งานวิจัยไม่ขึ้นหิ้ง ‘น้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่’ รอเจรจาภาคเอกชน ต่อยอดทางธุรกิจ

ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม ดำเนินการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวจากเทคโนโลยี”ต้นน้ำ-สู่-ปลายน้ำ”ทำให้เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ดี มาตั้งแต่ปี 2548

ปัจจุบัน ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้มีผลิตภัณฑ์จากข้าวหลากหลายรูปแบบ เพื่อฉีกตลาดออกไป  ไม่ว่าจะเป็น ข้าวไรซ์เบอร์รี่บรรจุถุง  ข้าวไรซ์เบอร์รี่อบกรอบ เครื่องดื่มน้ำข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวหอมนิล จมูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ เส้นขนมจีนข้าวไรซ์เบอร์รี่  ทองม้วนข้าวไรซ์เบอร์รี่ และมินิเบอร์เกอร์จากข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งการแปรรูปข้าวกล้องพันธุ์ดี รวมถึงการพัฒนาข้าวกล้องไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หน่วยงานราชการ อย่าง กรมการค้าต่างประเทศ โดยคุณดวงพร  รอดพยาธิ์ อธิบดี ให้ความสนใจและสนับสนุน เพื่อยกระดับรายได้ของพี่น้องเกษตรกรไทย

คุณญานทัศน์ แสงปาก

คุณญานทัศน์ แสงปาก ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว เผยว่า ข้าวไรซ์เบอร์รี่ได้รับการตอบรับดีมากจากผู้บริโภค ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ผลิต ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ออกมาเพื่อฉีกตลาด รวมทั้งแสดงให้เห็นว่า ข้าวกล้องไทย สามารถแปรรูปออกมาได้อีกมากมาย อย่างไม่มีข้อจำกัด เพียงแต่ต้องใส่เทคโนโลยีทางด้านการอาหารเข้าไป

และจากจุดเริ่มต้นที่ทำแครกเกอร์ ทองม้วน จมูกข้าว และอีกหลายชนิดจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ ทางคณะผู้วิจัย ก็มองว่า น่าจะมีเครื่องดื่มด้วย

หากเป็นเครื่องดื่มจาก ข้าว หลายคนก็นึกถึงรสชาติเฝื่อนๆ จืดๆ หากแต่น้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่อุดมไปด้วยแอนโทไซยานิน ที่มีอยู่มากในพืชผักสีม่วง สีแดง เป็นสารที่ต้านอนุมูลอิสระเป็นอย่างดี กลับผลิตออกมาได้รสชาติดี หอม อร่อย โดยมีส่วนผสมของน้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่ น้ำมะนาว น้ำผึ้ง และเมล็ดแมงลัก ก้นขวด เรียกว่า รสชาติอร่อย จนคาดไม่ถึง จากที่เคยดื่มน้ำเพื่อสุขภาพทั่วไป

คุณญานทัศน์ บอกอีกว่า ปัจจุบัน ผลิตตามออเดอร์ เช่น 500-1000 ขวด สามารถเก็บได้ 1 เดือน ด้วยการฆ่าเชื้อระบบหม้อนึ่งความดัน  ราคาขวดละ  35 บาท  ซึ่งผู้ประกอบการรายใด สนใจสนใจเพื่อต่อยอดทางการตลาด  สามารถเข้าไปเจรจาได้

ติดต่อได้ที่ บริษัทพุดสามสี จำกัด 45/152 หมู่ 11 ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี  12120