ตุ๊กๆ ไทย แปลงร่างเป็น ตุ๊กๆ ไฟฟ้า ธุรกิจสตาร์ตอัพในเนเธอร์แลนด์ ขับขี่สะดวก สะอาด

 เป็นที่น่าเสียดายว่านวัตกรรมบางอย่างคนไทยทำขึ้นแท้ๆ แต่ขาดการต่อยอดจนต่างชาติเอาไปทำต่อแล้วสร้างรายได้มากมายมหาศาล

เรื่องรถตุ๊กๆ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่คนไทยสร้างสรรค์เอาไว้ แต่ต่างชาติมาชุบมือเปิบนำไอเดียไปต่อยอดด้วยเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า กลายเป็นสินค้ายอดนิยมทั่วโลก ทั้งที่ตุ๊กๆ เป็นรถสามล้อเครื่องสัญลักษณ์ของประเทศไทยมากว่า 60 ปี และส่งออกไปขายต่างประเทศมานานพอสมควร

แต่ในการส่งออกนั้นคนไทยไม่ได้พัฒนาเครื่องยนต์ใหม่ จึงขายได้เฉพาะในประเทศโลกที่สาม อย่าง อินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว ฯลฯ ที่กฎหมายยังไม่เข้มงวดเรื่องเสียงเครื่องยนต์และการปล่อยมลพิษ

ล่าสุดนี้ ตุ๊กๆ ไทยแปลงร่างใหม่กลายเป็นรถไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมมากในยุโรปและอเมริกา

การแปลงร่างนี้เป็นธุรกิจสตาร์ตอัพในเนเธอร์แลนด์ เริ่มจากโปรเจ็กต์เล็กๆ ของเด็กนักศึกษาวิศวกรรมยานยนต์  2 คน คือ Dennis Harte กับ Marijn van der Linden เมื่อเกือบสิบปีมาแล้ว

สองวิศวกรหนุ่มหลงใหลในรูปแบบและลักษณะการขับขี่ของตุ๊กๆ มาก แรกเริ่มนั้นเขาสั่งซื้อตุ๊กๆ แบบดั้งเดิมเข้ามาลองจำหน่ายที่เนเธอร์แลนด์ แต่พบว่าเครื่องยนต์มีปัญหา สกปรกมากไม่เข้ากับมาตรฐานยุโรป แถมยังมีเสียงดังรบกวน

ก็เลยนำมาแปลงร่างใหม่ใช้เทคโนโลยีโนว์ฮาวของดัตช์หรือเนเธอร์แลนด์ เปลี่ยนระบบจากเครื่องยนต์ 2 จังหวะใช้ก๊าซซีเอ็นจี ดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ เป็นที่ฮือฮาในอัมสเตอร์ดัม

หลังจากทดลองวิ่งจนพอใจแล้ว เดนนิสถึงกับเข้ามาขอร่วมงานกับโรงงาน Tuk Tuk Factory (TTF) ที่สมุทรปราการ นำรถไฟฟ้าต้นแบบที่เขาออกแบบไว้มาสั่งผลิตที่นี่เพื่อส่งออกโดยเฉพาะ

นอกจากเปลี่ยนเครื่องยนต์ ยังปรับเปลี่ยนรูปโฉมใหม่ทั้งตัวถังและการใช้สีที่ดึงดูดความสนใจตามความเหมาะสมในแต่ละโอกาส เช่น รถตุ๊กๆ สีเหลืองสำหรับการรถไฟเนเธอร์แลนด์ สีชมพูสำหรับเทศกาลเกย์ สีฟ้าสำหรับสายการบิน KLM สีเขียวสำหรับเบียร์ Heineken เป็นต้น

แน่นอนว่า จุดเด่นของรถตุ๊กๆ ไฟฟ้า คือขับขี่สะดวก สะอาด ปลอดภัย แต่ราคาแพงขึ้นกว่าตุ๊กๆ ทั่วไปมากทีเดียว แลกกับการประหยัดค่าน้ำมันและค่าบำรุงรักษาในระยะยาว

ตอนนี้โรงงาน TTF ในไทยประกอบตุ๊กๆ ไฟฟ้าออกมาแล้ว 4 รุ่น ส่งออกไปขายที่เนเธอร์แลนด์และกลุ่มสหภาพยุโรป แต่พบว่าแบตเตอรี่ยังมีราคาค่อนข้างแพง ก้อนละ 4,000 บาท แต่ถ้าจำกัดความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง  ก็จะไม่เปลืองมาก

ทางการเนเธอร์แลนด์อนุญาตให้รถตุ๊กๆ ไฟฟ้าวิ่งบนถนนสาธารณะได้เช่นเดียวกับรถแท็กซี่ และให้ใช้พื้นที่ส่วนต่างๆ ของรถในการโฆษณาสินค้าได้

ตุ๊กๆ ไฟฟ้า 2 รุ่นแรกที่ผลิตคือ รุ่น Classico และ Limo คลาสสิโคเป็นรถโดยสารมีที่นั่งคนขับ 1 คน ด้านหลังเป็นเบาะยาวสำหรับผู้โดยสาร 2 คน ส่วนลิโมด้านหลังมีที่นั่งสองแถวให้ผู้โดยสารหันหน้าเข้าหากัน แบตเตอรี่สามารถชาร์จได้ทุกที่กับปลั๊กธรรมดา แต่ต้องใช้เวลา 12 ชั่วโมงจึงเต็มก้อน ค่าไฟเฉลี่ย 30 บาท ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

2 รุ่นหลังคือ Cargo และ Vendo เป็นตุ๊กๆ พิเศษที่สามารถตกแต่งเป็นรถขายเครื่องดื่มและดัดแปลงให้เป็นร้านขายอาหารขนาดย่อมๆ ได้

เฉพาะรุ่น Vendo นั้นใช้มอเตอร์ขนาด 72 โวลต์ สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 50 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง วิ่งได้ 70  กิโลเมตร ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง แบตเตอรี่ตัวนี้สามารถจ่ายไฟให้กับตู้เย็นที่ติดตั้งไว้ด้านหลังขณะวิ่งอยู่ได้อย่างสบาย เมื่อถึงจุดหมายแล้วสามารถเปลี่ยนแหล่งจ่ายไฟได้ด้วยการเสียบปลั๊กกับระบบไฟฟ้าหลัก เพื่อไม่ให้ตู้เย็น ปั๊มน้ำ และระบบอื่นๆ กินพลังงานในแบตเตอรี่จนหมด (นอกจากนี้ รถยังมีออฟชั่นเสริมด้วยการสั่งทำหลังคาเป็นแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มได้)

ตุ๊กๆ เวนโด้ เหมาะกับเมืองที่มีการจราจรคับคั่ง ฝาด้านข้างสามารถเปิดขึ้นมาเป็นหลังคาบังแดดสำหรับขายของได้ ส่วนด้านท้ายรถจะมีที่เก็บโต๊ะพับได้ซ่อนเอาไว้ ตอนนี้ฮิตมากต้องรอคิวในการสั่งซื้อเลย ราคาราว 24,000 ยูโร หรือประมาณ 1 ล้านบาทนิดๆ

ส่วนตุ๊กๆ ไทยแบบเดิมนั้น มือสอง ราคาราว 70,000 บาท แต่ยังต้องจ่ายค่าทะเบียนอีก รวมแล้วราวๆ 250,000-300,000 บาท

สำหรับในไทยนอกจาก TTF แล้วยังมีผู้ผลิตตุ๊กๆ ไฟฟ้าอีกหลายแห่ง เช่น Tiger Motor Company เริ่มผลิตจำหน่ายได้ในปี 2011 โดยส่งออกเป็นหลัก ต่อมาในปี 2013 โตโยต้า ทูโช อีเล็คทรอนิคส์ (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ TTET  ผลิตรถตุ๊กๆ ไฟฟ้าโดยได้รับส่งเสริมการลงทุน จุดเด่นคือสามารถสลับแบตเตอรี่กับรถอีกคันได้โดยไม่ต้องเสียเวลาในการจอดชาร์จใหม่ ทำความเร็วได้ถึง 60 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง และมีค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานหรือการชาร์จไฟไม่ถึง 1 บาท  ต่อกิโลเมตร

ส่วน Tuk Tuk USA Inc. ได้ปักธงในอเมริกาไปเป็นที่เรียบร้อย โดยได้รับอนุญาตให้เป็นยานพาหนะที่ปลอดภัยบนท้องถนนได้ ใช้เครื่องยนต์ของ Mitsubishi มีขนาดตั้งแต่ 3 ที่นั่งไปจนถึง 12 ที่นั่ง อัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ 55 ไมล์/แกลลอน มีให้เลือกหลายสีและหลายรูปแบบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแบบรถกระบะ รถขนขยะ รถขนทราย รถอเนกประสงค์ รถตรวจการณ์ หรือแชสซีส์เปล่าๆ ไว้ประกอบเอง ราคาเริ่มต้น 10,000  เหรียญ หรือ 350,000 บาท