“โด๊ปม้าน้ำ” เพิ่มสมรรถภาพทางเพศกันหนัก หวั่นสูญพันธุ์ อุทยานเพาะ 100 ตัวเตรียมปล่อยเกาะมุก

ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดทส. เป็นประธานการแถลงเปิดโครงการฟื้นฟูประชากรม้าน้ำในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ โดยมีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง ร่วมในการแถลงข่าว

นายเกษมสันต์ กล่าวว่า ปัจจุบันม้าน้ำเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชีย ซึ่งมีความเชื่อว่าม้าน้ำมีคุณสมบัติเป็นยา จึงนำมาใช้เป็นองค์ประกอบของยาในการรักษาโรคต่างๆ และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ นำมาเป็นเครื่องประดับ พวงกุญแจ และยังมีการนำมาเลี้ยงอีกด้วย ซึ่งเป็นม้าน้ำที่ได้จากธรรมชาติเกือบทั้งหมด ด้วยความต้องการม้าน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความกังวลใจจากหลายประเทศว่าม้าน้ำอาจสูญพันธุ์ได้ ม้าน้ำจึงถูกนำเข้าสู่อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) บัญชี 2 เพื่อควบคุมหรือจำกัดปริมาณการค้าเพื่อไมให้เกิดผลเสียหายต่อการลดจำนวนประชากรม้าน้ำอย่างรวดเร็ว

นายเกษมสันต์ กล่าวว่า ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมประมงพบว่ามีการส่งออกม้าน้ำตั้งแต่ปี 2556 จำนวน 1.2 ตัน ปี 2557 จำนวน 1 ตัน ปี 2558 จำนวน 0.95 ตัน กรมประมงจึงได้มีประกาศ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2558 งดออกใบอนุญาตส่งออกม้าน้ำเป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ปัญหาการส่งออกม้าน้ำของประเทศไทยซึ่งคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตส จัดให้การส่งออกม้าน้ำของประเทศไทยอยู่ในระดับห่วงใยเร่งด่วน ดังนั้นกรมอุทยานฯ และกรมประมง จึงโครงการฟื้นฟูประชากรม้าน้ำในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ โดยจะเชิญรัฐมนตรีทส.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานเลขาธิการไซเตส เอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ ร่วมในการปล่อยม้าน้ำที่กรมประมงได้เพาะพันธุ์ โดยเป็นม้าน้ำดำ จำนวน 100 ตัว ในวันที่ 17 กันยายน นี้ ที่บริเวณหาดหยงลำ และเกาะมุก อุทยานฯ หาดเจ้าไหม จ.ตรัง นอกจากนี้กรมอุทยานฯ ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ และคณะทำงาน ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากสถานศึกษา นักวิชาการทางทะเล และผู้มีความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรใต้ทะเลจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมดำเนินการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรม้ำน้ำในแหล่งอาศัยตามธรรมชาติ รวมทั้งดึงภาคประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานด้วย