำงานเป็นผู้สื่อข่าวภูมิภาค ที่บริษัทแห่งหนึ่งมาก่อน เมื่อคุณพ่อป่วย จึงต้องเดินทางไป-กลับ เพื่อดูแลพ่อที่อยุธยาบ่อยๆ ประกอบกับเปิดเฟซบุ๊กแล้วเจอโพสต์ของเกี๊ยวซ่าคุณแม่ ก็เกิดอยากทำเป็นอาชีพเสริมจากงานประจำ จึงได้ทักไปขอสูตรจากสาขาแม่

“ตอนนั้นก็ทักไปขอซื้อสูตรเกี๊ยวซ่าเขา กะว่าจะทำเป็นอาชีพเสริม ก็มีการคุยกับทางเจ้าของที่เป็นต้นตำรับ เราเลยถือเป็นแฟรนไชส์เกี๊ยวซ่าคุณแม่เจ้าแรกของเขา มีการเซ็นสัญญา 3 ปี ค่ามัดจำแบรนด์อะไรต่างๆ ก็หลักหมื่นบาทค่ะ ก็ฝึกทอดเอง ลองผิดลองถูกกว่าจะทอดได้สวยก็ใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์”

หลังจากเซ็นสัญญาซื้อขายแฟรนไชส์กันแล้ว คุณน้อย เล่าให้ฟังว่า เธอลงสาขาแถวประชานิเวศน์ แต่ยอดขายไม่ดี มีออร์เดอร์แค่วันละ 4-5 กล่อง เท่านั้น

“ตอนนั้นก็รู้สึกเฟลนิดๆ ว่าทำไมมันขายไม่ดีล่ะ คือมีหลายอย่างอยู่ในหัวเลย ทีนี้เราก็มานั่งคิดว่า ในตัวเมืองอย่างกรุงเทพฯ มันมีอาหารแบบนี้ขายอยู่เยอะมาก ซึ่งมันหาซื้อทานง่าย ยอดขายมันก็เลยไม่ตรงกับที่เราตั้งไว้ ทีนี้ก็คิดใหม่ มองใหม่ ก็เห็นว่า ไหนๆ ก็ต้องกลับไปดูพ่อที่อยุธยา ก็ตีตลาดที่นั่นไปเลยท่าจะดีนะ เพราะที่อยุธยา หรือตามต่างจังหวัด จะหาของพวกนี้กินค่อนข้างยาก เลยเปลี่ยนชื่อเพจให้มีความเฉพาะมากขึ้น โปรโมตขายเฉพาะในเขตอยุธยา แล้วเกี๊ยวซ่าคุณแม่ เขาแตกต่างจากเกี๊ยวซ่าเจ้าอื่นๆ ตรงที่ มีหน้าให้เลือก 5 หน้า คล้ายๆ พิซซ่าเลย แค่ข้างล่างเราเป็นเกี๊ยวไม่ใช่แป้ง พอเปิดเพจขายวันแรก ก็ได้รับความสนใจและมีออร์เดอร์เข้ามาเยอะมาก” คุณน้อย กล่าว

เธอยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในตอนแรกที่หันมาทำเกี๊ยวซ่าหลายหน้าขาย เธอยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากลุ่มเป้าหมายของธุรกิจเธอคือกลุ่มไหน มองไว้เพียงแต่เป็นกลุ่มสาวโรงงาน เพราะใกล้บ้าน สามารถทำไปส่งได้ แต่ก็มีลูกค้าจากหลายอำเภอ รวมถึงเด็กนักเรียนเข้ามาสั่งซื้อ เธอจัดส่งสินค้าด้วยตัวเองทุกที่ ทำให้แทบไม่เหลือกำไร เลยเปลี่ยนวิธีการ นัดรับเฉพาะจุดใหญ่ๆ ทำให้คุณน้อยสามารถลดต้นทุนไปได้โข

“ขายมาได้เกือบ 4 เดือน มีออร์เดอร์เข้ามาเยอะนะ แต่เราก็รับวันหนึ่งไม่เกิน 30 กล่อง เพราะกล่องใส่เกี๊ยวซ่า เราต้องสั่งกล่องกับทางสาขาแม่เดือนละไม่ต่ำกว่า 30 กล่อง และวัตถุดิบเราไม่มีการซื้อสต๊อก หรือทำตุนไว้ เรียกว่าตื่นมานั่งจีบนั่งทอดตั้งแต่ตี 4 ทุกวัน พอทำเสร็จบ่ายๆ ก็เอาของไปส่ง เพราะเกี๊ยวซ่าคุณแม่ เราขายความสดใหม่และความแปลกไม่เหมือนใคร จริงๆ ก็อยากออกมาต่อยอดแบรนด์ เพิ่มรสชาติเข้าไปอีกเหมือนกัน แต่ก็ต้องให้เกียรติเจ้าของแบรนด์เขา ทุกวันนี้รายได้ต่อวันก็ประมาณ 6,000 บาท ก็ถือว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้ดีอาชีพหนึ่งเลยค่ะ” คุณน้อย กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

เกี๊ยวซ่าคุณแม่ มีทั้งหมด 5 หน้าให้เลือกซื้อ ไม่ว่าจะเป็น ต้นตำรับ, ชีส, โอโคโนมิยากิ, สไปซี่ มาโย และ มายองเนสไข่กุ้ง กล่องเล็กจะมี 10 ชิ้น หากเป็นเกี๊ยวซ่าต้นตำรับ ราคากล่องละ 100 บาท หากเป็นหน้าอื่น ราคา 120 บาทและลูกค้าสามารถเลือกมิกซ์หน้าได้ 2 หน้า หากเป็นกล่องใหญ่ 20 ชิ้น หน้าต้นตำรับ ราคา 150 บาท หากเป็นหน้าอื่นราคา 220 บาท แต่ถ้าเป็นกล่องใหญ่ที่มิกซ์กันหลายหน้า ราคาอยู่ที่กล่องละ 239 บาท เธอกล่าวต่อว่า เกี๊ยวซ่าคุณแม่ มีทั้งไส้หมูและไก่ เพราะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับว่าเป็นจังหวัดที่มีชาวไทยเชื้อสายอิสลามเยอะพอสมควร จึงปรับเปลี่ยนวัตถุดิบไปตามพื้นที่

ชีส

“หน้า ที่ขายดีจะเป็นสไปซี่ มาโย ขนาด 20 ชิ้นค่ะ เพราะมีรสเปรี้ยวเผ็ดถูกจริตคนแถวนี้ กินกับโชยุและน้ำซอสงา รสชาติยิ่งดี นอกนั้นยอดสั่งก็ใกล้เคียงกัน เราไม่มีหน้าร้าน ขายผ่านออนไลน์อย่างเดียวเลย ลูกค้าสามารถสั่งของได้ทุกวัน แต่ต้องสั่งล่วงหน้า 1 วัน เพราะเราทำสดใหม่ ไม่ได้ทำตุนเอาไว้ คนที่ไม่ได้อยู่แถวอยุธยาแล้วอยากทาน ก็สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้เหมือนกัน เพราะตอนนี้ เกี๊ยวซ่าคุณแม่มีแฟรนไชส์อยู่ 7 สาขา สามารถเสิร์ชหาได้เลยค่ะ” คุณน้อย กล่าวทิ้งท้าย

หากใครสนใจอยากลองทาน สามารถสั่งซื้อได้ที่ เพจ เกี๊ยวซ่าคุณแม่ สาขา 2 อยุธยา หรือโทรศัพท์ (084) 340-5621

เกี๊ยวซ่าคุณแม่ กล่องเล็ก 10 ชิ้น 2 หน้า

เผยแพร่ครั้งแรก วันพฤหัสที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2562