สตรีตฟู้ดเมืองไทย มนต์เสน่ห์ที่มีชีวิต กับการจัดระเบียบทางเท้า

38893495 - pattaya, thailand - april 4, 2015: woman in a street cafe fry food and smiling

แม้จะยอมรับความจริงว่าการจัดระเบียบทางเท้าทั่วกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศเป็นเรื่องดี เพราะประชาชนจะได้เดินบนทางเท้าอย่างปลอดภัย

โดยเฉพาะบริเวณชุมชนแออัด

เพราะอย่างที่เราๆ ท่านๆ เห็นกันอยู่ว่าบางถนน บางชุมชน และบางเส้นทาง โดยเฉพาะช่วงกลางวัน ตอนเย็น ระเรื่อยไปจนถึงกลางคืน บนทางเท้าบางแห่งมักจะมีร้านค้าระเกะระกะเต็มไปหมด

เราต้องไปเดินบนไหล่ทาง

จนบางคนถูกรถเฉี่ยวชน กลายเป็นเรื่องฟ้องร้องหลายครั้ง และหลายคนต้องนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล โดยไม่มีใครแบะท่าออกมารับผิดชอบ

เพราะเขาโทษผู้เดินเองว่า…เดินไม่ดูตาม้าตาเรือ จนเป็นเหตุให้รถเฉี่ยวชนเอง

ผ่านมาทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) พยายามแก้ปัญหานี้บ่อยครั้ง แต่ทำไม่สำเร็จ เนื่องจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่างสังกัดพรรคการเมือง ทำอะไรเกินงาม ประชาชนเหล่านั้น ก็จะไม่กากบาทเลือกตั้งในคราวหน้า

เขาจึงทำแบบเอาหูไปนาเอาตาไปไร่

หลับตาข้างหนึ่งบ้าง

เพื่อจะได้ไม่เสียฐานเสียง

แต่เมื่อรัฐบาลคสช. เข้ามาปกครองประเทศ สิ่งที่เรียกว่ายากก็กลับกลายเป็นง่าย เพราะสามารถอาศัยอำนาจตามกฎหมายให้ กทม. จัดการได้ทันที

ผ่านมาเกือบ 3 ปีถือว่าเข้าที่เข้าทางอยู่พอสมควร โดยเฉพาะกับร้านค้าที่อยู่รอบๆ เกาะรัตนโกสินทร์ และชุมชนต่างๆ ที่อยู่ใจกลางเมืองหลวง

ถามว่าผมเห็นด้วยมั้ย…เห็นด้วยอย่างมาก เพราะอย่างที่ทราบๆ กันบริเวณรอบๆ เกาะรัตนโกสินทร์ถือเป็นแลนด์มาร์กของประเทศไทย ดังนั้น การที่มีร้านค้าระเกะระกะ ทำให้เกิดทัศนียภาพอุจาดได้

ทั้งยังทำให้ประชาชนเดินอย่างลำบาก แถมยังทำให้สถานที่เหล่านั้นเต็มไปด้วยสิ่งสกปรก เลอะเทอะ จนเกิดกลิ่นเหม็นต่างๆ ซึ่งผมไม่เห็นด้วยเลย

เช่นเดียวกับย่านชุมชนเก่าแก่ในจังหวัดต่างๆ ที่เรามักจะเห็นร้านค้าขายของอยู่กันเต็มไปหมด บางครั้งมีพวกมาเฟียท้องถิ่นมาเกาะกินเรียกค่าเช่าแผง

ค่าเช่าร้าน

โดยที่พวกเขาไม่มีสิทธิ์อะไรที่จะทำอย่างนั้น แต่ด้วยความที่คนไทยเป็นสังคมแห่งการประนีประนอม ที่สุดคนเหล่านี้จึงฉกฉวยประโยชน์เข้าใส่ตนและพวกพ้องจนกลายเป็นความเคยชิน

พอเจ้าหน้าที่บ้านเมืองออกมาปัดกวาด จึงเกิดการต่อต้านอย่างที่เห็นๆ กัน

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ต้องยอมรับว่า “อาหารริมทาง” หรือ “Street Food” ของมหานครกรุงเทพฯ และชุมชนเก่าแก่ในจังหวัดต่างๆ กลับมีมนต์เสน่ห์ที่หลายคนยากที่จะปฏิเสธ

นอกจากอาหารอร่อย

ราคาถูก

ยังเป็นที่กล่าวขานของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ไม่เช่นนั้น สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นคงไม่จัดอันดับ 23 เมืองที่มีอาหารริมทาง หรือสตรีตฟู้ดดีที่สุดในโลก ด้วยการยกให้มหานครกรุงเทพฯ ถูกจัดเป็นอันดับ 1

โดยมีเมนูยอดฮิต 10 อันดับแรก ได้แก่ ผัดซีอิ๊ว, ส้มตำ, หมูปิ้ง, ก๋วยเตี๋ยวเรือ, ข้าวผัดปู, หมูเเดดเดียว, ขนมจีน, ชาเย็น, ข้าวเหนียวมะม่วง และขนมครก ตามลำดับ

รองลงมาคือกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น, นครโฮโนลูลู รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา, เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้, เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา, เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี, ฮ่องกง, กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส, เม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโก, กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และอื่นๆ

ฉะนั้น จะเห็นว่า “อาหารริมทาง” หรือ “Street Food” ไม่ได้มีแต่เฉพาะในเมืองไทย หากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเขาก็มีกัน เพียงแต่จะบริหารจัดการอย่างไรให้ร้านอาหารริมทางเหล่านั้นราคาย่อมเยา และถูกสุขอนามัยก็เท่านั้นเอง

บางประเทศอย่างสิงคโปร์ รัฐบาลให้ร้านอาหารริมทางดังๆ เข้าไปรวมอยู่ในฟู้ดคอร์ต เพื่อที่ลูกค้าคนไหนอยากจะรับประทานอะไร ก็สามารถเข้าไปในสถานที่เหล่านั้น เพราะรวมของอร่อยอยู่เสร็จสรรพ

สำหรับบ้านเราก็อย่างที่ทราบๆ กัน

หลายร้านยังดำรงอยู่คงอยู่

แต่หลายร้านพลัดหายไปกับการจัดระเบียบบนทางเท้า จนทำให้ระยะหลังๆ เวลาอยากจะรับประทานหมูปิ้ง, ส้มตำ, ข้าวเหนียวมะม่วง, ก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำ และอื่นๆ ที่เราเคยรับประทานเป็นประจำ กลับไม่มีเสียแล้ว

“เป็นเอก รัตนเรือง” ผู้กำกับภาพยนตร์เคยเล่าให้ผมฟังนานแล้วว่า เสน่ห์ของมหานครกรุงเทพฯ อยู่ที่ความไม่มีระเบียบ เพราะตั้งแต่ผมเกิดมา เราก็คุ้นชินกับเรื่องเหล่านี้มานานแล้ว

“ดังนั้น พอจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความระเบียบเรียบร้อย มีการแบ่งโซน มีการจัดระเบียบอะไรให้อยู่เป็นที่เป็นทาง เสน่ห์จึงหายไป ที่สำคัญ พ่อค้าแม่ขายเขาขายของไม่ได้ เพราะผู้บริโภคอย่างเราๆ ไม่คุ้นชินที่จะต้องขับรถไปกิน แต่จะต้องเดินทอดน่องไปเรื่อยๆ เวลาเห็นอะไรน่ากิน เราก็แวะกินกันเดี๋ยวนั้น ผมว่าอร่อยกว่า”

ผมคิดว่าสิ่งที่ “เป็นเอก” พูดนั้นเป็นเรื่องจริง

เพราะเสน่ห์ของมหานครกรุงเทพฯ อยู่ที่ความไม่ระเบียบเรียบร้อย

แต่การจะทำให้มหานครกรุงเทพฯ ระเบียบเรียบร้อยขึ้น ก็เป็นเรื่องน่ายินดีเช่นกัน โดยเฉพาะกับเขตเมืองเก่า และชุมชนโดยรอบเกาะรัตนโกสินทร์

รวมถึงเมืองเก่าในจังหวัดต่างๆ ด้วย

แต่สำหรับการจัดระเบียบคืนทางเท้าให้กับประชาชน โดยเฉพาะแถวสยามสแควร์, สุขุมวิท, รามคำแหง, คลองเตย และที่อื่นๆ ที่มีร้านค้าระเกะระกะไปหมดนั้น ผมค่อนข้างเห็นด้วย

เพราะสถานที่เหล่านี้ มีมาเฟียแฝงหาผลประโยชน์อยู่มากมาย

เพียงแต่ในมุมของผม ทาง กทม. ต้องค่อยๆ คัดสรรทีละจุด ทีละแห่ง ทีละบริเวณ เพราะไม่เช่นนั้น พ่อค้าแม่ค้าที่ยากจนอยู่แล้ว เขาไม่มีเงินพอที่จะไปเสียค่าเช่าในราคาสูง

ทั้งยังเป็นพวกหาเช้ากินค่ำ

เงินกว่าจะได้ 100 บาทในการขายหมูปิ้งก็ยากเต็มทน

แต่พอภาครัฐมาจัดระเบียบอย่างนี้ เขาจะไปทำมาหากินที่ไหน แม้ภาครัฐจะเปิดให้พวกเขาไปขึ้นทะเบียนคนจน แต่ถามว่าการช่วยคนจนให้มีชีวิตอยู่รอดได้จริงๆ มีวิธีนี้ทางเดียวหรือ

ไม่เช่นนั้นคงไม่มีคำกล่าวที่ว่า นักการเมืองยื่นปลา พระราชายื่นเบ็ด

เพราะการจะช่วยคนจนให้มีโอกาสอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน เราต้องช่วยเขาให้ลืมตาอ้าปากด้วย ไม่เช่นนั้น เราจะต้องช่วยอุดหนุนเขาอย่างนี้อยู่ร่ำไป

ที่สำคัญ พวกเขาคงไม่อยากให้ภาครัฐช่วยเขาในลักษณะนี้ต่อไปหรอก

เขาอยากมีที่ทำกินในราคาถูกมากกว่า สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องภายในครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าวันวานต่างหาก ผมว่าภาครัฐลองพิจารณาหน่อยนะครับว่า…เราจะปล่อยให้พวกเขาเป็นอย่างนี้ต่อไปหรือ

ลองพิจารณาดูนะครับ?