ปลูกมะกรูดพวง เป็นอาชีพเสริม โกยรายได้ปีละหลายแสน

คุณอำไพ สุขไกรรัตน์ หรือน้าไพ ทำสวนเกษตรแบบผสมผสาน เนื้อที่ 32 ไร่ อยู่บ้านเลขที่ 22/12  หมู่  3 ตำบลหินดาด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี  พื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกไม้ผล เช่น  ปลูกทุเรียน  เงาะ มังคุด ลิ้นจี่ อินผาลัม ส้มโอ ส้มเขียวหวาน เนื่องจากไม้ผลให้ผลผลิตเพียงปีละครั้ง  น้าไพจึงตัดสินใจปลูกมะกรูด  เป็นพืชเสริมรายได้เพราะต้นมะกรูด จะมีผลผลิตออกมาสม่ำเสมอ เป็นสินค้าที่ตลาดต้องการสูง ไม่ต้องเหนื่อย วิ่งหาคนซื้อเหมือนพืชอื่นๆ

  น้าไพ ตัดสินใจปลูก มะกรูดพวง เพราะเป็นมะกรูดพันธุ์ผลใหญ่และติดเป็นพวง ผลมีลักษณะขรุขระมาก และมีจุกที่หัว ใบมีขนาดใหญ่  เกษตรกรจำนวนมาก นิยมปลูกมะกรูดพวง เพื่อผลิตใบและผลขายส่งให้แก่โรงงานน้ำมันหอมระเหย และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้ส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยจากใบและผลมะกรูด เช่น  สบู่ ยาสีฟัน น้ำยาล้างจาน เครื่องสำอาง โรงงานน้ำพริก อุตสาหกรรมยาฯลฯ

การปลูกมะกรูด ควรเลือกสภาพพื้นที่ ที่เป็นแหล่งดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำที่ดี ให้ขุดหลุมลึก ขนาด 50 เซนติเมตร กว้าง 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมและแถวก็ประมาณ 4-5 เมตร  หลังจากนั้นปล่อยดินตากแดดอยู่สัก 1-2 เดือน ก่อนปลูก 15 วัน ให้เอาปุ๋ยคอกใส่ลงไปครึ่งปี๊บ นำกิ่งตอนวางลงหลุม ตั้งให้ตรง กลบดินกดให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม  นอกจากนี้ น้าไพยังปลูก กล้วยน้ำว้าแซมในสวนมะกรูด เพื่อช่วยเป็นร่มเงา และเป็นรายได้เสริมอีกรายหนึ่ง      การดูแลรักษาในสวนมะกรูด  แค่รดน้ำเช้าเย็นเท่านั้นในช่วง 1-2 เดือนแรก เมื่อต้นมะกรูดมีอายุสัก  8 เดือน จึงบำรุงต้นอีกครั้งโดยใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยสูตรเสมอ ใส่รอบๆ บริเวณทรงพุ่ม ให้น้ำเพียงแค่วันละครั้งเดียว เมื่อต้นมะกรูดเติบใหญ่ ขึ้นก็ไม่ต้องให้น้ำ  ใช้น้ำฝนตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว โดยทั่วไปต้นมะกรูดจะเก็บใบขายได้เมื่ออายุ  2  ปี พอต้นมะกรูดอายุได้ 3 ปี จึงจะมีผลเก็บขายได้        ต้นมะกรูดมีปัญหาโรคและแมลงรบกวนน้อย ที่เจออยู่บ้างได้แก่ หนอนชอนใบ ที่มาทำลายทำให้ใบมะกรูดบิดงอ ใบไม่สวย ไม่สามารถตัดส่งขายได้ วิธีป้องกันคือ เด็ดนำไปเผาทำลายให้หมด หรือฉีดสารสกัดจากสะเดา หรือปุ๋ยน้ำหมักที่เกิดจากการหมักพืชสมุนไพรนานาชนิดเช่น  ข่า ตะไคร้ และพริกขี้หนูป่นหมักรวมกันแล้วก็ผสมมาฉีดขับไล่แมลง  เมื่อ ต้นมะกรูดมีอาการดีขึ้นก็ควรตัดแต่งกิ่งที่อยู่ชิดติดกัน หรือกิ่งที่คดงอทิ้ง เพื่อให้มีรูปทรงลำต้นที่ดี  แถมช่วยเพิ่มผลผลิต ที่สำคัญเป็นการกำจัดโรคแมลงได้ดีอีกทางหนึ่ง          น้าไพเล่าว่า   ราคามะกรูดขึ้นลงตามภาวะตลาดในแต่ละช่วงฤดู  สำหรับฤดูฝนมีผลผลิตเข้าตลาดมาก จะขายได้ในราคาถูก แค่ ก.ก.ละ  20-30 บาท ส่วนฤดูแล้ง  จะขายมะกรูดได้ในราคาสูง กว่า  30 บาทต่อก.ก.  ทุกวันนี้น้าไพพึงพอใจกับรายได้จากการขายมะกรูด เพราะไม่ต้องลงทุนมาก ไม่ต้องดูแลใจใส่เป็นพิเศษเหมือนกับพืชชนิดอื่นๆ  และสามารถเก็บผลมะกรูดออกขายได้ทุกๆ  สามเดือน  ทุกวันนี้มีน้าไพมีรายได้จากการขายมะกรูดต่อปี หลายแสนบาททีเดียว