ได้อาชีพใหม่! กลับบ้านเกิด ปลูกทุเรียน 150 ต้น ได้ผลผลิตกว่า 20 ตัน

ครอบครัวของ คุณมะโนทยาน พรมกอง อพยพจากอำเภอเดชอุดม มาตั้งหลักปักฐานอยู่บ้านเลขที่ 165 หมู่ที่ 7 บ้านเกษตรสมบูรณ์ ตำบลบุเปือย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

สมัยก่อน ถึงแม้น้ำยืนจะเข้าออกลำบาก แต่ก็ดินดำน้ำดีกว่าที่เดชอุดม…ดีไม่ดีอย่างไรให้สังเกตดูที่ชื่อหมู่บ้านคือเกษตรสมบูรณ์

เมื่อเข้ามาอยู่ใหม่ๆ ครอบครัวของคุณมะโนทยานปลูกข้าวไว้กิน ขณะเดียวกัน ก็ปลูกพืชไร่ จำพวกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง

มีอยู่ช่วงหนึ่ง มะเขือพวงมีราคา จึงปลูกกันพอสมควร ทำให้ผลผลิตมีมาก หากนำไปขายในตัวเมืองอุบลฯ หรือที่ตลาดอำเภอวารินชำราบ ขายได้ราคาไม่ดี จึงต้องนำไปขายไกลถึงจังหวัดจันทบุรี

จากซ้ายไปขวา คุณเพ็ญนภา คุณธนะศักดิ์ คุณแม่ลำเนาว์ และสมาชิกใหม่ของครอบครัว

คุณมะโนทยาน นำมะเขือพวงบรรทุกรถไปขายถึงเมืองจันท์ ซึ่งอยู่ไกลพอสมควร

เมืองจันท์ในช่วงที่คุณมะโนทยานไปเห็นนั้นเป็นหน้าผลไม้ ตามข้างทางมีสวนเงาะสุกแดง ข้างทางบางแห่งมีทุเรียนวางขายอยู่เต็มไปหมด คณะที่ไปได้ซื้อชิมแล้วอร่อย

ขณะที่นั่งรถกลับบ้าน คุณมะโนทยานเริ่มคิดว่า น่าจะปลูกทุเรียน เพราะสภาพพื้นดินของอำเภอน้ำยืน สีเดียวกับเมืองจันท์ เพราะเป็นตะเข็บชายแดนติดต่อกับกัมพูชา ฝนฟ้าก็ตกดี แหล่งน้ำก็หาได้

ไปขายมะเขือพวงเที่ยวใหม่ ขากลับคุณมะโนทยานซื้อพันธุ์ทุเรียนหมอนทองมาปลูกที่บ้านจำนวน 150 ต้น

ครอบครัวนี้จำได้ชัดเจนว่า ตรงกับปี 2535

ปลูกไปได้ 5-6 ปี ทุเรียนเริ่มมีผลผลิต ถึงแม้ไม่มากนัก เจ้าของนำไปขายได้กิโลกรัมละ 20-30 บาท ทุกคนในครอบครัวตื่นเต้นและดีใจมาก เพราะข้าวโพดและมันสำปะหลัง ก่อนหน้านี้กิโลกรัมหนึ่งขายได้ไม่ถึง 5 บาท

ถือว่า งานปลูกทุเรียนเริ่มตั้งแต่ปี 2535 จากนั้นมาน้องชายของคุณมะโนทยาน คือ คุณเรืองศักดิ์ เห็นตัวอย่างจึงปลูกบ้าง ซึ่งก็ได้ผลดีเช่นกัน

สภาพสวน

ลูกชายสืบทอดเจตนารมณ์

วันที่ไปขอข้อมูลเพื่อนำมาเผยแพร่ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน คุณมะโนทยานติดภารกิจ การให้ข้อมูลจึงตกแก่ คุณธนะศักดิ์ พรมกอง ลูกชายของคุณมะโนทยาน ซึ่งถือว่าเป็นทายาทผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของผู้เป็นพ่อได้อย่างดีเยี่ยม

คุณธนะศักดิ์ บอกว่า หลังจากที่คุณพ่อ นำต้นทุเรียนมาปลูกใหม่ๆ คนทั่วไปยังไม่เชื่อว่าจะมีผลผลิตให้เก็บกินเก็บขาย เนื่องจากมีความเข้าใจว่า ทุเรียนต้องที่ภาคตะวันออกและภาคใต้เท่านั้น ที่ศรีสะเกษก็ยังไม่มีข่าวว่าปลูกได้

เมื่อมีผลผลิต จึงเป็นอันสรุปได้ว่า ทุเรียนปลูกได้แน่แล้ว ที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

รวมระยะที่ทุเรียนลงหลักปักฐาน ที่สวนของคุณมะโนทยานเป็นเวลากว่า 25 ปี

แล้วทำไมไม่ขยายพื้นที่ออกมากๆ

ถึงแม้ทุเรียนปลูกได้ที่ตำบลบุเปือย อำเภอน้ำยืน แต่ราคาทุเรียนเมื่อปี 2540 ไม่สูงอย่างปัจจุบัน คือกิโลกรัมละ 80-100 บาท การขยายจึงมีไม่มาก

ความรู้ความชำนาญ เมื่อเปรียบเทียบกับท้องถิ่นเดิม ชาวสวนที่น้ำยืนยังมือใหม่ การขยายจึงมีไม่มาก

ผลผลิตคุณภาพ

พืชเศรษฐกิจบางชนิดก็ท้าทายเจ้าของให้ทดลองปลูก อย่างปาล์มน้ำมัน ที่ผ่านมาคุณธนะศักดิ์บอกว่า คุณพ่อได้ปลูกปาล์มน้ำมันแซมในสวนทุเรียน เวลาผ่านไปจึงทะยอยตัดออก ซึ่งเป็นเรื่องหนักหนาพอสมควร เพราะกำจัดยากมาก

ยางพาราก็เป็นพืชหนึ่งที่เพื่อนบ้านไม่อยากปลูกทุเรียน เนื่องจากทุเรียนดูแลมากกว่ายางพาราหลายเท่า

 

เทคโนโลยีการผลิตลงตัว

คุณธนะศักดิ์ บอกว่า ที่ผ่านมา ทางครอบครัวไม่ได้ปลูกทุเรียนอย่างเดียว แต่มีกล้วยไข่ และที่ลงทุนลงแรงไปพอสมควรคือปาล์มน้ำมัน

ล่าสุด ครอบครัวนี้โละปาล์มน้ำมันเกือบหมดแล้ว มีทุเรียนอยู่จำนวน 400 ต้น มังคุด 50 ต้น

ทุเรียนที่ให้ผลผลิตเต็มที่ปัจจุบันมีอยู่ 100 ต้น

ต้นที่เก่าแก่สุดอายุ 25 ปี คือปลูกในปี 2535

เรื่องของผลผลิต บางปีมาก บางปีน้อย อย่างเช่นปี 2559 เกิดภาวะแห้งแล้ง แหล่งทุเรียนที่จันทบุรีผลผลิตลด ที่น้ำยืนผลผลิตก็ลดเช่นกัน

ดูแลอย่างดี

“ผลผลิตเคยได้มากหน่อย 9 ตัน แต่ปี 2559 ได้ผลผลิต 3 ตัน ขายกิโลกรัมละ 80 บาท ได้เงินกว่า 2 แสนบาท ปี 2560 ต้นทุเรียนรุ่นแรกๆ ได้รับการดูแลอย่างดี ต้นใหม่ก็ทะยอยให้ผลผลิต ผลผลิตคงได้มากกว่า 20 ตัน ราคาอาจจะสู้ปีก่อนๆ ไม่ได้ เรื่องความรู้เกี่ยวกับทุเรียน คิดว่าอยู่ตัวแล้ว ปลูกมานาน สำหรับมังคุดก็เป็นอีกพืชหนึ่ง ที่ปลูกแล้วให้ผลผลิตอย่างดี พื้นที่ทั้งหมดมี 20 ไร่ อาจจะขยายออกบ้าง ปลูกทุเรียน มังคุด ไม่ทำอย่างอื่นอีกแล้ว” คุณธนะศักดิ์ บอก

ดูแลได้อย่างมืออาชีพ

ความรู้เรื่องการปลูกและดูแลทุเรียน คุณมะโนทยานได้ศึกษาจากตำรา เจ้าหน้าที่เกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอน้ำยืน และจากประสบการณ์ จากนั้นลูกชายคือคุณธนะศักดิ์ สืบทอดต่อ ถือว่าปัจจุบันผลผลิตของที่นี่สวยงามได้คุณภาพ

“ของเราเคร่งครัดมากเรื่องการตัดทุเรียน จึงไม่มีปัญหาเรื่องทุเรียนอ่อน คือนับจากหลังดอกบาน ของเราทุเรียนหมอนทอง หลังดอกบาน 120 วัน จึงเก็บเกี่ยวผลผลิต” คุณธนะศักดิ์ บอก

จากนั้นทำอะไรต่อ

นี่อายุ 6-7 ปี

เจ้าของบอกว่า ที่นี่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จช่วงเดือนมิถุนายน จากนั้นจะตัดแต่งกิ่ง พร้อมกับใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวน 2 กิโลกรัม ต่อต้น สำหรับต้นที่ขนาดใหญ่ ต้นเล็กเพิ่งให้ผลผลิตก็ลดจำนวนลง เจ้าของจะใส่ปุ๋ยสูตรเสมอให้ถึงเดือนสิงหาคม (ใส่เดือนละครั้ง)

ปุ๋ยคอกใส่ขี้วัวแห้งให้ 1-2 กระสอบปุ๋ย ต่อต้น

หลังใส่ปุ๋ยมักมีฝนตก จึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำแต่อย่างใด

ระหว่างนี้ต้นทุเรียนจะแตกใบอ่อนออกมา ต้องหมั่นสำรวจว่า ถูกหนอนทำลายหรือเพลี้ยไปเล่นงานหรือไม่ หากมีควรป้องกันกำจัด หากใบไม่ดีมีผลต่อการออกดอกติดผลด้วย

เดือนตุลาคมและพฤศจิกายน เจ้าของใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ให้เดือนละครั้ง (ครั้งละ 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น แล้วแต่อายุ) เพื่อเตรียมต้นสำหรับการออกดอก

ช่วงหนาวศัตรูอย่างหนึ่งที่ควรระวังคือไรแดง จะทำลายใบแก่ หากใบแก่มีน้อย มีผลต่อผลผลิตบนต้นเช่นกัน คือมีใบปรุงอาหารน้อย ทำให้ผลผลิตไม่สมบูรณ์ พลอยจะทำให้แตกใบอ่อนและผลขนาดเล็กอาจร่วงหล่นได้

ปลายฝนชนหนาว เจ้าของงดให้น้ำ จนกระทั่งเดือนธันวาคม ทุเรียนจะผลิดอกออกมา เป็นระยะไข่ปลา เจ้าของจึงให้น้ำเบาๆ 2-3 วันครั้ง นานครั้งละ 30 นาที ต่อมาเมื่อดอกพัฒนา จึงเพิ่มเวลาให้น้ำนานขึ้น

สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรประสบปัญหา คือทุเรียนแตกใบอ่อน ทำให้ผลขนาดเล็กร่วง คุณธนะศักดิ์บอกว่า ที่สวนไม่มีปัญหา ซึ่งแก้ไขโดยการให้น้ำสม่ำเสมอ รวมทั้งให้ปุ๋ยจนต้นทุเรียนชิน

ต้นนี้ 80 ผล ต่อต้น ต่อปี

“ลูกขนาดเท่าไข่เป็ด ใส่ปุ๋ยปรับปรุงคุณภาพผลสูตร 13-13-21 ใส่ให้ 10 วันครั้งหนึ่ง จำนวนต่อต้นไม่มากนัก เป็นการทำให้ต้นไม้ชิน เรียกว่าการอ่อยปุ๋ย เมื่อต้นไม้ชินเรื่องปริมาณน้ำคือให้ต่อเนื่องกับให้ปุ๋ย ปัญหาต้นสลัดลูกทิ้งจึงไม่มี” คุณธนะศักดิ์ บอก

คุณเพ็ญนภา ภรรยาของคุณธนะศักดิ์ สะใภ้ของตระกูลพรมกอง เป็นผู้ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับสามี พูดถึงการปลูกทุเรียนว่า การปลูกทุเรียนยากตรงที่เกิดโรครากและโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อรา จึงต้องหมั่นดูแล หากไม่ดูแลใกล้ชิด เมื่อรู้ต้นทุเรียนเป็นโรคก็ตายเสียแล้ว

“ส่วนใหญ่ปลูกพันธุ์หมอนทอง มีพวงมณีและนกกระจิบบ้าง ต้นทุเรียนมีหลายรุ่น อย่างต้นที่อายุมากสุดให้ผลผลิต 80 ผล ต่อต้น ต่อปี เฉลี่ยผลหนึ่งหนัก 3.5 กิโลกรัม ต้นที่อายุน้อยก็ให้ผลผลิตน้อยตามอายุ สวนเราเป็นสวนขนาดใหญ่ของที่น้ำยืนนี่ค่ะ จุดเด่นของทุเรียนที่นี่รสชาติดี คนซื้อไปกินแล้วติดใจ” คุณเพ็ญนภา บอก

ที่สวนแห่งนี้ใช้น้ำใต้ดิน โดยขุดลงไปแล้วฝังวงบ่อ เป็นวงบ่อที่นิยมใช้ปลูกมะนาว

ช่วงที่ผ่านมาไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำแต่อย่างใด

เป็นที่เลื่องลือว่า ผลผลิตทุเรียนที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี คุณภาพดี รสชาติอร่อย ผลผลิตส่วนใหญ่มาไม่ถึงเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ คนท้องถิ่นรุมซื้อกัน แต่หากสนใจ สอบถามกันเป็นกรณีพิเศษได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ (080) 166-3156 นิตยสารปักษ์นี้ออก ยังพอมีผลผลิต