ผู้เขียน | ดวงกมล โลหศรีสกุล |
---|---|
เผยแพร่ |
“อะคิโยชิ” ชาบู สุกี้ยากี้ สไตล์ญี่ปุ่น เจ้าแรกในไทย ชูคุณภาพยาวนาน 2 ทศวรรษ
วัฒนธรรมการกินอาหารประเภทชาบู และ สุกี้สไตล์ญี่ปุ่น เข้ามาประเทศไทยนานกว่า 2 ทศวรรษ ซึ่งผู้ที่ทำให้ธุรกิจอาหารประเภทนี้เฟื่องฟู คือ “อะคิโยชิ” ร้านแรกที่นำชาบู ชาบู สุกี้ยากี้สไตล์ญี่ปุ่น และรูปแบบการกินแบบบุฟเฟต์มาเปิดเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย
ทานให้ถูกแบบญี่ปุ่น
หมูสไลด์ชิ้นบาง จุ่มไข่ดิบ
คุณเปิ้ล – ศรีหทัย ไพรสานฑ์กุล รองประธานกรรมการ บริษัท อะคิโยชิ จำกัด เท้าความว่า ร้าน “อะคิโยชิ” เปิดเมื่อปี 2538 โดยคุณอุดมศรี ไพรสานฑ์กุล หรืออาม่า เป็นผู้ก่อตั้ง ท่านชอบทานอาหารญี่ปุ่น มีลูกสะใภ้เป็นคนญี่ปุ่น สำหรับสูตรชาบู และสุกี้ คงเอกลักษณ์ตามต้นตำรับจากเมืองชิบาซากิ ประเทศญี่ปุ่นทุกขั้นตอนตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบ เครื่องปรุงนำเข้า ได้รับการควบคุมตรวจสอบคุณภาพจากเซฟชาวญี่ปุ่น
ร้าน “อะคิโยชิ” สาขาแรกตั้งอยู่ที่ อาคารไทยซินสแควร์ บิวดิ้ง ชั้น 2 ซอยสุขุมวิท 71 เขตพระโขนง กรุงเทพฯ นอกจากจะเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นประเภทหม้อไฟเจ้าแรก รูปแบบการทานยังเป็นบุฟเฟต์เจ้าแรก ในสมัยนั้นเสิร์ฟจนอิ่ม ในราคา 290 บาท ระยะเวลาการทาน 2 ชั่วโมง 30 นาที
“ปี พ.ศ. 2544 อะคิโยชิเปิดบุฟเฟต์ กระแสตอบรับดีมาก ลูกค้าจำนวนมากมาคอยคิว 2-3 ชั่วโมง มีคนมาติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ แต่อาม่าเป็นห่วงเรื่องคุณภาพจึงเลือกที่จะไม่ขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ แต่เลือกที่จะขยายสาขาด้วยตัวเอง ปัจจุบันในปี 62 มี 6 สาขา คือ พระโขนง เอเชียทีค สยามสแควร์วันเซ็นทรัลเวสต์เกต เซ็นทรัลอีสต์วิลล์ ห้างสเปลล์ แอท ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และในช่วงกลางปี 62 เตรียมเปิดสาขาที่ 7 จามจุรี สแควร์ มีพื้นที่ประมาณ 200 ตารางเมตร”
สำหรับเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์ของร้านอะคิโยชิ คือ ความพิถีพิถันทุกขั้นตอน คุณศรีหทัย กล่าวว่า การทาน สุกี้ยากี้สไตล์เมืองชิบาซากิ ขั้นตอนแรกผัดต้นหอมญี่ปุ่น หอมหัวใหญ่ ผักที่ชอบลงในกระทะ จากนั้นนำเนื้อสัตว์ใส่ตามลงไปผัดกับผักเพื่อให้ได้กลิ่นหอม ค่อยๆ เทน้ำซุปสุกี้ยากี้ที่มีส่วนผสมของโชยุและน้ำตาล รสชาติเค็มๆ หวานๆ ตามลงไปทีละน้อย
เวลาจะทานเนื้อสัตว์ คุณศรีหทัย บอกเคล็ดลับเพิ่มความอร่อยว่า ให้คีบเนื้อสัตว์จากหม้อต้มที่ยังร้อน ลงไปจุ่มในไข่ดิบเพิ่มความนุ่ม และเพื่อไม่ให้น้ำซุปเค็มเกินไป ควรใช้ไฟอ่อนต้มไปเรื่อยๆ ทางร้านใช้เตาไฟฟ้าระบบสัมผัส สามารถเลือกระดับความร้อนได้ตามใจชอบ
เจน 3 บริหารสไตล์คนรุ่นใหม่
ตั้งเป้ายอดขาย 220 ล้าน
ปัจจุบันนอกจากชาบู ชาบู และสุกี้ยากี้แล้ว ทางผู้บริหารเพิ่มความหลากหลายของอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ารุ่นใหม่ ด้วยเมนูปิ้งย่างอะคิยากิบนกระทะร้อนสีดำไม่ต้องใส่น้ำมัน ซึ่งเมนูปิ้งย่างของอะคิยากิจะมีซอสสูตรเฉพาะของทางร้านที่ทำโดยเชฟชาวญี่ปุ่นชื่อ มร. ฮิโรคาซุ อูเอฮาร่า (Mr.Hirokazu Uehara)
เพื่อเป็นการตอกย้ำในแบรนด์และยอดขายที่เติบโตมาตลอด ทางผู้บริหารฉลองครบรอบ 24 ปี อะคิโยชิ สาขาพระโขนง ด้วยการทุ่มงบกว่า 10 ล้าน ปรับภาพลักษณ์ ตกแต่งสถานที่ให้หรูหรา ร่วมสมัย รองรับรสนิยมของคนรุ่นใหม่ที่ชอบรับประทานอาหารนอกบ้าน
“ในปีนี้ อะคิโยชิ ปรับปรุงพื้นที่สาขาพระโขนงซึ่งเป็นสาขาแรก หวังเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ และรองรับการขยายตัวของเมือง อีกทั้งมีนโยบายเพิ่มความหลากหลายของเมนูอาหาร และบุกธุรกิจจัดเลี้ยงให้มากขึ้น”
การเติบโตในทุกๆ ด้านของบริษัท อะคิโยชิ ส่งผลถึงรายได้ ผู้บริหาร ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา รายได้ 160 ล้านบาท ส่วนในปีนี้ ตั้งเป้าจะมียอดขายเพิ่มขึ้น 220 ล้านบาท
ก่อนที่คุณศรีหทัยจะเข้ามาบริหารร้านอาหาร เธอบอกว่า ไม่ชอบทำอาหารเลย เรียนจบด้านกฎหมายและทำงานด้านนี้มานาน 5 ปี เคยฝึกงานกับบริษัทกฎหมายชื่อดัง Baker & McKenzie และติด 1 ใน 4 นักศึกษาฝึกงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าทำงานต่อที่นี่ด้วย
“ก่อนจะมาทำธุรกิจที่บ้านในฐานะเจ้าของ คุณพ่อให้ไปหาประสบการณ์ ด้วยการเป็นลูกจ้างบริษัทก่อน ระหว่างทำงานด้านกฎหมาย 5 ปี เรียนต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ไปด้วย”
สำหรับเหตุผลที่ทายาทรุ่น 3 เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจ คุณศรีหทัย กล่าวว่า สูญเสียอาม่าไปเมื่อปี 61 ขณะเดียวกันมีอาม่าเป็นไอดอล เลยอยากเข้ามาสานฝันร้านอาหารที่อาม่าเป็นผู้ก่อตั้งให้เจริญก้าวหน้า
อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นลูกหลานเจ้าของกิจการก็ไม่ใช่ว่าจะเข้ามานั่งบริหารงานได้เลย หญิงสาว เล่าว่า ไปเรียนภาษาญี่ปุ่นเพิ่มเติมที่ประเทศญี่ปุ่น เรียนการทำอาหารตั้งแต่พื้นฐาน 3 ปี อาทิ การลับมีด การแร่ปลา การใช้เขียง
“ตอนเข้ามาทำงานใหม่ๆ เราเปลี่ยนแปลงเกือบทุกอย่างในครัว ในช่วงแรกพนักงานมีต่อต้านบ้าง เพราะการทำธุรกิจร้านอาหารไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องทำงานกับคนที่หลากหลาย ต้องทำความเข้าใจ และเข้าให้ถึงทุกคน กว่าทุกอย่างจะเข้าที่และลงตัวใช้เวลาปรับเป็นปี”
กว่า 2 ทศวรรษที่ “อะคิโยชิ” ยืนผงาดอยู่ในตลาดไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ผู้บริหาร ตอกย้ำว่า หัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ คือ คุณภาพ ความพิถีพิถันในทุกๆ ขั้นตอน เสิร์ฟอาหารรสชาติดั้งเดิมตั้งแต่วันแรกจนมาถึงวันนี้