แนะเทคนิค ทำกำไร ชมพู่นอกฤดู ขายได้ราคาดี หน้าสวนไม่ต่ำกว่า 65-70 บาท/ก.ก.

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผักผลไม้ปลอดสารพิษเพื่อส่งออกอำเภอดำเนินสะดวก…มีวิธีการ

ชมพู่เป็นผลไม้เมืองร้อน จากอินเดียที่เข้ามาเติบโตแพร่หลายในเมืองไทยนานแล้ว  ปัจจุบันต้นชมพู่ที่ปลูกในประเทศไทย จะออกดอก 2 รุ่นใหญ่  ดอกรุ่นแรกจะผลิบานช่วงเดือนธันวาคม –มกราคม  เก็บผลผลิตออกขายได้ในเดือน กุมภาพันธ์- มีนาคม ถือเป็นฤดูผลผลิตประจำปี ของ ชมพู่ที่ปลูกในเมืองไทย เนื่องจากมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก  ชมพู่มีราคาถูก   ส่วนดอกรุ่น 2 อยู่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์    เก็บผลผลิตได้ในเดือนเมษายน – พฤษภาคม

หาก เกษตรกรรรายใด อยากขายผลผลิตให้ได้ราคาแพง ต้องผลิต ชมพู่ทะวายนอกฤดู  ให้มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม หากตั้งขายผลผลิตได้ในราคาสูง ควรวางแผนให้มีผลผลิตเข้าตลาดในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม เพราะเป็นระยะที่ชมพู่ทะวายมีผลผลิตน้อย ก็จะมีโอกาสฟันกำไรก้อนโตจากขายชมพู่นอกฤดู

สำหรับเกษตรกรที่สนใจอยากผลิต ชมพู่ทะวายนอกฤดู  ขอแนะนำเทคนิคการดูแลจัดการสวนชมพู่ทะวาย ของ  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผัก ผลไม้ปลอดสารพิษเพื่อส่งออกอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรีไปทดลองใช้กัน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผัก ผลไม้ปลอดสารพิษเพื่อส่งออกอำเภอดำเนินสะดวก นิยมการผลิตชมพู่ทะวายโดยปลิดดอกชมพู่ปีทิ้ง ให้เหลือดอกชมพู่อยู่เพียงเล็กน้อย เพื่อเก็บชมพู่ปีไว้ขายตลาดนัด ให้มีรายได้หมุนเวียนใช้จ่ายตลอดปี  จากนั้นเกษตรกรจะเตรียมต้นชมพู่นอกฤดูประมาณช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม  เริ่มจากตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงต้นให้สมบูรณ์และแตกใบอ่อน เร่งใบเสร็จแล้วจะให้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดเฉลี่ยต้นละประมาณ 2-3 กิโลกรัม เพื่อให้ต้นชมพู่สะสมตาดอก ใส่ปุ๋ยสม่ำเสมอทุกๆ 15 วัน

การผลิตชมพู่นอกฤดูในระยะนี้  เจอปัญหาโรคและแมลงน้อย หากเจอฝนตกบ่อย อาจทำให้ชมพู่เกิดโรคเน่าบ้าง  ส่วนปัญหาแมลงวันทอง ก็อาศัยก็ห่อผลช่วยป้องกัน ก็ลดเปอร์เซ็นต์ความสูญเสียลงได้ โดยทำการห่อผลด้วยถุงพลาสติก เมื่อชมพูมีอายุประมาณ 2 เดือน ขนาดผลเท่ากับหัวนิ้วโป้ง โดยห่อผลประมาณ 3-5 ลูกต่อถุงพลาสติก  ไม่ควรห่อผลมากกว่านี้เพราะจะทำให้ลูกชมพู่มีขนาดผลเล็กเกินไป

หลังจากต้นชมพู่ออกดอกมา รอไปอีกประมาณ 3 เดือนก็เก็บผลผลิตออกขายได้แล้ว เทคนิคการผลิตชมพู่นอกฤดูดังกล่าว ช่วยให้เกษตรกรสามารถเก็บชมพู่ผลโต รสอร่อยออกขายได้เป็นจำนวนมาก  โดยผลผลิตเกรดเอ สามารถขายได้ในราคาหน้าสวนไม่ต่ำกว่า  65-70 บาท/ก.ก.

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์