“กาแฟนายูง” ของดีเมืองอุดร คุณภาพเทียบชั้นกาแฟดังเมืองนอก

บ้านเราเป็นหนึ่งในหลายประเทศทั่วโลกที่นิยมบริโภคกาแฟกัน และมีผู้คนไม่น้อยที่เข้าขั้นติดกาแฟเลยทีเดียว บางคนต้องดื่มอย่างน้อยวันละ 2-3 แก้ว ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการอยาก ฉะนั้น วงการกาแฟจึงเป็นธุรกิจที่ทำเงินมหาศาลในแต่ละปี และใช่แต่รัฐบาลประเทศไทยจะมีนโยบายส่งเสริมการปลูกกาแฟเพียงประเทศเดียว ปัจจุบัน ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนต่างก็สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกกาแฟกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว หรือ เวียดนาม ก็ตาม

        

ปลูกทั้งอาราบิก้า-โรบัสต้า

สำหรับเมืองไทยต่างทราบกันดีว่า ภาคเหนือเป็นแหล่งปลูกกาแฟอาราบิก้าชั้นยอด ขณะที่พื้นที่ภาคใต้ตอนบนเป็นแหล่งปลูกกาแฟโรบัสต้าชั้นเยี่ยม แต่เชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้ว่า จังหวัดอุดรธานี ในดินแดนภาคอีสานก็ปลูกกาแฟได้ไม่น้อยหน้าภาคอื่นๆ ส่วนจะเป็นพันธุ์อะไร รสชาติสู้ภาคเหนือภาคใต้ได้หรือไม่ ต้องฟังเกษตรกรตัวจริงเสียงจริงเป็นคนให้ข้อมูล

          “คุณวิลัย จันจิต” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟนายูง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี เล่าให้ฟังว่า ปลูกกาแฟมา 15 ปีแล้ว ทั้งพันธุ์อาราบิก้าและโรบัสต้า มีสมาชิกที่รวมตัวกันปลูก 80 กว่าคน ในจำนวนพื้นที่ประมาณ 400 กว่าไร่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ 300 กว่าไร่ ปลูกพันธุ์อาราบิก้า โดยปลูกอยู่ที่ความสูง 700-900 เมตรจากระดับน้ำทะเล

“เดิมทีเมื่อ 16 ปีที่แล้วคนชุมพรนำมาปลูกในพื้นที่นี้ ผมเป็นคนอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ก็นำต้นพันธุ์อาราบิก้าจากน้ำหนาวมาปลูก ตอนแรกปลูกไม่เยอะประมาณ 10 ไร่ พอได้ผลผลิตเลยเพาะเมล็ดพันธุ์เอง แล้วขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันปลูกอยู่ 50 ไร่”

ต้นกาแฟของบ้านนายูงจะติดดอกช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ส่วนเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จะติดผลเล็ก  เดือนสิงหาคม-กันยายน ผลจะโตหน่อย เมล็ดจะสุกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จากนั้นจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมกราคม

คุณวิลัย บอกว่า ตอนนี้มีการส่งเสริมให้สมาชิกอบรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกาแฟของบ้านนายูงจะไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เพราะปลูกในป่าธรรมชาติ เน้นอยู่ในร่มเงาของต้นยางพารา เพราะต้นยางให้ร่มเงาเยอะ กาแฟเป็นพืชที่ชอบร่มเงา เป็นการปลูกแซมกันไป แต่ปัจจุบันมีปลูกเงาะ ทุเรียน ลำไย และลิ้นจี่ ปนกับกาแฟด้วย และใช้วิธีใส่ปุ๋ยในต้นยาง แต่ต้นกาแฟก็ได้ปุ๋ยด้วย เพราะกินด้วยกัน

ตามหลักต้นยางจะใส่ปุ๋ยเคมี 3 ปี ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 1 ปี คือเป็นการเกษตรแบบปลอดภัย แต่ไม่ใช่เป็นออร์แกนิก  ต้นกาแฟที่นี่ไม่มีโรคอะไร ไม่มีศัตรูพืช เน้นบำรุงรักษาด้วยการตัดหญ้า ไม่ให้หญ้าขึ้นรก และดูแลไม่ให้เพลี้ยลง ส่วนมากที่เจอเป็นเพลี้ยสนิมลง ซึ่งไม่เยอะ อยู่ที่อากาศด้วย

คุยเทียบได้กับอะเมซอน

การปลูกกาแฟแซมกับต้นยางพารานั้น จะปลูกห่างกันที่ 3×7 เมตร ถึง 3×8 เมตร โดยปลูกระหว่างต้นยางอยู่กึ่งกลาง จึงสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ สำหรับสวนกาแฟของคุณวิลัย เจ้าตัวระบุว่า ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเป็นปุ๋ยหมักที่หมักเอง  นอกจากนี้ ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟนายูงกำลังรวมตัวเริ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ โดยนำเปลือกเชอร์รี่กาแฟมาหมักทำเป็นปุ๋ยหมัก

คุณวิลัย แจกแจงว่า จำนวนสมาชิก 80 กว่าคน ถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่ และในช่วงเวลาปลูก 10 กว่าปี พื้นที่การปลูกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 400 กว่าไร่แล้ว และปีนี้คาดว่าจะเพิ่มอีก 100 ไร่ ซึ่งเป็นการนำพันธุ์อาราบิก้าจากเชียงใหม่ ถ้าเป็นพันธุ์โรบัสต้าจะสั่งซื้อมาจากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกกาแฟกันเพิ่มขึ้น และมาขอสมัครเข้าร่วมกลุ่ม เนื่องจากทำให้มีรายได้ทั้ง 2 ทาง ทั้งจากยางพาราและกาแฟ โดยช่วงทำกาแฟจะพักยาง แต่ช่วงที่ทำยางก็ไม่ได้พักกาแฟ เพราะช่วงที่เกษตรกรกรีดยาง กาแฟก็ติดลูกพอดี จึงไม่ต้องไปดูแลอะไรมาก พอเปิดหน้ายางก็ได้เวลามาเก็บกาแฟ เป็นเวลาที่พอดีกัน

กิจการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟนายูงถือว่าไปได้ดีทีเดียว เพราะปัจจุบันมีโรงสีคั่วกาแฟเอง โดยทางกลุ่มจะเป็นผู้รับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกร ซึ่งจะมีการกำหนดคุณสมบัติรับซื้อตามเกรด ถ้าเป็นเกรดเชอร์รี่สุกจริงๆ 100 เปอร์เซ็นต์ ตกกิโลกรัมละ 15 บาท แต่ถ้าเป็นแบบครึ่งสุกครึ่งดิบ จะถูกตัดราคาให้ต่ำลงหน่อย อาจจะเหลือแค่ 12 บาท ต่อกิโลกรัม

หลังจากสมาชิกนำเมล็ดกาแฟมาขายที่กลุ่มแล้ว ทางกลุ่มจะนำมาคั่วและแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ โดยในตอนนี้ทำเป็นกาแฟคั่วอย่างเดียว

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟนายูง พูดถึงการขายว่า ปีแรกขายตามตลาดทั่วไป มีพ่อค้ามารับซื้อ จากนั้นทางนายอำเภอก็ให้ฝ่ายเกษตรเข้ามาส่งเสริม  ช่วยหาตลาด และมารวมตัวตั้งเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีมาสนับสนุนเรื่องการซื้อเครื่องคั่ว หรือสี พร้อมให้ไปศึกษาหาความรู้ที่จังหวัดแพร่ น่าน เชียงใหม่ จากนั้นกลับมาตั้งโรงคั่วเพื่อคั่วเมล็ดกาแฟเอง

เมื่อถามถึงจุดเด่นของกาแฟนายูง คุณวิลัย บอกว่า จากที่ให้คอกาแฟระดับประเทศชิมได้รับคำชมว่าสามารถเทียบเท่ากาแฟยี่ห้ออะเมซอนได้สบาย และมีเอกลักษณ์ในเรื่องรสชาติของกาแฟป่า ซึ่งมีรสขมพอดี หอมพอเหมาะ มีเปรี้ยวนิดๆ เรียกว่า ชุ่มคอพอดี ตอนนี้กาแฟของนายูงก็มีชื่อเสียงแล้ว

“ของเราเด่นที่พันธุ์อาราบิก้า เพราะว่ากาแฟอาราบิก้าของที่นี่จะอยู่ในพื้นที่ป่า อากาศที่เย็น ทำให้สารกาแฟสมบูรณ์ เมล็ดเต็ม ถ้าเทียบกับอาราบิก้าที่อื่น นักชิมทั่วไปที่มาชิมที่โรงคั่วเราต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เทียบกันได้ รสชาติไม่ต่างกัน วิธีการคั่วของเรา คือจะใช้ไฟที่ไม่แรงมาก เหมือนทำให้มันเป็นคั่วกลาง แต่ไม่ใช่เข้ม ที่ขายอยู่จะมี พรีเมี่ยม เอ็กซ์ตร้า และสเปเชียล กาแฟของเราไม่แพ้ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ การันตีได้ ผมชิมเองทุกวัน คั่วทุกหม้อผมชิมทุกครั้ง ถ้าคั่ว 10 หม้อ ผมก็ชิม 10 แก้ว”

สำหรับราคาขายระดับพรีเมี่ยมน้ำหนัก 250 กรัม เป็นกาแฟคั่วกลางค่อนเข้ม ขายอยู่ที่ 150 บาท ถือว่า ราคาถูกมาก เพราะที่อื่นขาย 350 บาท อย่างกาแฟของดอยช้าง 320 บาท ส่วนเอ็กซ์ตร้าจะเข้ม ราคาทั้ง 3 ประเภทนี้เท่าๆ กัน คือน้ำหนัก 250 กรัม ราคา 150 บาท

เล็งทำ ทรีอินวัน

ทั้งนี้ สเปเชียลจะเป็นกาแฟที่โรบัสต้าผสมกับอาราบิก้า เพราะโรบัสต้าจะมีความขม ส่วนอาราบิก้าจะมีความหอม เวลาที่นำมาผสมกันจะอร่อย ทำออกมาเพื่อเป็นตัวเลือกกรณีพวกที่ชอบผสมผสาน อีกอย่างเป็นกาแฟบดสำเร็จรูปบรรจุซอง (ดริปแบ็ก-Drip bag) คืออยู่ที่ไหนก็ดื่มได้ เหมือนกับชา แบบนี้ขายดีคนชอบเพราะสะดวกในการพกพาและดื่มง่าย

“ส่วนมากกาแฟพรีเมี่ยมจะขายดี เพราะรสชาติอร่อย แต่ถ้าคนที่กินแปลกออกไปหน่อย จะกินแบบดริป คือจะแปลกตรงที่ว่า กินเหมือนน้ำชา อีกทั้งจะมีวิธีการกินที่แปลกด้วย เหมือนกับว่า เราเอาซองมาวางที่แก้ว แล้วใส่น้ำเข้าไป เหมือนมีผ้ากรองในตัว สะดวกมาก”

ในเรื่องการขายนั้น ทางกลุ่มได้นำไปวางขายที่สนามบินอุดรธานี อันเป็นสนามบินนานาชาติ และอาศัยการออกบู๊ธในงานต่างๆ ที่หน่วยงานราชการจัดทั้งในจังหวัดอุดรธานีและที่กรุงเทพฯ อย่างปีที่แล้วในช่วงที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา สาขาอุดรธานี เปิด ทางกลุ่มก็นำกาแฟไปให้ผู้คนในงานได้ชิมกัน ปรากฏว่าผู้คนสนใจกันมาก และส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าอุดรธานีสามารถปลูกกาแฟได้

แม้ตอนนี้ผลผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟนายูงจะมีแค่กาแฟบดคั่วเท่านั้น แต่ในอนาคตทางกลุ่มวางแผนจะทำเป็นทรีอินวัน ซึ่งกำลังเจรจากับทาง ธนาคารอยู่ อีกทั้งต้องรองบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมจากหน่วยงานภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะมีกาแฟคั่วบดขายแล้ว เพื่อเป็นการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า ทางกลุ่มยังทำสบู่กากกาแฟขาย ก้อนละ 50 บาท และมีสบู่เหลวอีกด้วย ซึ่งมีสรรพคุณช่วยให้ผิวขาวเนียน

          สนใจกาแฟของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟนายูง ติดต่อที่ประธานกลุ่ม โทรศัพท์ (083) 547-3121