เลี้ยงจิ้งหรีด แมลงทำเงิน โกยรายได้ ครึ่งแสนต่อเดือน!

สำหรับจิ้งหรีด ในอดีตเราอาจจะมองว่าเป็นแมลงตามท้องไร่ท้องนา ที่หลายคนมองเป็นเพียงแมลงตามธรรมชาติอย่างหนึ่งเท่านั้น ที่บางครั้งก็จะเป็นแมลงศัตรูคอยทำลายต้นพืชผักของเราในระยะต้นอ่อนด้วยซ้ำ แต่จิ้งหรีดในวันนี้ ได้กลับกลายมาเป็นแมลงเศรษฐกิจที่สร้างเงินสร้างรายได้ให้กับหลายคนที่ได้เห็นมาเพาะเลี้ยงอย่างจริงจัง จนสร้างตลาดการค้าได้อย่างต่อเนื่อง เป็นอีกเส้นทางเลือกหนึ่งสำหรับสร้างอาชีพ สร้างรายได้

นายสุวิทย์ เพชรประไพร อยู่บ้านเลขที่ 82/2 บ้านห้วยบง ต.หนองบัว อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู เจ้าของฟาร์มจิ้งหรีด “นิวแต๊งค์ฟาร์ม” ได้ย้อนเล่าถึงชีวิตของตนเอง ก่อนที่จะมาทำอาชีพเลี้ยงจิ้งหรีด ว่า ชีวิตก่อนที่จะมาจับงานเลี้ยงจิ้งหรีดอย่างจริงจังนั้น ได้เคยทำมาแล้วหลายอาชีพ ตั้งแต่จบ ม.3 ที่จังหวัดชัยนาท แล้วก็ออกมาสู้ชีวิต ให้น้องเรียนต่อ เนื่องจากแม่ต้องหาเงินสร้างรายได้เพียงลำพังคนเดียว ส่วนตัวเองจึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทำหลายอย่าง อาชีพสุดท้ายก็ขับรถส่งสินค้าตามห้างใหญ่แห่งหนึ่ง ทำให้ได้ไปพบเห็นการเลี้ยงจิ้งหรีดของเพื่อน เมื่อสอบถามแล้วก็เห็นว่า น่าจะเป็นงานที่ตนเองพอทำได้ จึงได้ทำการศึกษาหาความรู้จากสื่อทางอินเตอร์เน็ตบ้าง ลองผิดลองถูกบ้าง สอบถามแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มผู้เลี้ยงด้วยกัน จากครั้งแรกเริ่มต้นเพียง 1 กล่อง ก็เพิ่มขึ้น จนแน่ใจว่า ความเสี่ยงต่อการลงทุนทางด้านนี้ไม่มาก หากจะเลือกเส้นทางอาชีพนี้ก็น่าจะเห็นอนาคตที่จะเลี้ยงชีวิตได้ จึงได้ตัดสินใจเช่าพื้นที่ว่างเปล่าข้างบ้านสร้างโรงเรือนชั่วคราว ใช้โครงไม้ยูคาลิปตัส มุงด้วยสังกะสี ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตร ขึ้นมาหนึ่งหลัง และสร้างกล่องเลี้ยงเพิ่มขึ้น จนมี 30 กล่องในปัจจุบัน

นายสุวิทย์ ได้ลงมือด้วยตนเองและแรงงานจากพี่ชายและน้องชายอีกสองคนเป็นคนช่วย คือ นายเกรียงไกร สนามชวด น้องคนที่สี่ นายณัชพล จันเที่ยง น้องคนเล็ก และนายอานพ ทาเรียง พี่ชายคนรอง เป็นแรงงานที่ช่วยกันดูแล และยังมี นางสมใจ ใสจันทร์ ผู้เป็นแม่คอยเป็นแรงกำลังใจให้ต่อสู้จนสามารถยึดเป็นอาชีพมาได้ปีกว่าแล้ว และถึงแม้ว่า งานเลี้ยงจิ้งหรีดจะไม่หนัก แต่ก็ไม่อาจจะปล่อยทิ้งแบบไม่เอาใจใส่เลยไม่ได้เช่นกัน จึงได้แบ่งปันเวลามาคอยดูแลในช่วงเช้า กลางวัน และเย็น โดยเฉพาะในเรื่องการให้น้ำถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนอาหารก็ต้องคอยเฝ้าดูว่าหมดในช่วงเวลาไหน ไม่ให้ไว้มากเกินไป กะว่า เมื่อหมดแล้วถึงให้ใหม่ ในทุกวันจะได้ไม่เป็นอาหารเก่าเหลือทิ้ง ก็จะทำให้ได้จิ้งหรีดที่คุ้มค่ากับการลงทุน

201607290734591-20021028190400-768x431

นอกจากนั้น ทางนายสุวิทย์ หรือเจ้าของจิ้งหรีดนิวแต๊งค์ฟาร์ม ก็ยังได้พยายามคิดค้นหาวิธีการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้สายพันธุ์ใหม่ด้วยการจับจิ้งหรีดป่ามาเลี้ยงผสมพันธุ์กับจิ้งหรีดฟาร์ม ปริมาณตัวผู้ตัวเมียเท่าๆ กันซึ่งก็ยังเป็นการค้นหาคำตอบว่าจะมีความเป็นไปได้ขนาดไหน ตัวจะใหญ่ขึ้นแข็งแรงหรือไม่ ในการคัดเลือกสังเกตลักษณะจิ้งหรีดตัวผู้ ตัวเมีย จะแตกต่างกันหากเป็นจิ้งหรีดตัวเมียจะมีเข็มออกมาตรงปลายท้องหรือส่วนก้นสำหรับวางไข่ของจิ้งหรีดอันเดียว ส่วนตัวผู้จะมีเข็มเล็กกว่าออกมาสองอัน เห็นได้ชัดเจน

สำหรับการจับขาย ก็ขายได้หลายวิธี บางครั้งแม่ค้าก็จะมาซื้อถึงฟาร์ม ซื้อตัวสด แต่หากแม่ค้าไม่ซื้อตัวสดก็จะใช้วิธีการน็อกน้ำและนำเข้าแช่ในตัวเย็น ซึ่งในช่วงนี้นับว่าราคาขายดีมาก มีเท่าไหร่ก็ไม่พอกับแม่ค้า โดยขายส่งแม่ค้า 10 กิโลกรัมขึ้นไป ราคา 120 บาท ต่ำกว่า 10 กิโลกรัม ถือว่าเป็นการซื้อปลีก จะขายกิโลกรัมละ 150 บาท ในหนึ่งกล่องจะได้จิ้งหรีด ประมาณ 25-30 กิโลกรัม สำหรับการเลี้ยงก็จะเลี้ยงไม่พร้อมกัน ทิ้งห่างกันประมาณ 10 วัน เพื่อให้มีจิ้งหรีดส่งขายหมุนเวียนให้ตลาดได้ตลอดเดือนเป็นช่วงๆ รายได้หักค่าอาหารค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมแล้วในแต่ละเดือน ประมาณ 50,000-60,000 บาท ทำให้ นายสุวิทย์ บอกว่า สามารถมีรายได้ส่งงวดรถเก๋งหนึ่งคัน รถปิกอัพอีกหนึ่งคันได้สบาย จากการเลี้ยงจิ้งหรีดนี้ ไม่ได้เอาเงินจากส่วนอื่นมาช่วยเลย ส่วนผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ ทั้งโทรศัพท์หรือไลน์ 0-4210-1148, 09-6879-0911 ยินดีที่จะให้คำปรึกษาหรือจะมาดูงาน ศึกษาเรียนรู้เป็นหมู่คณะก็ยินดีที่จะให้ความรู้ ทั้งนี้ นับว่าจิ้งหรีดไม่ใช่แมลงธรรมดาที่เราจะมองข้ามอีกแล้ว วันนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ที่ทำเป็นอาชีพได้อย่างเป็นอย่างดี

 

ที่มา มติชนออนไลน์