เมื่อโลกเปลี่ยน ต้องรับมือให้ทัน! สัญญาณเตือนให้ผู้ประกอบการ สร้างแบรนด์ให้ชัดเจน

เคยนั่งคุยกับผู้บริหารหลายคนที่รับผิดชอบและดูแลเกี่ยวกับเรื่องการรับสมัครพนักงาน พวกเขาเล่าให้ผมฟังในทำนองคล้ายกันว่าตอนนี้ผู้บริหารรุ่นเบบี้บูมเมอร์กำลังลงจากตำแหน่ง

และผู้บริหารในรุ่นเจเนอเรชั่นเอ็กซ์กำลังจะขึ้นมา

ขณะเดียวกัน ในบางองค์กรตอนนี้ผู้บริหารรุ่นเบบี้บูมเมอร์เหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะองค์กรที่เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

แต่สำหรับองค์กรภาครัฐ ผู้บริหารเบบี้บูมเมอร์ยังมีอยู่ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่ายังเยอะอยู่พอสมควร แต่กระนั้น ในจำนวนเหล่านี้ ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าผู้บริหารบางคนมีทักษะความสามารถค่อนข้างสูง

มีความชำนาญเฉพาะทาง

เฉพาะด้าน

ซึ่งยากที่จะหาคนรุ่นใหม่มาทำงานได้ทันที

โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย, ช่างสิบหมู่ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมประเพณีโบราณของประเทศ ผลเช่นนี้ จึงทำให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จึงประกาศต่ออายุราชการให้กับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เหล่านั้น

แต่ผมไม่รู้ว่าผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะกลับมาทำงานสักกี่เปอร์เซ็นต์

ถึงกระนั้น ก็ทำให้เห็นช่องว่างของการพัฒนาบุคลากรอย่างมาก คล้ายกับว่าเราสร้างคนไม่ทัน บัณฑิตจบใหม่ในแต่ละปีเป็นแสนๆ คน แต่เข้ามาอยู่ในตลาดแรงงานเพียงไม่กี่หมื่นคน

ที่เหลือออกไปทำธุรกิจสตาร์ตอัพกันหมด

ผมถามผู้บริหารเหล่านั้นว่า…ปัจจุบันมีน้องๆ มาสมัครงานกันเยอะไหม?

เขาตอบว่า…เยอะ และมีคุณภาพมากด้วย เราจึงต้องคัดแล้วคัดอีก เพื่อให้ได้คนที่ดีที่สุดจริงๆ

ผมจึงตอบกลับไปว่าก็น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดี เพราะองค์กรของคุณมีบุคลากรเลือดใหม่ที่มีคุณภาพ อย่างนี้น่าจะทำให้องค์กรเกิดความยั่งยืนในอนาคต

แต่เขาสวนผมกลับทันทีว่าไม่จริงหรอก น้องๆ พวกนี้เก่งกันก็จริง แต่ไม่ค่อยมีความอดทน ทำงานสักปีสองปีก็ลาออก ถ้าหัวหน้างานไม่ถูกใจ เส้นทางการเติบโตในอาชีพไม่ชัด ไม่มีโอกาสไปทำงานต่างประเทศ

ไม่มีโบนัส

เงินเดือนที่น่าพอใจ

หรือทำงานนอกสถานที่ไม่ได้

เขาจะย้ายไปอยู่ที่อื่นทันที หรือไม่ก็รวมกลุ่มกับเพื่อนทำธุรกิจสตาร์ตอัพ เพราะคนเหล่านี้ภาษาที่สองที่สามเขาใช้ได้ เขาสามารถเชื่อมโลกใบนี้เข้าหากัน จนเกิดเป็นธุรกิจใหม่ขึ้นมา

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่จำนวนบัณฑิตในแต่ละปี จึงหายไปจากตลาดแรงงาน และมีแนวโน้มที่จะหายไปมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน เราก็จะเห็นธุรกิจสตาร์ตอัพ ฟรีแลนซ์ในอาชีพต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

เพราะพวกเขารู้สึกว่าการทำงานอิสระเป็นสิ่งที่เขาต้องการ

ผมเคยคุยกับน้องผู้หญิง 2 คนที่จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พวกเขาอายุประมาณ 20 กว่าๆ ปัจจุบันทำงาน 2 อย่างไปพร้อมๆ กัน

หนึ่ง งานในวิชาชีพสถาปนิก

สอง ทำนาฬิกาขาย

พวกเธอบอกผมว่าตอนนี้จ็อบที่เกิดจากทำนาฬิกาขาย รายได้ดีมาก จนอยากจะเลิกทำงานประจำแล้ว เพราะรู้สึกว่าการทำนาฬิกาขาย มีอิสระมากกว่า ทั้งยังได้เปิดประสบการณ์ในการเจรจาธุรกิจ ทั้งกับซัพพลายเออร์จากเมืองจีน เพื่อผลิตนาฬิกาตามที่เธอออกแบบ

คุยกับลูกค้า

เอเย่นต์

และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ที่สำคัญ ยังได้ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนเกี่ยวกับการออกแบบ ที่จากเดิมจะต้องออกแบบอาคาร คอนโดมิเนียม บ้าน โรงแรม มาเป็นนาฬิกาเรือนเล็กๆ แต่มีความเป็นโมเดิร์น เพราะกลุ่มลูกค้าของเธอคือคนหนุ่มสาวที่อายุเพียง 18-25 เท่านั้น

ทั้งยังมีโอกาสสร้างแบรนด์ของตัวเองด้วย

เพราะฉะนั้น เมื่อขายได้ ลูกค้าชอบ หรือเห็นคนสวมใส่ จึงทำให้เราพลอยมีความสุข ยิ่งเมื่อลูกค้าสั่งผ่านออนไลน์มากๆ ยิ่งทำให้เรามีความสุขมากไปด้วย

น้องทั้ง 2 คนนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่อาจจะหายไปจากตลาดแรงงานในอนาคต และมาเพิ่มสัดส่วนของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่หันมานิยมเป็นเจ้าของธุรกิจเอง

ผมถึงมีความเชื่อไงว่าโลกในอนาคตจะเป็นของคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้น ต่อไปเราจะเห็นคนหนุ่มสาวหลายคนผุดธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย

โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ ที่ไม่เฉพาะแต่สินค้าอุปโภค บริโภคเท่านั้น หากในภาคธุรกิจการเกษตร และธุรกิจอื่นๆ เราก็เริ่มเห็นคนรุ่นใหม่เข้าไปทำกันบ้างแล้ว

ทั้งพวกเขายังนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปผสมผสานอย่างลงตัว จนทำให้ธุรกิจเหล่านั้น ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในประเทศ หากยังเชื่อมโยงไปกับอีกหลายๆ ประเทศบนโลกใบนี้

จนทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ

แล้วเรื่องอะไรเขาจึงอยากจะมาทำงานประจำ จนทำให้ผมอดคิดต่อไปในภายภาคหน้า แล้วต่อไปบุคลากรในออฟฟิศจะเหลือคนสักกี่คน เพราะตอนนี้เราก็เริ่มมองเห็นธุรกิจแบงก์ที่ค่อยๆ ลดจำนวนสาขาลงแล้ว

ผมไม่อยากมองโลกในแง่ร้าย

แต่ผมก็เริ่มเห็นสัญญาณเตือนบางอย่างแล้วจริงๆ เพราะฉะนั้น ใครที่เป็นผู้ประกอบการ ทำธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ควรต้องสร้างแบรนด์ให้มีความชัดเจน

โฟกัสกลุ่มลูกค้าให้ตรงเป้า

และถ้านำโลกของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นเครื่องมือของเราได้ในลักษณะของแอพพลิเคชั่น เฟซบุ๊ก และอื่นๆ บางทีอาจจะทำให้คุณประสบความสำเร็จได้

ลองดูนะครับ