คนรักแมงมุม ยังล้นตลาด บึ้งไทย หนึ่งในยอดนิยม ราคาเริ่มจากหลักร้อยถึงหลักหมื่น

ตลาดซื้อขายสัตว์เลี้ยง ไม่ได้มีเฉพาะตลาดนัดจตุจักร ตลาดนัดสนามหลวง 2 หรือแม้กระทั่งตลาดนัดขายต้นไม้และสัตว์เลี้ยงที่ตั้งอยู่ตามชานเมืองมากมาย ก็ไม่ได้เป็นจุดศูนย์กลางของสัตว์เลี้ยงทุกชนิด เพราะบางชนิดเป็นสัตว์เลี้ยงเฉพาะที่มีความพิเศษ หรือที่เรียกว่า เอ็กโซติก เพ็ด (Exotic Pets) ซึ่งผู้เลี้ยงบางคนเข้าใจผิดว่า เป็นสัตว์ต้องห้าม หรือเลี้ยงแล้วมีความผิด แท้จริงแล้ว เป็นเพียงสัตว์เลี้ยงที่มีความเฉพาะในตัวของสัตว์เลี้ยงเองเท่านั้น ถึงกับเคยมีผู้กล่าวไว้ ว่า เอ็กโซติก เพ็ด เปรียบเสมือนสัตว์แปลกที่ไม่ใช่สัตว์ป่า

ความสวยงามของสัตว์เลี้ยงแต่ละชนิด ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้เลี้ยง ซึ่งผู้เลี้ยงเท่านั้นที่จะบอกได้ว่า ความสวยงามของสัตว์เลี้ยงของเขาอยู่ตรงไหน

เช่น คุณชฎายุ ใจโลกา หรือ คุณเจมส์ เป็นอีกหนึ่งคนที่เลี้ยงแมงมุมทารันทูลา หรือในประเทศไทย เรียกว่า “บึ้ง” ไว้หลายสิบตัว เพราะกลัวแมงมุม

คุณชฎายุ ใจโลกา หรือ คุณเจมส์

อาจมีข้อสงสัย ทำไมกลัวแล้วต้องเลี้ยง คุณชฎายุ บอกว่า ต้องเลี้ยง เพื่อให้หายกลัว

เป็นเหตุผลที่น่ารับฟัง จากการนำมาเลี้ยงเพื่อให้หายกลัว ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้ปัจจุบันคุณชฎายุ ไม่กลัวแมงมุม และเพาะแมงมุมจำหน่ายสร้างรายได้ โดยเริ่มจากการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับแมงมุมทารันทูลา และบึ้งไทย และพบว่าแมงมุมเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ในยุคโบราณ ที่มีวิวัฒนาการมานานกว่า 350 ล้านปีมาแล้ว แต่ยังอาศัยอยู่และพบได้ในปัจจุบัน แม้ว่าจะลดจำนวนลงจนไม่พบได้ทั่วไป แต่ก็ยังสามารถพบได้ในจุดที่มนุษย์เข้าถึงได้น้อย ประกอบกับความสวยงามที่มากับลักษณะของแมงมุมชนิดต่างๆ ยิ่งทำให้คุณชฎายุ อยากใกล้ชิดแมงมุทารันทูลาและบึ้งไทยให้มากกว่านี้

แมงมุมทารันทูลาคู่แรก ที่คุณชฎายุซื้อมาเลี้ยงเป็นเพศเมียทั้งคู่ เพราะเริ่มจากความคิดเลี้ยงไว้ดูเล่น แต่เกิดความผิดพลาดที่มาของแหล่งซื้อ ทำให้ได้เพศเมียเหมือนกัน เมื่อเริ่มเลี้ยงก็ยิ่งเริ่มเห็นความสวยงาม จึงอดไม่ได้ต้องหาซื้อเพิ่มอีก และมีแนวคิดว่า หากผสมกันได้ลูกแมงมุมทารันทูลา ก็จะได้แมงมุมทารันทูลาที่มีสีสันสวยงามแปลกตาไปกว่าที่เคยมี และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเพาะขยายพันธุ์เพื่อจำหน่าย และเริ่มเก็บสะสมแมงมุมทารันทูลาแต่ละชนิด เริ่มสนุก เริ่มชอบ เริ่มรัก กระทั่งมีหลายสิบตัวให้ได้เก็บสะสมและเพาะขยายพันธุ์สำหรับขาย

“ผมเข้ากลุ่มคนรักแมงมุมในเว็บไซต์ มีคนจำนวนมากที่สนใจและเลี้ยงแมงมุมทารันทูลา จากต่างประเทศ รวมถึงบึ้งไทย ส่วนใหญ่เลี้ยงเล่น ไม่ได้เพาะขายจริงจัง แต่ถ้าใครที่เพาะแมงมุมได้ก็จะนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในกลุ่ม ทำให้พื้นที่นี้นอกจากเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงแมงมุมแล้ว ยังเป็นพื้นที่ซื้อขายแมงมุมด้วย”

คุณชฎายุ บอกว่า การเลี้ยงแมงมุม ต้องเริ่มจากความชอบเป็นอันดับแรก จากนั้นก็เพียงแต่ให้เวลาและใส่ใจรายละเอียด แมงมุมเป็นสัตว์สันโดด ถ้าผู้เลี้ยงเข้าใจการเลี้ยงแมงมุมก็จะไม่เกิดปัญหาใดๆ

แมงมุมเพศเมีย มีอายุระหว่าง 20-30 ปี ส่วนเพศผู้มีอายุ 2-3 ปี

แมงมุมเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ ระยะเวลาการลอกคราบในแมงมุมเด็กจะลอกคราบ 1 สัปดาห์ ต่อครั้ง จากนั้นจะเพิ่มระยะเวลาต่อรอบของการลอกคราบห่างออกไปเรื่อยๆ ในแมงมุมตัวเต็มวัย อาจทิ้งระยะห่างของการลอกคราบนานถึง 2 ปี ต่อครั้ง

การผสมพันธุ์ สำหรับคุณชฎายุ ไม่ได้นับอายุโดยละเอียด แต่ประมาณคร่าวๆ ว่า ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 2 ปี และสังเกตจากรูปร่างของแมงมุมว่าเหมาะสมและพร้อมผสมพันธุ์หรือไม่ ในเพศผู้ สังเกตว่ามีนวมหรือขาคู่หน้าสุดแล้ว ส่วนเพศเมียดูที่ขนาดหรืออายุ อย่างใดอย่างหนึ่ง

การนำแมงมุมมาผสมพันธุ์กัน ผู้เลี้ยงต้องมีเวลามากพอสำหรับการสังเกต เพราะธรรมชาติของแมงมุมจะไม่อยู่รวมกัน หากอยู่รวมกันโอกาสกัดกันหรือกินกันเองมีสูง ดังนั้น เมื่อนำเพศผู้ใส่รวมไปกับเพศเมียที่ต้องการให้ผสม เพศผู้จะมีพฤติกรรมการเคาะพื้นจากขา หากเพศเมียยินดีหรือตอบรับจะเคาะขาตอบ แสดงว่าการผสมพันธุ์สามารถทำได้ ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

golden knee สวยๆ

ธรรมชาติของแมงมุม จะตั้งตัวตรงหันหน้าเข้าหากัน เพศผู้จะทำสเปิร์มไว้ (เก็บสะสมสเปิร์ม) จากนั้นจะนำไปแหย่เข้าที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศเมีย ซึ่งอยู่บริเวณกระดองกับก้น จากนั้นเมื่อเพศผู้ดึงออกถือเป็นการจบกระบวนการผสมพันธุ์ และธรรมชาติของแมงมุม หลังผสมพันธุ์เสร็จแมงมุมเพศเมียจะกินแมงมุมเพศผู้ ยกเว้นแมงมุมเพศผู้ไหวตัวทันจะวิ่งหนีออกจากบริเวณนั้น ก็จะรอดชีวิต ซึ่งหน้าที่ของผู้เลี้ยง หากต้องการเก็บแมงมุมเพศผู้ไว้เป็นพ่อพันธุ์อีก ก็ควรนำออกจากบริเวณนั้นทันที เพื่อป้องกันการสูญเสีย

หลังจากผสมพันธุ์แมงมุมแล้ว แมงมุมเพศเมียจะขุดโพรงวางไข่ ระหว่างการวางไข่ถึงระยะฟักเป็นตัวแมงมุม ประมาณ 6 เดือน ระหว่างนี้ห้ามเข้าไปยุ่ง เพราะแมงมุมอาจกินลูกตัวเอง จำนวนลูกแมงมุมที่ได้จากการผสมพันธุ์ต่อครั้ง 100-300 ตัว แต่อัตราการรอดของลูกแมงมุมจนโต สามารถแยกออกจากแม่แมงมุมได้ราวครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด และเมื่อลูกแมงมุมเริ่มลอกคราบครั้งแรก ก็ควรแยกลูกแมงมุมออกจากกัน ไม่ควรเลี้ยงรวมกัน เพราะอาจทำให้ลูกแมงมุมกินกันเอง

แมงมุมเป็นสัตว์ที่กินอาหารน้อย และอดอาหารได้นาน อาหารของแมงมุมคือจิ้งหรีดฝอยและหนอนนก ในแมงมุมตัวใหญ่กินจิ้งหรีดฝอยเพียง 1 ตัว ต่อเดือน ส่วนน้ำ ควรหยดน้ำใส่ดินให้มีความชื้น แมงมุมจะใช้อวัยวะบริเวณปากเจาะดินลงไปแล้วดูดน้ำขึ้นมากิน หรือนำถาดตื้นขนาดเล็ก ใส่น้ำไว้ ในบางครั้งใช้ฝาขวดน้ำทั่วไปใส่น้ำวางไว้ก็ได้ ทั้งนี้ ไม่ควรใส่น้ำในภาชนะขนาดใหญ่ไว้ เพราะจะทำให้แมงมุมจมน้ำตาย เนื่องจากแมงมุมมีจมูกบริเวณใต้ท้อง

“ในแมงมุมตัวเล็ก อาหารที่ให้ควรตัดหัวออก เพราะการกินอาหารในแมงมุมจะใช้วิธีดูดน้ำเลี้ยงในร่างกายสัตว์ชนิดนั้น ไม่ได้กัดกินเนื้อทั้งหมด จากนั้นจะทิ้งซากแห้งไว้ ผู้เลี้ยงควรหมั่นสังเกต หลังการกินของแมงมุมควรนำซากอาหารที่เหลือออกจากรัง หากทิ้งไว้โอกาสเกิดแมลงหวี่และแมลงอื่นที่เข้ามากินซากสูง และแมลงเหล่านั้นจะวางไข่ในรังของแมงมุม เมื่อเจริญเติบโตเป็นแมลงปีกแข็ง ซึ่งแมงมุมกินแมลงปีกแข็งไม่ได้ แมลงปีกแข็งเหล่านั้นก็จะกินแมงมุมตาย”

ภายในกล่องเลี้ยง แมงมุมไม่ต้องการอุปกรณ์อะไรมาก

ภายในรังเลี้ยง ไม่จำเป็นต้องใช้กล่องเลี้ยงขนาดใหญ่ เพราะแมงมุมไม่ได้ต้องการพื้นที่มากนัก ขึ้นกับชนิดของแมงมุม หากเป็นแมงมุมต้นไม้ กล่องเลี้ยงควรเป็นกล่องทรงสูง ตั้งขึ้น และควรมีขอนไม้ให้แมงมุมได้ชักใยตามพฤติกรรมของชนิดแมงมุม ส่วนแมงมุมดิน ควรมีพื้นดินให้สูงจากพื้นกล่องประมาณ 1-2 นิ้ว สำหรับให้แมงมุมขุดโพรงเข้าไปหลบ และควรเปลี่ยนดินให้กับแมงมุมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ต่อครั้ง

คุณชฎายุ บอกว่า แมงมุมเป็นสัตว์ที่เลี้ยงไม่ยาก การดูแลแม้จะไม่จำเป็นต้องดูแลทุกวัน แต่การดูแลแต่ละครั้งก็ต้องให้เวลาเต็มที่ เพราะแมงมุมอาศัยอยู่กล่องเลี้ยงละ 1 ตัว หากเลี้ยงจำนวนมาก ก็ต้องใช้เวลาจัดการมากเช่นกัน ดังนั้น ผู้เลี้ยงควรพิจารณาให้ดีก่อน

Brazilian Red & White เป็นพันธุ์ที่มีลายสวย และชอบโชว์ตัว เหมาะเลี้ยงตู้โชว์

คุณชฎายุ เพาะแมงมุมขายมานานเกือบ 4 ปีแล้ว ระยะหลังงดเว้นการเพาะไปนาน เนื่องจากความต้องการแมงมุมส่วนใหญ่เป็นแมงมุมทารันทูลาที่หายาก เพาะได้น้อยในประเทศไทย ทำให้การสั่งจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายตามออเดอร์ หรือตามความต้องการของตลาดเป็นการจำหน่ายที่ราบรื่นกว่า รวมถึงบึ้งไทย ที่ยังคงมีตามท้องนาในต่างจังหวัด ก็ยังเป็นที่ต้องการของคนรักแมงมุมจำนวนมาก ซึ่งบึ้งไทย มี 3 ชนิดที่ตลาดต้องการ คือ บึ้งดำ บึ้งน้ำเงิน และบึ้งม้าลาย ราคาขายอยู่ที่ 70-300 บาท ต่อตัว ขึ้นกับขนาด

หากจะให้แนะนำสำหรับมือใหม่หัดเลี้ยงแมงมุมทารันทูลา คุณชฎายุ แนะนำให้เลี้ยงพันธุ์โกลเด้นนี (Golden knee) เพราะเป็นแมงมุมที่ไม่จู่โจม มีขนาดใหญ่ ลำตัวสีน้ำตาลออกดำ บริเวณขามีขนออกสีทอง หัวเขาเป็นสีเหลืองทอง

ราคาของแมงมุมทารันทูลา เริ่มจากหลักร้อยถึงหลักหมื่นบาท ขึ้นกับขนาดและชนิด

คุณชฎายุ ทิ้งท้ายให้กับมือใหม่หัดเลี้ยง ควรทำความเข้าใจกับความเชื่อเกี่ยวกับแมงมุมเรื่องพิษของแมงมุม โดยทั่วไปแมงมุมเป็นสัตว์มีพิษ แต่จะก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ในสัตว์ขนาดเล็กหรือขนาดใกล้เคียงกับแมงมุมเท่านั้น สำหรับคน พิษของแมงมุมจะมีผลกับผู้ที่มีอาการแพ้เท่านั้น ในคนปกติทั่วไปจะมีอาการบวมบริเวณที่ถูกกัดเล็กน้อย เพียง 1-2 วัน อาการบวมก็จะหายไป

Orange mouth จุดเด่น เวลากางเขี้ยวจะเห็นสีส้มด้านใน
greenbottleblue ตอนเล็ก
บึ้งไทย

แม้ว่าแมงมุมทารันทูลา และบึ้งไทย จะมีจำหน่ายทั่วไปทั้งในโลกออนไลน์และตลาดนัดสัตว์เลี้ยง แต่คุณชฎายุ ระบุว่า ความต้องการของแมงมุมทารันทูลาและบึ้งไทยก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งสายพันธุ์โกลเด้นนี (Golden knee) ที่เป็นที่นิยมสำหรับมือใหม่ และสั่งนำเข้ามาครั้งละหลายร้อยตัว ก็ยังจำหน่ายหมดในระยะเวลาไม่นาน

สำหรับคุณชฎายุ ไม่มีหน้าร้านจำหน่าย แต่มีเฟซบุ๊กไว้ติดต่อกับลูกค้า คือ เฟซบุ๊ก “ฟาร์มแมงมุมทารันทูล่า” และ “Eagle Chadayu Exoticfromhell” เท่านั้น แต่ก็ยินดีหากใครจะพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงแมงมุม หรือสอบถามเพิ่มเติมทางอินบ๊อก

A.metallica
นี่ก็ greenbottleblue ตอนเล็ก