ทำเกษตรตามรอยพ่อ ไม่ต้องคิดอะไรมาก ปลูกวันละ 10 ต้น มีผักกินตลอดปี

ตำราเคลื่อนที่ด้านเศรษฐกิจพอเพียง อย่าง คุณสมศักดิ์ เครือวัลย์ ปราชญ์ของแผ่นดิน จังหวัดระยอง หรือเรียกกันว่า ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ในวัย 66 ปี นับเป็นแบบอย่างที่ดีงามสำหรับผู้คนในยุคนี้ ในยุคที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเสด็จสู่สวรรคาลัย เหลือเพียงแต่พระราชปณิธานและพระราชดำริ รวมทั้งพระราชดำรัสอีกจำนวนมาก ให้พสกนิกรชาวไทยได้ปฏิบัติเพื่อความผาสุกและความร่มเย็น ซึ่งผู้ใหญ่สมศักดิ์ได้เดินตามรอยพ่อในทุกมิติ จนประสบความสำเร็จ และมีวันนี้ได้เพราะน้อมนำพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้อย่างจริงจัง ทั้งศึกษาภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้รู้อย่างถ่องแท้

ผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์

เพราะหากนำพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ จะพบว่า “ความรวย” อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม และใครๆ ก็รวยได้ แต่ต้องเริ่มต้นจากตัวเอง โดยผู้ใหญ่สมศักดิ์แนะทางรวยตามวิถีพึ่งพาตนเอง โดยให้เริ่มต้นทำเรื่องของตัวเองก่อน และต้องทำตัวเองให้รอด จึงจะแบ่งปันผู้อื่นได้

“แต่ก่อนจะทำเรื่องของคนอื่น แต่ทำไม่ได้ เพราะเข้าใจไม่ตรงกัน ผลสุดท้ายก็กลับมาทำเรื่องของตัวเอง เอาตัวเองให้รอด พอตัวเองเริ่มรอด แต่กว่าจะรอดก็นาน เพราะมีอะไรต้านเยอะแยะ บางทีทำอะไรที่เราว่าดี คนนั้นเขาว่าไม่ดี บางทีคนที่ว่าไม่ดี เขามีอำนาจ เขามีพลัง จนเราไม่สามารถทำตรงนั้นได้ ผลสุดท้ายก็ถอยออกมา ถอยออกมานอกกรอบมาทำเอง เริ่มจากการพึ่งพาตนเองให้ได้ก่อน มีเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงทรงตรัสไว้ 2 ขั้น คือ 1. ขั้นพื้นฐาน และ 2. ขั้นก้าวหน้า หลักเศรษฐกิจพอเพียงมีเท่านี้ ให้พึ่งพาตนเอง ย้ำว่า อย่าข้ามขั้น ให้เดินทีละก้าว ให้กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง”

ผู้ใหญ่สมศักดิ์อธิบายและบอกต่ออีกว่า

“แต่ส่วนใหญ่จะข้ามขั้น แต่ฉันไม่ข้ามขั้นนะ ฉันทำจนขั้นพื้นฐานสำเร็จ พอขั้นพื้นฐานสำเร็จแล้ว ขั้นก้าวหน้ามาเอง เขารออยู่แล้ว ขั้นก้าวหน้า อยากได้เงิน เงินก็มา อยากได้ทอง ทองก็มา อยากได้เพื่อน เพื่อนก็มา แต่ต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน ขั้นพื้นฐานต้องแน่นก่อน และขั้นพื้นฐานที่ว่า มันมีอะไร เกี่ยวกับดินและน้ำ สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา เริ่มจากสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ อาหาร อยากกินพริกปลูกพริก อยากกินมะเขือก็ปลูกมะเขือ ง่ายจะตาย ไม่ต้องไปคำนึงว่าจะลงทุนเท่าไร”

“บางคนจะลงทุนก็ไปคำนึงว่า ไม่มีทุน มันไม่เกี่ยวกับทุนหรอก มันเกี่ยวกับปัญญา มีปัญญาหรือเปล่า ปัญญากับทุนมันคนละเรื่อง ทุนมันคือสตางค์เป็นหนี้ แต่ใช้ปัญญาไม่เป็นหนี้ พริกเม็ดหนึ่งเพาะได้ตั้งกี่ต้น และพริกเม็ดต้องซื้อไหม ไม่ต้องซื้อหรอก ต้องใจเย็นๆ ทำเรื่องนี้ต้องใจเย็น อย่าใจร้อน ก็ใจร้อนปลูกพริก ได้กินไม่กี่วัน”

“ขั้นตอนง่ายๆ มีนิดเดียว ถ้านึกไม่ออกว่าจะปลูกอะไรก่อน เขามีตำราอยู่ว่า ลองคิดจะปลูกต้นไม้ให้ได้วันละ 10 ต้น วันนี้คิดไม่ออก ปลูกมะพร้าว 10 ต้น พรุ่งนี้คิดไม่ออก ลองปลูกกะเพราสัก 10 ต้น ปลูกตะไคร้ 10 ต้น มะรืนนี้คิดไม่ออก ปลูกพริก 10 ต้น ลองปลูกต้นไม้ให้ได้วันละ 10 ต้น 10 ต้น ปลูกทุกวัน ลองจด แล้ว 3 เดือน ได้กี่ต้น ปลูกต้นไม้ทุกวัน วันละ 10 ต้น 3 เดือน ไม่ต้องขอใครกิน พริกออกแล้ว มะเขือออกแล้ว มีกิน 3 เดือน” ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ถ่ายทอดประสบการณ์จริงจากการน้อมนำพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้จนประสบความสำเร็จ

ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ยังตั้งข้อสังเกตอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับวิธีคิดของคนในประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้การเริ่มต้นเดินหน้าใช้ชีวิต “พอเพียง” เป็นเรื่องยาก เพราะต้องเริ่มจากการปลูกต้นอะไรสักอย่าง ที่อยากปลูก และมีกำลังทำได้ อย่างเช่น พริก ปลูกง่าย แต่ไม่รู้มันปลูกกันไม่ได้ ไม่รู้ด้วยสาเหตุเพราะอะไร

“มีคนบอกไม่ให้ปลูกหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือคนบอกปลูกซะยาก แต่ปลูกง่ายจะตาย ปลูก 3 เดือนทุกๆ วัน เหลือกิน ลองปลูกทุกวัน วันละ 10 ต้นๆ ทุกวัน อย่าหยุดน่ะ ปลูกสัก 6 เดือน เดินไปหิ้วไปไหนถือตะกร้าเต็ม ไม่ต้องไปขาย หิ้วไป มันมีคาถาในหลวงแจกไว้ว่า ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา ลองถือตะกร้าพริก มะเขือ เดินแจกไป ได้อะไรไม่รู้ คนแจกน่ะรู้ เพราะฉะนั้น อยากจะรู้ได้อะไร ลองแจกดู แต่อย่าหยุดปลูกนะ ปลูกทุกวัน วันละ 10 ต้น ครบ 1 ปี เมื่อไร คุณมีที่ 2 ไร่ 3 ไร่ เมื่อไร คุณไม่มีที่ปลูกหรอก”

“เพราะฉะนั้นก็ลองคิดดูว่าจะเลือกเอาพริกเหลือหนึ่งกิโลไปขาย หรือจะเอาพริกหนึ่งกิโลไปแจกเพื่อน แล้วใส่ถุงเพาะ ทั้ง 2 วิธีนี้เป็นปริศนาอยู่ แต่ผมเลือกเพาะ ผมไม่ขาย แจกพริกแล้วเพาะพริก เก็บไว้ทุกวันๆ เชื่อไหมหนึ่งปี มันเก็บพริกขากลับ มันก็ผ่านต้นพริก สตางค์มาเอง น้ำใจคนมันมี ในหลวงตรัสไว้เยอะแยะหมด ถ้าพื้นฐานทำ พื้นฐานเศรษฐกิจก้าวหน้าจะมาเอง” ผู้ใหญ่สมศักดิ์ แนะวิธีเริ่มต้นเป็นเศรษฐี แง่คิดยอดเยี่ยมของผู้ใหญ่

หลักวิธีคิดและวิธีการที่ผู้ใหญ่สมศักดิ์นำมาใช้นั้น เป็นหนึ่งในคาถาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานให้กับประชาชนคนไทยและคนทั่วโลก โดยเน้นว่า ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา ขาดทุนคือกำไร

มาเรียนรู้กับผู้ใหญ่

“นี่เป็นคาถาของในหลวงทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นวันนี้ผมทำพื้นฐานแน่นแล้ว แต่หลังจากพื้นฐานแน่นแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 บอกว่า อย่าลืมเพื่อนที่อยู่ข้างเรา พยายามหามิตรเข้าไว้ วิธีหามิตรคือ การให้ ให้บ่อยๆ จะกลายเป็นบารมี ท้ายที่สุดวันนี้ ถ้าคนเอาตัวรอดแล้ว คนเดินเข้ามาหา ไม่ต้องเดินเข้าไปชวนมาเรียน มาศึกษา ถ้าเราเอาตัวรอด เขาจะเดินเข้ามาเอง แต่ถ้าเราคุยอวดดีเหลือเกิน เอาตัวไม่รอด ไปบังคับคนมาก็ไม่มา ในหลวงรัชกาลที่ 9 เลยตรัสเรื่องการพึ่งตนเอง ต้องพึ่งได้จริง คำว่า พอก็พอแล้ว แต่ต้องพอได้จริง” ผู้ใหญ่สมศักดิ์ บอกเล่าด้วยความอิ่มใจ

ฉะนั้น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากจะทำให้เป็นคนรวยทางโลกแล้ว ยังรวยทางธรรม ได้หลักธรรมจากการทำเกษตรกรรมในแต่ละวัน อย่างที่ผู้ใหญ่สมศักดิ์ยกตัวอย่างการปลูกพริก แค่เรื่องเดียว ได้ทั้งเรื่องการให้ การรับ ความพอในหัวใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายคนไทยยุคนี้อย่างมาก

“ทำเรื่องนี้ไม่มีความทุกข์ เพราะมันพอดี พอต้องดีด้วยน่ะ ต้องพอดี พอดี อย่ามากจนเกินไป อย่าน้อยจนเกินไป อย่าให้คนอื่นซะตัวเองเดือดร้อน หรืออย่าเอาคนอื่นซะตัวเองเดือดร้อน ต้องพอดีๆ นั้นแหละ คือความสุข ความสุขไม่ได้อยู่ที่สตางค์ แต่ความสุขอยู่ที่ใจ ทำยังไงใจถึงจะมีความสุข ก็เจอหน้าคนยิ้ม ไม่ใช่เจอหน้าบึ้ง และทวงหนี้ อันนั้นก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเจอคนต้องยิ้ม และคนยิ้มก็ต้องมีความสุขด้วยนะ ไม่ใช่เจอหน้ายิ้ม แต่หันหลังไปไม่มีจะกิน ไม่มีความสุขแล้ว เพราะฉะนั้น ทำตนเองให้มีความสุข หลังจากนั้นค่อยมองเพื่อนบ้าง” ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ทิ้งท้าย

พร้อมกับบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เจอหนทางแห่งความร่ำรวย แต่เมื่อเจอแล้ว ต้องเริ่มต้นทำ เพราะความร่ำรวยที่ว่านี้ก็คือ ความพอเพียงในหัวใจนั่นเอง 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์