หมูทุบลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง

          ลำไย เป็นผลไม้เศรษฐกิจอีกตัวที่ทำรายได้ก้อนโตให้กับบ้านเรา และเวลานี้ใช่จะปลูกกันเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือเท่านั้น ยังได้กระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ทั้งภาคตะวันออก อีสาน และใต้ ดังนั้น เมื่อเวลาผลผลิตออกสู่ตลาดมากๆ ก็ทำให้ราคาตกต่ำ เกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจต่างๆ จึงคิดค้นนำลำไยมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งทำได้หลายอย่าง ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค เพราะลำไยทั้งเนื้อและเมล็ดสามารถนำมาแปรรูปและสกัดไปใช้ประโยชน์ได้

ยกตัวอย่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปอาหารทาป่าเปา ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ที่มีคุณพจนพรรณ สุทธิดุก เป็นประธาน ได้นำเนื้อลำไยตกเกรดมาทำเป็นหมูทุบลำไย ซึ่งเป็นเจ้าเดียวในประเทศไทยที่ทำหมูทุบลำไย และได้คัดสรรเป็นโอท็อป 5 ดาว ปี 2555 ใครรับประทานแล้วต่างติดใจเพราะนอกจากเนื้อหมูจะนุ่มแล้ว ยังได้กลิ่นของลำไยด้วย ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ คุณโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้นำสื่อมวลชนจากส่วนกลางไปเยี่ยมชมกิจการแปรรูปลำไยและมะม่วงที่จังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ ทางกลุ่มแปรรูปอาหารทาป่าเปาก็ได้นำสินค้ามาโชว์ด้วย

ใช้เนื้อลำไยสีทองอบแห้ง

คุณพจนพรรณ เล่าว่า กลุ่มมีสมาชิก 13 คน เริ่มต้นทำเมื่อปี 2553 ทำหมูทุบลำไยเป็นตัวหลัก แต่มีผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูรวม 7 ชนิด มีหมูทุบธรรมดา หมูทุบลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง หมูทุบพริกไทยดำ หมูสวรรค์ หมูหวาน หมูเส้น และน้ำพริกหมู 3 รส ใช้ชื่อแบรนด์ “หมูแม่ทา” โดยได้รับการส่งเสริมจากทางสำนักงานเกษตรอำเภอแม่ทา และเทศบาลตำบลทาปลาดุก พร้อมได้มาตรฐานการผลิต GMP ระดับดีมาก และผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ซึ่งทางมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้เข้าช่วยพัฒนาในเรื่องแพ็กเกจจิ้งให้ด้วย

เธออธิบายถึงขั้นตอนการทำหมูทุบลำไยอบแห้งเนื้อสีทองว่า จะใช้เนื้อลำไยผสมตอนที่หมักเครื่องปรุง โดยหมู 1 กิโลกรัม ใช้เนื้อลำไยสีทองอบแห้ง 30 กรัม เริ่มจากนำเนื้อลำไยไปต้มแล้วมาปั่นผสมลงไปในเนื้อหมู ในขั้นตอนการหมัก  ซึ่งลูกค้ารับประทานแล้ว เสียงตอบรับดี ต่างบอกว่าอร่อย

“ของเราเป็นโอท็อป 5 ดาว ปี 2555 เป็นหนึ่งเดียวในไทย พวกเราคิดสูตรแล้วนำมาดัดแปลงต่อยอดกันเอง เนื่องจากลำพูนเป็นเมืองลำไย เลยลองผสมในเนื้อหมู เริ่มต้นจากใช้ลำไยสด แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะลำไยสดมีเชื้อรา เวลาที่ผสมกับเนื้อหมูจะอยู่ได้ไม่นาน ลำไยอบแห้งนั้นทางกลุ่มซื้อจากกลุ่มโอท็อปเหมือนกัน ตก 180 บาท ต่อกิโลกรัม เพราะไม่ได้ใช้แบบเกรดเอ แต่คุณภาพก็เป็นเกรดส่งนอก”

หลายคนอาจตั้งคำถามว่าหมูทุบลำไยดีและอร่อยอย่างไร ประเด็นนี้ คุณพจนพรรณ แจกแจงว่า จุดเด่นที่ผสมเนื้อลำไยลงไปคือ ช่วยให้เนื้อหมูมีความนุ่มกว่าเดิม และไม่ต้องใช้ความหวานจากน้ำตาลเยอะ เพราะได้ความหวานจากลำไยแทน ซึ่งปกติจะใช้ความหวาน 15 กรัม ต่อ หมู 1 กิโลกรัม แต่ถ้าใช้ลำไยด้วยใช้น้ำตาลแค่ 8-10 กรัม ต่อ หมู 1 กิโลกรัม

แม้จะมีผลิตภัณฑ์จากหมูหลายอย่าง แต่ที่ขายดีที่สุดคือ หมูทุบลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ซึ่งในช่วง 1 สัปดาห์ทางกลุ่มจะสั่งเนื้อหมูมาทำ 300 กิโลกรัม จากบริษัท วี พี เอฟ กรุ๊ป จำกัด ส่วนวัตถุดิบอย่างอื่นใช้ที่มีอยู่ในชุมชน

ในการทำผลิตภัณฑ์หมูต่างๆ เธอว่า ปัญหาอุปสรรคของทางกลุ่มคือ ราคาเนื้อหมูขึ้นลงไม่คงที่ เคยซื้อราคาสูงสุดอยู่ที่ 150 บาท ต่อกิโลกรัม ต่ำสุด 98 บาท ปัจจุบันซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 140 บาท ถือว่ายังไม่แพงเท่าไร แต่ไม่ว่าหมูจะขึ้นราคาเท่าใดก็ต้องขายลูกค้าในราคาเดิม ซึ่งถ้าเป็นหมูทุบราคาขายส่งถุงเล็ก ปริมาณ 50 กรัม ส่งที่ราคา 48 บาท คนที่รับไปขายต่อ ขายอยู่ที่ 60-65 บาท ในห้างขาย 75 บาท แต่ถ้า 100 กรัม ขายส่งที่ 100 บาท

จีนทำแข่งขายถูกกว่า

ในเรื่องการตลาดนั้น ในเชียงใหม่มีวางขายอยู่หลายแห่ง อาทิ ที่ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตในศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา 4 สาขา โรบินสัน แอร์พอร์ต กาดหลวง และโครงการหลวงดอยคำ ซึ่งถ้าใครสนใจสามารถสั่งซื้อทางไปรษณีย์ได้ทั่วประเทศ โดยติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ (086) 184-2779

สำหรับน้ำพริกหมู 3 รส คุณพจนพรรณ บอกว่า ขายดีเช่นกัน เดือนหนึ่งทำประมาณ 300 กิโลกรัม

     ขั้นตอนการทำก็ไม่ยาก โดยใช้เนื้อหมู 15 เปอร์เซ็นต์ ต่อน้ำพริก 1 กิโลกรัม โดยใช้เศษเนื้อหมูที่เหลือจากการทำหมูทุบ ขายส่งกระปุกละ 28 บาท คนที่รับไปขายต่อขายอยู่ที่ 35-45 บาท

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปอาหารทาป่าเปา ถ่ายทอดประสบการณ์การขายในประเทศเพื่อนบ้านว่า เคยมีคนรับซื้อแล้วไปขายที่พม่า เสียงตอบรับไม่ค่อยดีนัก ส่วนที่จีนก็มีลูกค้าซื้อไปส่งขายที่ประเทศลาวและจีนอีกที ปรากฏว่า ที่จีนมีการทำเลียนแบบและขายถูกกว่า อย่างหมูทุบ ตอนนี้ทางกลุ่มขายอยู่ที่กิโลกรัม 750 บาท แต่จีนขายอยู่ที่ 600 บาท แต่ความอร่อยและความนุ่ม ผู้ประกอบการของจีนจะไม่ค่อยเน้น เน้นปริมาณมากกว่า ขณะที่ของเราเน้นที่ความนุ่มของเนื้อ และความหอมของลำไย

“ตอนที่ไปออกงานบู๊ธที่เมืองทอง คนเดินผ่านไปผ่านมาจะพูดว่า ทำไมของเราขายแพง โดยมีการเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่น อย่างสิงห์บุรี นครปฐม เลยอธิบายไปว่า สินค้าของกลุ่มใช้เนื้อลำไยอบแห้งผสมลงไปในเนื้อหมู แล้วค่าขนส่งก็แพงเพราะมาไกล”

สำหรับผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ของกลุ่มนั้นคือ ข้าวเกรียบหมูทุบลำไย ตอนนี้กำลังทดลองทำกันอยู่ คาดว่าจะออกขายในไม่ช้า