“กะลาดูดี” หัตถกรรมเครื่องประดับกะลามะพร้าว OTOP การบินไทย

ผู้เขียนรู้จักกับ ป้าหน่อย หรือ คุณยุพาพร ว่องวิกย์การ ผ่านการแนะนำของป้าชิ้นที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันย่านโชคชัย 4 ตั้งแต่ก่อนปีน้ำท่วมใหญ่ ป้าสองคนเป็นเพื่อนสนิทกัน ป้าหน่อยมีบ้านอยู่เชียงใหม่ มีอาชีพอิสระด้วยการประดิษฐ์เครื่องประดับจากกะลามะพร้าว มาตั้งแต่ปี 2545 เพราะมองเห็นเสน่ห์ความสวยงามของกะลามะพร้าวผ่านงานประดิษฐ์สร้อยคอและเครื่องรางของชาวบ้านอันเกิดจากภูมิปัญญาเก่าแก่จนนำไปสู่การประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับอย่างสร้อยคอ หรือสร้อยข้อมือ แล้วนำไปขายที่ตลาดคนเดินในจังหวัดเชียงใหม่ กับอีกหลายแห่ง

ทุกครั้งที่ป้าหน่อยนำสินค้ามาขายตามงานแสดงในกรุงเทพฯ มักจะแวะมาเยี่ยมเยียนป้าชิ้น พร้อมกับติดงานบางประเภทมาให้ทำด้วย ดังนั้น การแนะนำให้รู้จักกับป้าหน่อยในคราวนั้นจึงทำให้ได้มีโอกาสนำเรื่องราวงานหัตถกรรมสวยๆ จากกะลามะพร้าวมาตีพิมพ์ลงในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน

เวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี งานหัตถกรรมจากกะลามะพร้าวของป้าหน่อยถือว่าได้พัฒนาการความก้าวหน้าไปมาก จากเดิมที่เคยประดิษฐ์เครื่องประดับเพียง 10 กว่าชนิด แต่ขณะนี้มีจำนวนแบบมากกว่า 100 ชนิด จนเป็นที่รู้จักอย่างดี ในชื่อแบรนด์ “กะลาดูดี” พร้อมกับมีดีกรียกให้เป็นสินค้าหัตถกรรมเกรดพรีเมี่ยม OTOP เพื่อนำไปขายบนเครื่องของการบินไทย และได้รับความสนใจตอบรับจากชาวต่างประเทศสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก

ป้าหน่อย หรือคุณยุพาพร ว่องวิกย์การ

ผลงานและความสำเร็จจากงานหัตถกรรมกะลามะพร้าวของป้าหน่อย เกิดมาจากความใส่ใจในรายละเอียด ความพิถีพิถัน รวมถึงการทุ่มเทในทุกกระบวนการประดิษฐ์ที่ล้วนแต่ต้องใช้มือทำ งานชิ้นใดที่พบว่ามีตำหนิไม่เรียบร้อยจะไม่ปล่อยผ่าน แต่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนใหม่จนแน่ใจว่าได้คุณภาพจริง

ขณะเดียวกันงานทุกชิ้นได้ผ่านการออกแบบด้วยตัวเอง เป็นการผสมผสานระหว่างกะลามะพร้าวกับวัสดุอื่นอย่างกลมกลืน จึงทำให้มีรูปแบบที่สวยงาม คลาสสิก ดูมีคุณค่า เหมาะกับการสวมใส่ได้ทุกยุคสมัย และทุกวัย

ป้าหน่อย บอกว่า ถ้าจะแยกเครื่องประดับที่ผลิตจากกะลามะพร้าวออกเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ กลุ่มสร้อยคอ มีจำนวน 100 กว่าแบบ, กลุ่มเข็มขัด มีจำนวนกว่า 20 แบบ และกลุ่มสร้อยข้อมือ มีจำนวนกว่า 50 แบบ

ทำจากกะลามะพร้าวและหินคาเนเลียน ใช้มะพร้าวแก่ กะลาจึงมีสีน้ำตาลเข้ม
สร้อยรอบคอ 2 ชั้น ทำจากมะพร้าวทึนทึกทั้งหมดจึงมีลวดลายสวยคลาสสิคมาก

ผลิตเครื่องประดับให้สวย ต้องเลือกชนิดมะพร้าว

สำหรับมะพร้าวซึ่งถือเป็นวัสดุหลักสำคัญที่นำมาแปรรูปเพื่อใช้ผลิตเป็นงานหัตถกรรมจะต้องใช้ความละเอียดในการคัดเลือกเพื่อให้งานที่ผลิตออกมามีความสวยตรงตามแบบที่กำหนดไว้ ดังนั้น กะลามะพร้าวที่นำมาใช้จึงมีด้วยกัน 3 ประเภท คือ

  1. มะพร้าวแก่ ที่ให้สีในโทนน้ำตาลเข้ม
  2. มะพร้าวอ่อน จะให้โทนสีขาวนวล

และ 3. มะพร้าวปานกลาง จะให้โทนสีที่พอเหมาะ ไม่เข้ม และไม่อ่อนจนเกินไป แล้วยังเป็นมะพร้าวที่มีลายสวยงามด้วย

ป้าหน่อย บอกว่า การประดิษฐ์หัตถกรรมจากกะลามะพร้าว ช่วยสร้างงานให้ชาวบ้านในชุมชนเกิดอาชีพด้านต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด ถือเป็นการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามความสามารถไม่ว่าจะเป็นการหากะลามะพร้าว การผลิตชิ้นส่วนประกอบแต่ละอย่าง หรือการนำชิ้นส่วนแต่ละอย่างมาประกอบเป็นชิ้นงาน ฯลฯ

สร้อยกะลาผสมหินอเมธิสทำจากมะพร้าวแก่และหินอเมธิสสีม่วง ตรงกลางดอกเป็นหินอาเกท

“ตัวเราเพียงออกแบบหรือมีตัวอย่างแล้วส่งให้กลุ่มชาวบ้านที่รับงานไปผลิตตามแบบและจำนวนที่ต้องการเท่านั้น ซึ่งงานทุกชิ้น ส่วนประกอบทุกตัวล้วนเกิดจากการใช้มือทำทั้งสิ้น อาจมีเพียงสว่านไฟฟ้าเท่านั้นที่เป็นเครื่องมือ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วทันกับเวลา”

สร้อย 3 ชั้น ทำจากกะลาแก่ ใส่ ลูกปัดแก้วและหินคริสโซคอลลา

ในส่วนงานประกอบชิ้นส่วนนั้น ป้าหน่อยจะพิจารณาดูจากความสามารถ ทักษะ ฝีมือของชาวบ้านเป็นรายบุคคลเพราะมีศักยภาพต่างกัน ดังนั้น หากคนใดมีความสามารถ มีฝีมือดีเยี่ยมจนไว้ใจได้ก็จะได้รับผิดชอบผลิตชิ้นงานจนเสร็จ แล้วจะได้รับค่าตอบแทนในราคาหนึ่ง

แต่ถ้าคนใดขาดความสามารถหรือมีทักษะเพียงบางอย่าง ป้าหน่อยก็มักจะมอบหมายให้รับผิดชอบทำเฉพาะแต่ละชิ้นส่วนเท่านั้น แล้วจะได้รับค่าตอบแทนที่ต่างกันตามความสามารถ สำหรับชิ้นงานบางประเภทที่มีความละเอียดแล้วประณีตขั้นสูงสุด อย่างงานเข็มขัดกะลามะพร้าว ป้าหน่อยจะส่งมาให้ป้าชิ้นที่กรุงเทพฯ ในวัย 85 ปี ทำเพียงคนเดียว

ออกแบบเอง มีทั้งกะลามะพร้าว วัสดุอื่นผสม สวยงาม มีคุณค่า

ผลงานทุกชิ้นที่นำออกขายล้วนถูกออกแบบจากความคิดสร้างสรรค์ของป้าหน่อย โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งตำรา หรือไปศึกษาเล่าเรียน เพราะมาจากความสามารถเฉพาะตัวด้วยการสังเกตจากสิ่งรอบข้างบ้าง เดินทางไปเห็นงานศิลปะจากสถานที่ต่างๆ แล้วจดจำมาบ้าง จากนั้นค่อยๆ สะสมสิ่งเหล่านั้น จินตนาการออกมาเป็นผลงานที่สวยงามมีคุณค่าทุกชิ้น

ป้าหน่อยชี้ว่า การออกแบบชิ้นงานแต่ละชนิดนอกจากจะใช้กะลามะพร้าวอย่างเดียวแล้วคงต้องนำวัสดุชนิดอื่นมาเป็นส่วนประกอบตกแต่งร่วมกับกะลามะพร้าวด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการผสมผสานให้มีความสวยงาม อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่า แล้วในตอนนี้ที่ได้รับความนิยมคือพวกหิน คริสตัล และหยก

“สินค้าที่ลูกค้าชอบมากคือสร้อยกะลาถักผสมหินคาเมเลี่ยน ที่อยู่ในหนังสือบนเครื่องของการบินไทย เป็นงานที่มีความโดดเด่น มีความละเอียด ประณีต ผ่านการออกแบบได้อย่างลงตัวจนเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างประเทศ เพราะพวกเขามองว่าเป็นความน่าทึ่งที่สามารถนำกะลามะพร้าวมาผลิตเป็นเครื่องประดับได้อย่างสวยงาม ฝีมือประณีตมากด้วยการใช้มืออย่างเดียว อีกทั้งยังมองว่าสินค้าประเภทนี้หาได้ยาก ดังนั้น เมื่อนำไปโชว์บนเครื่องของการบินไทย จึงมีการสั่งซื้อตลอดเวลา”

ยังมีสร้อยในแบบแฟชั่นสมัยด้วย

เปิดตลาดขายตรงและออนไลน์

ตลาดขายเครื่องประดับกะลามะพร้าวของป้าหน่อยส่วนใหญ่จะอยู่ตามงานแสดงสินค้าสำคัญต่างๆ ที่จัดหลายแห่งทั่วประเทศ ตลอดทั้งปี นอกจากนั้นขายตามออนไลน์ รวมถึงรับผลิตตามออเดอร์ด้วย

ป้าหน่อย บอกว่า สินค้าทุกชิ้นขายดีเหมือนกันหมด ขึ้นอยู่กับความชอบ และรสนิยมของลูกค้า โดยกลุ่มลูกค้าของป้าหน่อยมีทุกวัย ทั้งวัยรุ่น กลางคน และสูงวัย เพราะได้ออกแบบไว้ตอบโจทย์กับลูกค้าทุกระดับอยู่แล้ว ยิ่งใช้กะลามะพร้าวเป็นวัสดุหลักในการผลิตทำให้มีความสวยที่โดดเด่นแล้วมักไม่มองข้าม

ทางด้านราคาขายสินค้าแต่ละชนิดป้าหน่อยบอกว่า คงไม่มีสูตรคำนวณตายตัว เพราะเป็นงานของตัวเอง การกำหนดราคาสินค้าขึ้นกับตัวแปรต่างๆ เช่น ใช้วัสดุอะไร, ความยาก-ง่าย ของสินค้า, อัตราค่าจ้างแรงงาน แล้วที่สำคัญขึ้นอยู่กับความเหนื่อยเป็นหลัก

เข็มขัดกะลาผลงานของป้าชิ้น

ป้าหน่อย บอกว่า มะพร้าวเป็นพืชที่มีความสำคัญไม่เพียงแค่การบริโภค แต่ทุกส่วนของต้นมะพร้าวมีประโยชน์ต่อมนุษย์ในด้านการทำเครื่องใช้ ยิ่งในสมัยโบราณชาวบ้านนำกะลามะพร้าวมาผลิตเป็นของใช้ในครัวเรือน เพราะมีความทนทาน มีน้ำหนักเบา แล้วไม่เกิดอันตรายด้วย ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป มนุษย์ที่มีความคิดสร้างสรรค์จึงนำกะลามะพร้าวมาผลิตเป็นเครื่องประดับเพื่อสร้างมูลค่า จึงเห็นว่ามะพร้าวเกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อวิถีชีวิตมนุษย์

บริเวณหน่้าบู๊ทงาน OTOP ที่เมืองทอง

“อยากให้คนไทยมาช่วยกันใช้สินค้าไทย โดยเฉพาะเป็นสินค้าที่มีจุดกำเนิดมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่แสดงถึงรากเหง้าอย่างแท้จริง พอตกมาถึงคนรุ่นต่างๆ ได้มีการสืบทอดติดต่อกันมา เพราะผลงานทุกชิ้นผ่านการผลิตที่มาจากความทุ่มเท ใช้ความพิถีพิถัน มีความอดทน จึงถือเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครในโลก ฉะนั้นเพียงแค่ช่วยกันมาอุดหนุนเพื่อให้เกิดการต่อยอดก็ถือว่าคุณได้ช่วยกันอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่าไว้แล้ว” ป้าหน่อย กล่าวทิ้งท้าย

ป้าหน่อย ในวัยอายุ 68 ปี ต้องเดินทางด้วยการขับรถเพียงลำพัง ขึ้น-ล่อง จากเชียงใหม่เข้ากรุงเทพฯ ทุกครั้งเพื่อนำสินค้าหัตถกรรมเครื่องประดับจากกะลามะพร้าวอันมีค่ามาขาย และทำเช่นนี้มาเป็นเวลากว่า 20 ปี เธอบอกว่าความนิยมในสินค้าที่ผลิตจากกะลามะพร้าวในการทำเป็นเครื่องประดับไม่เคยลดลงเลย แล้วยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย

สนใจสั่งซื้อเครื่องประดับจากกะลามะพร้าวที่ผลิตด้วยมือล้วน แบรนด์ “กะลาดูดี” ติดต่อได้ที่ ป้าหน่อย หรือ คุณยุพาพร ว่องวิกย์การ โทรศัพท์ (081) 951-1135 เฟชบุ๊ซ และไลน์ Kaladoodee