ปลูก ”แก้วมังกร” เสริมจากการทำนา สร้างรายได้ดี ปลูกง่าย ติดผลดก ผลผลิตต่อไร่สูง

“แก้วมังกร” หรือ Dragon fruit เป็นพืชในตระกูลแค็กตัส หรือสกุลหนึ่งของกระบองเพชร เป็นพืชไม้เลื้อย มีพื้นเพดั้งเดิมอยู่ในแถบอเมริกากลาง โดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศสเป็นผู้นำเข้ามาทางประเทศเวียดนาม เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเป็นผลไม้ประจำถิ่นของเวียดนาม ปลูกในเชิงการค้าเป็นจำนวนมากในเวียดนาม สำหรับประเทศไทยเริ่มรู้จักผลไม้ชนิดนี้อย่างแพร่หลาย เมื่อ พ.ศ. 2534 เนื่องจากมีการนำเข้าต้นพันธุ์ดีจากเวียดนามมาปลูกเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยพันธุ์ที่มีการนำเข้ามาในช่วงแรกเป็นพันธุ์เนื้อในสีขาว ต่อมาอีกระยะหนึ่งจึงมีการนำเข้าแก้วมังกรพันธุ์เนื้อในสีแดง ซึ่งเป็นพันธุ์มาจากไต้หวัน เข้ามาปลูกในประเทศไทย

และมีอีกหลายสายพันธุ์ที่ทั้งนำเข้ามาจากต่างประเทศและเกิดขึ้นจากการผสมพันธุ์ในบ้านเรา ลำต้นเลื้อยของแก้วมังกรนั้นเป็นกิ่ง 3 แฉก และมีรอยหยักโดยตลอด รูปร่างนี้จึงดูคล้ายครีบมังกร จึงเป็นอีกหนึ่งที่มาของชื่อ แก้วมังกร นั่นเอง แต่ละแฉกของแก้วมังกรนั้นจะอวบน้ำเต่งตึง แท้ที่จริงแล้วนั้นกิ่งที่เราเห็นไม่ใช่ลำต้นที่แท้จริง แต่เป็นใบที่เปลี่ยนรูปมา ลำต้นจริงๆ นั้นอยู่ภายในศูนย์กลางของแฉก ซึ่งก็เป็นลักษณะของต้นกระบองเพชรรูปแบบหนึ่ง

ต้นแก้วมังกร อายุ 2 ปีเศษ กำลังให้ผลผลิตที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

ลักษณะของต้นแก้วมังกร ลำต้นเป็นแฉก 3 แฉก สีเขียว อวบน้ำ มีความยาวประมาณ 5 เมตร ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นส่วนของใบที่เปลี่ยนรูปร่างไป ส่วนลำต้นที่แท้จริงอยู่ในตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลางของแฉกทั้ง 3 บริเวณตาข้างจะมีหนาม 1-5 หนาม มีรากทั้งในดินและรากอากาศ

ดอกของแก้วมังกรเวียดนาม สายพันธุ์หลักของสวนสมคิด

ดอกมีขนาดใหญ่ เกิดบริเวณปลายกิ่งในช่วงเดือนเมษายน เมื่อบานมีลักษณะคล้ายปากแตร โดยจะบานในช่วงหัวค่ำจนถึงเช้า มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกจะมีความยาวประมาณเกือบ 1 ฟุต ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม เป็นช่วงที่แก้วมังกรให้ผลผลิต

ผลมีลักษณะเป็นสันเหลี่ยมทู่ๆ เรียงรายอยู่ทั่วไปบนผิวเปลือก เปลือกหนา มีสีชมพูอมส้ม ภายในผลเมื่อผ่าออกจะมีเนื้อสีขาวขุ่นหรือสีชมพู ในเนื้อจะมีเมล็ดเล็กๆ สีดำ คล้ายกับเมล็ดงาฝังตัวอยู่ ตาข้างๆ ของต้นแก้วมังกรจะมีหนามอยู่โดยทั่วไป ตำแหน่งที่มีหนามนั้นคือ ส่วนที่จะเกิดเป็นดอกและผลแก้วมังกรต่อมานั่นเอง

แก้วมังกรที่เก็บจากสวนค่อนข้างขายดีและมีลูกค้าประจำ เนื่องจากเก็บแก่จัดและรสชาติหวาน

แก้วมังกร ปัจจุบันกลายเป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการปลูกเชิงการค้าในบ้านเรา ซึ่งก่อนหน้านี้ปลูกมากในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกของไทย ซึ่งต่อมาพื้นที่เพาะปลูกแก้วมังกรกลับมาปลูกมากในเขตอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย และได้รับความนิยมบริโภคไม่แพ้ผลไม้ชนิดอื่น โดยเฉพาะสุภาพสตรีส่วนใหญ่ใช้บริโภคเพื่อลดน้ำหนัก (ลดความอ้วน) เมื่อมีคนใดคนหนึ่งสามารถลดน้ำหนักได้จริง ทำให้มีการใช้ผลแก้วมังกรนี้เป็นองค์ประกอบของการควบคุมน้ำหนักของสุภาพสตรีในปัจจุบัน

นอกจากนี้ คุณสมบัติของแก้วมังกรมีพอสมควร โดยมี

สารมิวซิเลจ (Mucilage) สารพวกนี้เป็นโพลีแซ็กคาไรด์เชิงซ้อน มีลักษณะคล้ายวุ้น หรือเยลลี่ ช่วยดูดน้ำตาลกลูโคส โดยเฉพาะในคนที่เป็นเบาหวาน โดยไม่พึ่งอินซูลิน ลดไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสเตอรอลชนิดความหนาแน่นในเลือดต่ำ เพิ่มธาตุเหล็กอีกด้วย

แก้วมังกรอุดมไปด้วยไฟเบอร์ ซึ่งมีปริมาณสูงมาก จึงช่วยในเรื่องของระบบการขับถ่าย ในส่วนของเนื้อมีสาร Complex Polysaccharide เป็นตัวที่ช่วยลดการดูดซึมไตรกลีเซอไรด์ ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด นอกจากนี้ ยังมีธาตุเหล็ก บรรเทาโรคโลหิตจาง รวมถึงแร่ธาตุอีกมากมาย ทั้ง วิตามินบี 1 บี 2
บี 3 วิตามินซี ฟอสฟอรัส โปรตีน และแคลเซียม

ผลแก้วมังกรมีคุณค่าทางอาหาร มีสรรพคุณป้องกันโรคหัวใจ ความดันโลหิต ตับ เบาหวาน มะเร็งลำไส้ และต่อมลูกหมาก เสริมสร้างภูมิต้านทานกระดูก ฟัน และกล้ามเนื้อ และในแก้วมังกรเนื้อแดงนั้นยังมีสารไลโคปีนที่สามารถต่อต้านมะเร็งได้อีกด้วย ด้วยรสชาติที่หวานน้อยประกอบกับคุณค่าทางโภชนาการของแก้วมังกรที่มีมากมายเช่นนี้ จึงทำให้เป็นผลไม้ที่หลายๆ คนชื่นชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่รักสุขภาพ กลัวความหวาน กลัวไขมัน ต้องการลดความอ้วน ควบคุมน้ำหนัก รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานด้วย

คุณสมคิด บุญทูล เจ้าของสวน “สวนแก้วมังกรสมคิด” บ้านเลขที่ 36/2 หมู่บ้านยางตะพาย ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร โทร. (094) 229-6545 เล่าว่า ตนเองและครอบครัวเริ่มมาปลูกแก้วมังกร เนื่องจากความชอบก่อน มีเพื่อนบ้านปลูกอยู่ เห็นว่าต้นแก้วมังกรออกดอกสวย จึงศึกษาว่า ถ้าตนเองจะปลูกแก้วมังกรนั้นยากหรือไม่ ซึ่งพบว่าแก้วมังกรเป็นพืชที่ปลูกง่าย ออกดอกง่าย ติดผลดก ยิ่งปลูกเชิงการค้าแล้วแก้งมังกรเป็นพืชที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงมาก ปลูกเพียง 1 ปี ก็เริ่มมีผลให้เก็บได้แล้ว ประกอบกับครอบครัวมีอาชีพทำนาชอบทำการเกษตร อีกอย่างมองว่าจังหวัดพิจิตรไม่มีคนปลูกแก้วมังกรแบบเป็นสวน ถ้าปลูกแล้วก็คิดว่าจะขายแค่ในจังหวัดก็คงจะเพียงพอ จึงตัดสินใจปลูกแก้วมังกร ประมาณ 8 ไร่ ปลูกได้ราว 900 หลัก ตอนนี้ต้นอายุได้ 2 ปีเศษ ซึ่งตอนนี้สร้างรายได้เป็นอย่างดี ช่วยเสริมรายได้จากการทำนาที่พอมีเวลาดูแลในช่วงที่รอเกี่ยวข้าว ซึ่งคุณสมคิด อธิบายว่า ในบ้านเรานั้นจะปลูกแก้วมังกรอยู่ 3 สายพันธุ์หลักๆ คือ

คุณสมคิด บุญทูล (ซ้าย) กับ คุณนัน บุญทูล (ขวา)  เจ้าของสวนแก้วมังกรสมคิด

หนึ่ง แก้วมังกรพันธุ์เวียดนาม ซึ่งมีลักษณะผลใหญ่ เนื้อขาวครีม เปลือกแดงอมชมพู รสหวานจัด  กลีบใหญ่และห่าง เป็นสายพันธุ์ที่ปลูกมากที่สุดในบ้านเรา

สอง แก้วมังกรพันธุ์ไทย ซึ่งมีลักษณะผลเล็กกว่าพันธุ์เวียดนาม เนื้อขาวครีม เปลือกแดงอมชมพู รสหวานอมเปรี้ยว กลีบเล็กและถี่กว่าพันธุ์เวียดนาม และ

สาม แก้วมังกรพันธุ์ไต้หวัน ซึ่งมีลักษณะเนื้อแดง เปลือกแดง และมีขนาดผลเท่าแก้วมังกรพันธุ์ไทย

โดยคุณสมคิดนั้นเลือกปลูกแก้วมังกรสายพันธุ์ “เวียดนาม” ทั้งหมด เนื่องจากเป็นที่นิยมในบ้านเรามากที่สุด มีรสชาติหวาน ผลใหญ่ แต่ก็ปลูกพันธุ์เนื้อแดงบ้างเล็กน้อย เผื่อลูกค้าบางคนชอบให้เป็นทางเลือก

วิธีการปลูกแบบแปลงลงดิน ขุดหลุมฝังเสา ลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ฝังเสาหลักที่ให้ต้นแก้วมังกรออกรากเกาะยึด จะเป็นเสาปูนหรือเสาท่อน้ำทิ้ง (ข้างในกลวง) ก็แล้วแต่ ฝังให้เสาสูงจากพื้นประมาณ 1.5-2.0 เมตร มีระยะห่างระหว่างหลัก ประมาณ 3-3.5 เมตร ด้านบนของหลักทำเป็นร้านให้กิ่งของแก้วมังกรแผ่ขยายออกไปรอบๆ โดยเลือกใช้ยางมอเตอร์ไซค์เก่า เนื่องจากมีราคาถูกและมีอายุการใช้งานหลายปี นำเสาใส่ลงไปในหลุมที่ขุดอัดดินให้เสาแน่น จากนั้นนำปุ๋ยคอกเก่ามาโรยรอบๆ เสา พรวนดินรอบๆ เสาปลูกให้เป็นรัศมีออกไปประมาณ 30-50 เซนติเมตร จากนั้นนำต้นแก้วมังกรที่สั่งซื้อเอาไว้ซึ่งตัดกิ่งแก่สดจากสวนนำมาปลูกเลยโดยไม่ต้องมาปักชำอนุบาลก่อน เพื่อจะไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมถุงดำ เตรียมวัสดุปลูก แรงงาน เพื่อใช้ในการปักชำกิ่งแก้วมังกรอีกนานนับเดือน

ปลูกแก้วมังกร จำนวน 900 หลัก ในพื้นที่ 8 ไร่

นำท่อนแก้วมังกร ซึ่งคุณสมคิดเล่าว่า ที่สวนจะใช้กิ่งแก้วมังกรที่มีความยาว 50-80 เซนติเมตร โดยไม่ได้ตัดแบ่งให้สั้นลงเลย ได้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากท่อนพันธุ์ที่ได้มามีราคาไม่แพงมากนัก ประมาณท่อนละ 15 บาท มาจากสวนที่จังหวัดเลย เนื่องจากเขาก็ตัดแต่งทิ้งออกจากต้นด้วย และดูว่าแก้วมังกรเป็นพืชที่ออกรากง่าย จึงใช้ท่อนพันธุ์ที่ยาวปลูกเลย เพื่อให้ต้นแก้วมังกรเลื้อยขึ้นค้างได้ไว การปลูกนั้นทำได้ไม่ยากเลย ขุดหลุมเพียงเล็กน้อย ขุดลึกประมาณ 5 เซนติเมตร ถ้าสังเกตต้นแก้วมังกรนั้น ต้นจะเป็นสามเหลี่ยม ซึ่งจะมีด้านหนึ่งที่ราบแบน ให้เอาด้านที่ราบแบนหันเข้ากับผิวเสาปูน เนื่องจากด้านที่ราบแบนนั้นจะเป็นบริเวณที่เกิดราก เอาดินกลบ เป็นอันเสร็จ

ปลูก 4 ต้น หรือด้านละ 1 ต้น ของเสาปูน อย่าลืมใช้เชือกฟางมัดต้นแก้วมังกรให้ยึดกับเสาปูนให้พอประคองต้นแก้วมังกร ไม่ต้องมัดแน่นมากนัก มัดเพื่อป้องกันไม่ให้ต้นล้มหรือว่าหัก และหมั่นมัดยอดแก้วมังกรที่แตกออกมาใหม่ให้แนบกับเสาปูนอยู่เสมอ จนกว่าจะขึ้นถึงยอดเสาปูน ผลจากการปลูกแบบนี้พบว่า อัตราการรอดตายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

หลังปลูกเลี้ยงได้ประมาณ  8-10 เดือน เมื่อต้นแก้วมังกรออกยอดสูงพ้นเกินเสาเล็กน้อย ให้ใช้มือเด็ดหรือตัดตรงปลายยอดทิ้ง เพื่อเป็นการทำให้ต้นแก้วมังกรแตกยอดออกมาใหม่จำนวนหลายยอด หมั่นถอนหญ้าหรือตัดหญ้าที่ขึ้นตรงโคนต้นทิ้งเป็นประจำ เพื่อให้ต้นแก้วมังกรได้รับอาหารเต็มที่โดยไม่ต้องแย่งอาหารกับต้นหญ้า

แก้วมังกรเป็นพืชที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง

เมื่ออายุต้นครบ 2 ปี หลังจากที่ต้นแก้วมังกรออกผลจนหมด ในช่วงเดือนตุลาคม ควรตัดแต่งกิ่งให้สวยงาม โดยเลือกกิ่งที่เสียหายโดยมดทำลายหรือกิ่งที่เกิดซ้อนทับกันมากๆ ออก ให้มีช่องว่างและสัดส่วนพอดี ไม่มากเกินไป เพราะว่าจะทำให้ค้างรับน้ำหนักมากเกินความจำเป็น

การตัดแต่งกิ่งโดยการตัดกิ่งที่ให้ผลผลิตแล้ว โดยการตัดออกประมาณ 50 เซนติเมตร ของความยาวกิ่ง แต่ถ้ากิ่งยาวไม่ถึงก็ให้ตัดเกือบชิดข้อที่แตกออกมาจากกิ่งเดิม โดยทั่วไปการตัดแต่งกิ่งแก้วมังกรที่นิยมคือ แบบตัดออก 50-60 เปอร์เซ็นต์ ของกิ่งที่มีอยู่ จะทำให้การเกิดกิ่งใหม่เร็วขึ้นและสมบูรณ์

ประโยชน์ของการตัดแต่งกิ่งแก้วมังกร คือช่วยเสริมสร้างให้แก้วมังกรมีผลผลิตดีขึ้น 25-30 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่านี้แล้วแต่สภาพพื้นที่ปลูก ดังนั้น การตัดแต่งกิ่งจำเป็นต้องทำทุกปี เพื่อให้ผลผลิตแก้วมังกรเกิดขึ้นกับกิ่งที่แตกใหม่ซึ่งยังสาวอยู่ กิ่งมีความสมบูรณ์มากที่สุด กิ่งที่ออกใหม่จะสมบูรณ์แข็งแรงกว่า พร้อมที่จะออกดอกออกผลในปีถัดไป เราควรตัดกิ่งที่ปลายไม่แหลมออก ปลายที่ไม่แหลมสั้นๆ ทู่ๆ มันจะไม่ยืดและเวลากิ่งแก่ก็จะออกผลช้ากว่ากิ่งที่ปลายแหลม ส่วนกิ่งที่ตัดควรทิ้งนอกแปลงแล้วกำจัด ไม่ควรทิ้งไว้ในแปลงจะทำให้เป็นแหล่งสะสมโรคและแมลง และกิ่งแก้วมังกรจะแตกรากในแปลง เรายิ่งจะกำจัดได้ยากขึ้น

หลังการตัดแต่งกิ่งสังเกตดูดีๆ กิ่งที่ออกลูกติดผลมักเป็นกิ่งที่มีปลายกิ่งห้อยย้อยลงดิน เพราะฉะนั้น กิ่งไหนที่ชี้ขึ้นฟ้าควรตัดทิ้งเลย เอาไว้ก็แย่งอาหารกิ่งที่จะออกดอกเสียหมด ระหว่างที่เตรียมความพร้อมกิ่งเพื่อให้ติดผล ถ้ามีกิ่งแตกมาใหม่ เมื่อเห็นได้ชัดเจนแน่นอนแล้วว่าไม่ใช่ตาดอกแน่นอน สะกิดกิ่งที่แตกมาใหม่เหล่านี้ทิ้งไปเสียบ้าง อย่าเสียดายเอาไว้มันเสียทุกกิ่ง มันจะได้มีอาหารสะสมไปออกดอกบ้าง เพราะกิ่งที่แตกใหม่เหล่านี้แย่งอาหาร

แก้วมังกรจากที่สวน ขายได้เฉลี่ย กิโลกรัมละ 20-35 บาท

คุณสมคิด เล่าย้อนกลับไปว่า ได้ปลูกแก้วมังกรเมื่อเดือนมกราคม 2558 พอเดือนพฤษภาคม 2559 แก้วมังกรที่สวนก็ออกดอกรุ่นแรก เก็บผลได้ต้นเดือนสิงหาคม 2559 และเก็บผลผลิตยาวต่อเนื่องมาถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2559 คือแก้วมังกรจะทยอยออกมาเรื่อยๆ ราว 8-9 รุ่น
ใน 1 ปี ซึ่งเท่าที่สังเกตคือ ต้นแก้วมังกรจะออกดอกเดือนเว้นเดือน ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ผสมกันเองหรือผสมข้ามดอกข้ามต้นได้ การนับอายุการเก็บเกี่ยวเบื้องต้น สามารถนับอายุดอกตั้งแต่เริ่มแทงออกมาขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวถึงดอกบาน 15 วัน อายุผลตั้งแต่ผสมติดหรือกลีบดอกร่วงถึงเก็บเกี่ยว 30 วัน ผลแก้วมังกรจะแก่เก็บจำหน่ายได้ ดอกแก้วมังกรจะเริ่มบานตั้งแต่เวลาเย็น ประมาณ 15.00-09.00 น. ในช่วงเช้าของอีกวัน

ใช้กรรไกรตัดผลแก้วมังกร

หลังเก็บเกี่ยวไปแล้วอีก 15-30 วัน จะมีดอกชุดใหม่ตามออกมาอีก การออกดอกนั้นแก้วมังกรจะออกดอกติดผลดีในฤดูกาลที่ช่วงกลางวันยาวกว่ากลางคืน โดยช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม สามารถออกดอกได้ตลอด ครั้นถึงช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม หรือช่วงอากาศหนาวเย็นจะพักต้นและไม่ออกดอก หรือช่วงอากาศหนาวเย็นแม้จะออกดอกตามธรรมชาติได้ แต่จำนวนดอกจะน้อยกว่าช่วงอากาศร้อน

ถ้าช่วงที่ดอกบานแล้วฝนตก โอกาสติดผลดี ดอกไม่เน่า แต่ถ้าเจอฝนตกหนัก ดอกก็จะเสียหายเน่าไม่ติดผล แต่ถ้าฝนไม่ตกในช่วงที่ดอกแก้วมังกรบานเปอร์เซ็นต์การติดผลเรียกได้ว่าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อติดผลอ่อนกลีบดอกที่อยู่ปลายผลแก้วมังกรจะแห้งแต่ไม่ร่วง (ซึ่งจะกลายเป็นที่อาศัยของมดดำ) ให้ดึงกลีบดอกที่แห้งออก เพื่อให้ผลโตเร็ว แต่ถ้าในช่วงฝน กลีบดอกเหล่านี้อาจจะเน่าแทน ดังนั้น ควรเด็ดหรือตัดกลีบดอกออก หลังผลแก้วมังกรมีขนาดพอสมควรแล้ว    

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์